×

บทวิเคราะห์ชี้ เมียนมาอาจกลายเป็นรัฐล้มเหลวอีกประเทศของเอเชีย มีเพียงประเทศเพื่อนบ้านที่ช่วยได้

16.04.2021
  • LOADING...
บทวิเคราะห์ชี้ เมียนมาอาจกลายเป็นรัฐล้มเหลวอีกประเทศของเอเชีย มีเพียงประเทศเพื่อนบ้านที่ช่วยได้

The Economist ของอังกฤษ เผยแพร่บทความวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์ในเมียนมาว่า อาจกำลังก้าวไปสู่การเป็นรัฐล้มเหลว หรือ Failed State ประเทศถัดไปของเอเชีย ซึ่งทางออกของวิกฤตนี้มีเพียงประเทศเพื่อนบ้านเท่านั้นที่ช่วยได้

 

เนื้อหาบทความชี้ให้เห็นว่า นับตั้งแต่เกิดการรัฐประหารยึดอำนาจรัฐบาลพลเรือน โดยกองทัพเมียนมา ตั้งแต่วันที่ 1 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา สิ่งเดียวที่เกิดขึ้นคือ ความโกลาหลครั้งใหญ่จากการประท้วงต่อต้านกองทัพที่เกิดขึ้นทั่วประเทศ ถึงแม้สถานการณ์ชุมนุมจะลดลง นับตั้งแต่กองทัพเมียนมาตัดสินใจเริ่มยิงกระสุนจริงใส่กลุ่มผู้ชุมนุมไร้อาวุธ 

 

ขณะที่ทหารออกปราบปรามประชาชนในเขตที่มีการชุมนุม ทั้งทำร้ายทุบตีและสังหารประชาชนแบบสุ่ม และมีรายงานข่าวด้านลบ ทั้งการเรียกรับเงิน 120,000 จ๊าต หรือประมาณ 2,600 บาท จากครอบครัวผู้เสียชีวิต เพื่อแลกกับการเอาศพกลับไปประกอบพิธี 

 

การหยุดงานประท้วงยังส่งผลให้เศรษฐกิจของเมียนมาเป็นอัมพาต บริการสาธารณะส่วนใหญ่ปิดทำการ ร้านค้าและธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับกองทัพถูกประชาชนที่ไม่พอใจเผาทำลาย ส่วนพื้นที่ชายแดน กองกำลังชนกลุ่มน้อยบางกลุ่มจากทั้งหมดกว่า 20 กลุ่มใช้ประโยชน์จากวิกฤต บุกเข้ายึดฐานที่มั่นกองทัพและอาวุธ ก่อนถูกกองทัพเมียนมาส่งเครื่องบินรบทิ้งระเบิดตอบโต้ จนชาวบ้านในพื้นที่ต้องหนีตายข้ามชายแดนไปยังประเทศเพื่อนบ้านรวมถึงไทย

 

The Economist ระบุว่า ภาวะสุญญากาศทางการเมืองกำลังก่อตัวขึ้นในเมียนมา และจะส่งผลให้เมียนมาตกอยู่ท่ามกลางความรุนแรงและความทุกข์ทรมาน แม้จะยังไม่ถึงขั้นเป็นดินแดนไร้กฎหมายอย่างอัฟกานิสถานก็ตาม แต่ก็กำลังมุ่งหน้าไปในทิศทางเดียวกันอย่างรวดเร็ว ซึ่งสัญญาณเตือนเดียวที่บอกได้คือ ความยากลำบากในการทำให้ประเทศกลับมารวมกันเป็นหนึ่งเดียว

 

ซากปรักหักพังจากวิกฤตการเมืองของเมียนมา ไม่เพียงก่อภัยพิบัติและความยากลำบากแก่ประชากรทั้งหมดราว 54 ล้านคน แต่ยังสร้างความเสี่ยงที่อาจส่งผลกระทบไปยังประเทศเพื่อนบ้านอื่นๆ ในภูมิภาคด้วย

 

หนึ่งในผลกระทบที่เกิดขึ้น คือ ‘ยาเสพติด’ โดยเฉพาะเฮโรอีนและยาไอซ์ ซึ่งมีการผลิตจำนวนมากในพื้นที่ของกองกำลังชนกลุ่มน้อย โดยอาจส่งออกไปยังเพื่อนบ้านมากขึ้น 

 

นอกจากนี้ ยังมีผู้ลี้ภัยจำนวนมากที่อพยพหนีการสู้รบระหว่างกองทัพกับชนกลุ่มน้อยข้ามชายแดนเข้าสู่ประเทศเพื่อนบ้าน โดยเฉพาะไทยที่มีการตั้งค่ายพักพิง รองรับผู้ลี้ภัยบริเวณชายแดนแล้วถึง 9 แห่ง 

 

ซึ่งที่ผ่านมายังมีปัญหาชาวโรฮีนจาที่อพยพหนีข้ามชายแดนไปยังบังกลาเทศ ขณะที่ปัญหาใหม่คือโรคระบาดอย่างโควิด-19 ที่ทำให้จีนต้องปิดชายแดนติดกับเมียนมา ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นผลกระทบที่กำลังเลวร้ายลง 

 

บทความนี้ยังชี้ให้เห็นสิ่งที่น่ากังวลมากที่สุดคือ การที่กองทัพกดดันให้กลุ่มผู้ประท้วงยอมจำนน ทั้งการขู่และเตือนจะยิงที่ศีรษะและหลังของผู้ประท้วง ซึ่งมีหลายคนถูกยิง และยอดผู้เสียชีวิต ณ วันที่ 16 เมษายน พุ่งสูงกว่า 700 คน 

 

ที่ผ่านมา ผู้ประท้วงจำนวนมากต่างใช้อาวุธทำเองต่อสู้กับทหาร หลายคนเข้าร่วมการฝึกสู้รบกับกองกำลังชนกลุ่มน้อยในพื้นที่ชายแดน ซึ่งองค์ประกอบของสถานการณ์ที่กำลังเดินหน้านี้ ทำให้เกิดความหวั่นวิตกว่า อาจมีการนองเลือดอีกมากเกิดขึ้นในเมียนมา

 

ด้านกลุ่ม ส.ส. รัฐบาลพลเรือนที่หลบหนีการจับกุมไปได้ มีข้อมูลว่ากำลังหารือเรื่องการจัดตั้งกองทัพรัฐบาลกลางเพื่อต่อต้านการรัฐประหาร โดยคาดเดาได้ว่า อาจมีกองกำลังชนกลุ่มน้อยหลายกลุ่มเข้าร่วมด้วย และหากแนวทางนี้เกิดขึ้น อาจมีกำลังทหารมากถึง 20,000 นาย พร้อมอาวุธหนักทั้งปืนใหญ่ ขีปนาวุธต่อต้านอากาศยาน และรถหุ้มเกราะ 

 

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้จะมีการรวบรวมกำลังพลจากกองกำลังชนกลุ่มน้อย แต่ก็ไม่น่าเป็นไปได้ที่จะสามารถโค่นล้มกองทัพเมียนมาหรือยกเลิกการรัฐประหารที่เกิดขึ้นได้ เช่นเดียวกับฝ่ายกองทัพเมียนมา ที่ไม่อาจกำจัดกองกำลังชนกลุ่มน้อยได้ หลังจากที่พยายามมานานหลายทศวรรษ 

 

ก่อนการรัฐประหารนั้น ธนาคารโลก (World Bank) ได้ประมาณการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจเมียนมาในปีนี้ไว้ที่ประมาณเกือบ 6% แต่วิกฤตที่เกิดขึ้นทำให้ตอนนี้คาดว่าเศรษฐกิจเมียนมาอาจหดตัวกว่า 10% และบางหน่วยงานคาดการณ์ว่าอาจติดลบถึง 20%

 

สำหรับโอกาสที่เมียนมาจะหลีกเลี่ยงความเสี่ยงในการก้าวสู่การเป็นรัฐล้มเหลวนั้น บทความชี้ว่า เหล่าเพื่อนบ้านของเมียนมา รวมถึงไทย จีน และประเทศในอาเซียน ต้องมีความกล้าและดำเนินการในแนวทางที่เป็นประโยชน์มากขึ้น และไม่ควรมีประเทศใดยอมรับการรัฐประหาร อีกทั้งยังควรคว่ำบาตรผู้นำกองทัพเมียนมาด้วย 

 

โดยอาเซียนนั้นควรระงับสมาชิกภาพของเมียนมา ห้ามการจัดส่งอาวุธ และนานาประเทศควรเพิ่มความกดดันต่อกองทัพเมียนมา เพื่อให้ปล่อยตัวนักโทษการเมือง รวมถึง ออง ซาน ซูจี ผู้นำรัฐบาลพลเรือน และพรรค NLD และควรเริ่มพูดคุยกับรัฐบาลเงาที่ปฏิบัติการอยู่ใกล้ชายแดนไทย

 

ส่วนรัฐบาลไทยนั้นควรมองข้ามช่องทางไม่เป็นทางการในการสนับสนุนเงิน ข้าวของ และเสบียงต่างๆ แก่ฝ่ายต่อต้านกองทัพเมียนมา ซึ่งแรงกดดันเหล่านี้อาจทำให้ผู้นำกองทัพเมียนมา เช่น พลเอกอาวุโส มิน อ่อง หล่าย ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ยอมหันมาพูดคุยกับประชาชน ก่อนที่เมียนมาจะกลายเป็นรัฐล้มเหลว

 

ภาพ: STR / AFP

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising