หลายประเทศทยอยฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้ประชาชนในวงกว้างแล้ว ทำให้เห็นภาพที่ชัดเจนขึ้นเกี่ยวกับประสิทธิภาพของวัคซีนโดยรวมเมื่อมีการใช้งานจริง ซึ่งสองเคสที่น่าศึกษามากที่สุดในเวลานี้หนีไม่พ้นกรณีศึกษาของอิสราเอลและชิลี ซึ่งต่างมีความโดดเด่นในแง่ของการเดินหน้าโครงการฉีดวัคซีนโควิด-19 ให้แก่ประชาชน โดยมีอัตราการฉีดวัคซีนให้ประชาชนที่สูงทั้งคู่ แต่กลับมีผลลัพธ์ที่แตกต่างกันอย่างมากในแง่ของการควบคุมโรค
หากดูจากเคสการติดเชื้อแล้วพบว่าอิสราเอลสามารถควบคุมโรคได้ดีมาก และกำลังจะอนุญาตให้กลับมาดำเนินกิจกรรมต่างๆ ในประเทศได้อีกครั้ง เช่น การบรรยายในมหาวิทยาลัย การเล่นคอนเสิร์ต และการชุมนุมขนาดใหญ่อื่นๆ รวมถึงการเปิดร้านอาหารและบาร์ ในทางตรงกันข้าม ชิลีกลับกำลังประสบปัญหาผู้ป่วยโควิด-19 พุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ และต้องเผชิญกับข้อจำกัดต่างๆ จากมาตรการล็อกดาวน์รอบใหม่
ขณะที่ในสหราชอาณาจักรนั้นพบว่า จำนวนผู้เสียชีวิตและเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลลดลง แต่คงต้องรอดูก่อนว่าจะเกิดอะไรขึ้นเมื่ออังกฤษเริ่มผ่อนคลายข้อจำกัดจากการล็อกดาวน์ในวันที่ 12 เมษายน (สกอตแลนด์ เวลส์ และไอร์แลนด์เหนือต่างมีกำหนดเวลาในการผ่อนคลายข้อจำกัดของตนเอง) สหราชอาณาจักรจะเจริญรอยตามชิลีด้วยการกลับไปสู่จุดที่เลวร้ายของการแพร่ระบาดอีกรอบ หรือจะประสบความสำเร็จในการควบคุมยอดผู้ติดเชื้อเช่นเดียวกับที่อิสราเอลทำได้มาแล้ว
แม้แนวทางการต่อสู้กับโควิด-19 ของหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ฝรั่งเศส และเยอรมนี สามารถใช้เป็นบทเรียนสำคัญให้กับสหราชอาณาจักรและประเทศอื่นๆ รวมถึงไทยเช่นกัน แต่บทเรียนจากชิลีให้ภาพเตือนที่ชัดเจนที่สุด
ทั้งนี้ บุคลากรทางการแพทย์และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขของชิลีได้ฉีดวัคซีนเข็มแรกให้ประชาชนแล้ว คิดเป็น 37% ของประชากร แต่จำนวนผู้ป่วยใหม่รายวันกลับยังคงเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งหลายฝ่ายได้หยิบยกสาเหตุที่ทำให้จำนวนผู้ติดเชื้อกลับมาพุ่งสูงขึ้นอย่างไม่คาดคิด ซึ่งได้แก่ การแพร่กระจายของไวรัสกลายพันธุ์ที่รุนแรงมากขึ้นจากบราซิล การที่ชาวชิลีจำนวนมากขึ้นเดินทางไปทั่วประเทศ และความหย่อนยานในการปฏิบัติตามมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม เนื่องจากโครงการฉีดวัคซีนทำให้ผู้คนรู้สึกปลอดภัย
โดยเฉพาะประเด็นสุดท้ายนั้น ศาสตราจารย์ลอว์เรนซ์ ยัง นักไวรัสวิทยาจากโรงเรียนแพทย์วอริก กล่าวแสดงความเห็นว่า “ผมคิดว่าชิลีแสดงให้เห็นถึงอันตรายของการพึ่งพาวัคซีนมากเกินไป วัคซีนนั้นยอดเยี่ยม แต่มันไม่สามารถแก้ปัญหาได้เอง และสิ่งที่เกิดขึ้นในชิลีทำให้เราได้รับคำเตือนที่ชัดเจนมาก”
ด้านศาสตราจารย์สตีเฟน กริฟฟิน จากคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยลีดส์ แสดงความเห็นในทำนองเดียวกัน โดยระบุว่า “คุณยังคงต้องควบคุมการติดเชื้อในระหว่างที่คุณฉีดวัคซีน ถ้าคุณไม่ทำ คุณก็จะยังคงวนเวียนอยู่กับปัญหา”
ในขณะที่ชิลีแสดงให้เห็นถึงความประมาท ชะล่าใจในการป้องกันโรคอย่างต่อเนื่อง ในทางตรงกันข้าม อิสราเอลแสดงให้เห็นถึงความจำเป็นในการวางแผนและการเตรียมพร้อมอย่างต่อเนื่อง โดยนับตั้งแต่ที่โครงการฉีดวัคซีนทั่วประเทศเริ่มต้นขึ้น อิสราเอลก็ได้ริเริ่มมาตรการต่างๆ เพื่อไม่ให้ความพยายามของประเทศในการต่อสู้กับโควิด-19 ที่คืบหน้าไปมากแล้วนั้นต้องสูญเปล่า
มาตรการเหล่านี้รวมถึงการให้กรีนพาส (Green Pass) แก่ผู้ที่ได้รับวัคซีนครบทั้งสองโดส หรือหายจากอาการป่วยแล้ว อย่างไรก็ตาม แผนการดังกล่าวยังคงเป็นที่ถกเถียง และหลายคนคัดค้านการบังคับใช้
“อย่างไรก็ตาม สำหรับมหาวิทยาลัย มาตรการดังกล่าวเป็นเรื่องดีเพราะช่วยให้นักศึกษากลับมาเข้าห้องเรียนเพื่อฟังการบรรยายจากนักวิชาการในแบบเผชิญหน้าได้” ลินดา โบลด์ ศาสตราจารย์ด้านสาธารณสุขของมหาวิทยาลัยเอดินบะระกล่าว “นี่เป็นมาตรการที่เราต้องหารือในตอนนี้ เพื่อให้มั่นใจได้ว่าเราจะกลับมาเปิดประเทศได้อย่างปลอดภัยในช่วงฤดูร้อน”
นอกจากนี้ ศ.โบลด์ ยังชูมาตรการของอิสราเอลอีกสองมาตรการด้วย ได้แก่ การทดสอบแอนติบอดี ซึ่งจะแสดงให้เห็นว่าบุคคลนั้นมีแอนติบอดีโควิด-19 จากวัคซีนหรือจากการติดเชื้อก่อนหน้านี้หรือไม่ และการอนุญาตให้นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าอิสราเอลไม่ต้องกักตัว ในขณะเดียวกัน หน่วยงานสาธารณสุขกำลังพิจารณาให้วัคซีนแก่เด็กโต โดยอยู่ระหว่างรอการอนุมัติจากหน่วยงานกำกับดูแล ซึ่งมาตรการเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าอิสราเอลกำลังวางแผนไปไกลมากเพียงใด
ขณะเดียวกัน นักวิทยาศาสตร์คนอื่นๆ ยกตัวอย่างของออสเตรเลียและนิวซีแลนด์ โดยออสเตรเลียนั้นมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นจำนวนไม่มากทั้งที่เพิ่งเปิดตัวโครงการฉีดวัคซีนเพียงเมื่อไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา เนื่องจากการปิดพรมแดนอย่างรวดเร็วเมื่อปีที่แล้ว และระบบกักตัวในโรงแรมที่มีการจัดการอย่างระมัดระวัง ซึ่งช่วยลดการแพร่กระจายของโควิด-19 ได้เป็นอย่างดี
ในทางตรงกันข้าม ระบบการทดสอบ การติดตาม และการกักตัวของสหราชอาณาจักรยังคงง่อนแง่น และไม่ได้รับการพิสูจน์ ทั้งที่ระบบดังกล่าวจะมีความสำคัญอย่างยิ่งในการสกัดการแพร่ระบาดใหม่เมื่อสหราชอาณาจักรยกเลิกข้อจำกัดและการล็อกดาวน์ “พูดง่ายๆ ก็คือ เราไม่ได้เรียนรู้ว่าการคัดแยกผู้ติดเชื้อยังคงมีความสำคัญเพียงใด” กริฟฟินกล่าว
สำหรับประเด็นการฉีดวัคซีน ยังมีปัญหาในเรื่องของการกระจายวัคซีนด้วย เพราะหากการฉีดวัคซีนไม่ครอบคลุมทั่วถึงประชากรทั่วโลก โควิด-19 ก็จะยังคงเป็นภัยคุกคามของชาวโลก ดังนั้นหลายประเทศจึงยังคงต้องแสดงบทบาทในการจัดหาวัคซีนให้แก่ทั่วโลก
นักวิทยาศาสตร์ประมาณการว่าจะต้องใช้วัคซีนมากกว่า 1 หมื่นล้านโดส เพื่อฉีดวัคซีนเป็นสองเท่าให้แก่ 70% ของประชากรโลก อย่างไรก็ตาม ตัวเลขล่าสุดแสดงให้เห็นว่าประเทศร่ำรวย ซึ่งคิดเป็น 1 ใน 5 ของประชากรโลก กว้านซื้อวัคซีนไปแล้ว 6 พันล้านโดส ในขณะที่ประเทศยากจนและประเทศกำลังพัฒนาที่เหลือ ซึ่งคิดเป็น 4 ใน 5 ของประชากรโลก ได้รับวัคซีนเพียง 2.6 พันล้านโดสเท่านั้น
ท่ามกลางความไม่สมดุลของการฉีดวัคซีน อินเดียและแอฟริกาใต้ได้ขอให้องค์การการค้าโลกระงับการให้สิทธิ์ในสิทธิบัตรเกี่ยวกับเทคนิค วัคซีน และยาโควิด-19 เพื่อช่วยให้ทั้งสองประเทศสามารถผลิตยาหรือวัคซีนของตนเองเพื่อรับมือกับการแพร่ระบาด ซึ่งขณะนี้ข้อเสนอดังกล่าวได้รับการสนับสนุนจากกว่า 100 ประเทศ
“เราไม่สามารถปล่อยให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอยเหมือนสมัยที่เกิดโรคเอดส์ใหม่ๆ เมื่อประเทศที่ร่ำรวยกลับมามีสุขภาพที่ดี ในขณะที่ผู้คนหลายล้านคนในประเทศกำลังพัฒนาถูกทิ้งไว้ข้างหลัง” วินนี เบียนยิมา ผู้อำนวยการใหญ่โครงการโรคเอดส์แห่งสหประชาชาติ (UNAIDS) กล่าวในวารสาร Nature เมื่อเร็วๆ นี้
ประเด็นนี้ได้รับการสนับสนุนจาก โดโรธี เกร์เรโร หัวหน้าฝ่ายนโยบายของ Global Justice Now ซึ่งเป็นองค์กรพัฒนาเอกชนที่รณรงค์เรื่องการเข้าถึงวัคซีนอย่างเท่าเทียมกัน เธอกล่าวหาว่าประเทศร่ำรวยกักตุนวัคซีน แต่ “มีวิธีหนึ่งที่รวดเร็วและแน่นอนในการเพิ่มการฉีดวัคซีนทั่วโลก นั่นคือการยกเว้นสิทธิบัตรเกี่ยวกับวัคซีนโควิด-19 และปล่อยให้ประเทศต่างๆ สามารถผลิตวัคซีนได้เอง”
อย่างไรก็ตาม สหภาพยุโรป สหราชอาณาจักร และชาติตะวันตกอื่นๆ รวมถึงบริษัทยารายใหญ่ โต้แย้งว่าการระงับสิทธิบัตรจะไม่ช่วยแก้ปัญหานี้ เพราะการผลิตวัคซีนนั้นเกี่ยวข้องกับกระบวนการที่ต้องอาศัยความระมัดระวังและมีการควบคุมคุณภาพ แต่ขณะเดียวกัน การเจรจาเพื่อกระจายสิทธิ์ในสิทธิบัตรที่เกี่ยวข้องกับโควิด-19 จะใช้เวลานานเกินไป ดังนั้นจึงอาจเป็นการดีกว่า หากสามารถเพิ่มการผลิตวัคซีนสู่ระดับสูงสุดแล้วแจกจ่ายให้ทั่วถึง
แม้บรรดานักวิทยาศาสตร์จะเน้นย้ำว่าโลกจะไม่ปลอดภัยจากโควิด-19 จนกว่าจะมีการสร้างภูมิคุ้มกันทั่วโลก ตามคำกล่าวที่ว่า “ไม่มีใครปลอดภัยจนกว่าทุกคนจะปลอดภัย” อย่างไรก็ตาม การบรรลุเป้าหมายดังกล่าวอาจใช้เวลาอีกหลายปี
ภาพ: Marcelo Hernandez / Getty Images
อ้างอิง: