วันนี้ (9 เมษายน) นพ.เฉลิม หาญพาณิชย์ นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน เปิดเผยถึงกรณีที่โรงพยาบาลเอกชนหลายแห่งประกาศไม่รับตรวจโควิด-19 เนื่องจากมีเตียงไม่เพียงพอว่า ตามปกติหากโรงพยาบาลไหนรับตรวจโควิด-19 เรามีข้อตกลงว่าโรงพยาบาลที่รับตรวจจะต้องรับคนไข้ที่มาตรวจไว้ แต่ขณะนี้มีผู้ติดเชื้อหลายร้อยคนต่อวันทำให้เตียงเต็ม
นพ.เฉลิม กล่าวด้วยว่า ได้นำเรื่องมาปรึกษากับ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) ซึ่งทางกรุงเทพมหานครและกองทัพบกก็จะเปิดโรงพยาบาลสนาม โดยในช่วงบ่ายทั้งสองหน่วยงานจะประชุมร่วมกัน นอกจากนี้โรงพยาบาลสนามของโรงพยาบาลธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต จำนวน 470 เตียง ก็จะเปิดรับในวันอาทิตย์ที่ 11 เมษายนนี้ หากกองทัพบก กองทัพเรือ และกรุงเทพมหานครเข้ามาช่วยก็จะได้ประมาณ 3,000 เตียง น่าจะมีจำนวนที่เพียงพอ เพราะส่วนใหญ่ผู้ติดเชื้อยังอยู่ในกรุงเทพมหานคร
ส่วนกรณีที่โรงพยาบาลเอกชนไม่รับตรวจเชื้อโควิด-19 ทำให้ประชาชนมองภาพรวมว่าสถานการณ์วิกฤตแล้วใช่หรือไม่ นพ.เฉลิม กล่าวว่า ยอมรับว่าการระบาดในช่วงนี้อันตราย มีอัตราการติดเชื้อสูง เพราะเป็นเชื้อสายพันธุ์อังกฤษ ถ้าเป็นไปอย่างนี้และมีการจัดการเรื่องเตียงได้ไม่ดี คนไข้อาจจะต้องกักตัวอยู่ที่บ้าน ซึ่งก็ไม่ดี เพราะอาจจะทำให้ติดคนที่บ้านได้ ขณะนี้คนที่ติดอาจจะเป็นคนที่แข็งแรง และอาจจะเป็นซูเปอร์สเปรดเดอร์หากไม่กักตัวให้ดี
นพ.เฉลิม กล่าวต่อไปว่า ประเด็นหลักคือ โรงพยาบาลไม่มีเตียงผู้ป่วยรองรับกรณีหากตรวจแล้วพบเชื้อ ไม่ใช่เรื่องการขาดแคลนน้ำยาตรวจเชื้อ เท่าที่ทราบทั้งโรงพยาบาลรัฐและเอกชนขณะนี้มีการตรวจวันละเกือบ 20,000 คน
ส่วนคำถามที่ว่า ปัญหาที่ไม่รับผู้ติดเชื้อโควิด-19 เกี่ยวกับเรื่องการเบิกจ่ายงบประมาณของรัฐที่จะนำไปรักษาใช่หรือไม่ นพ.เฉลิม กล่าวว่า ข้อตกลงเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2563 เรื่องนี้ไม่ใช่ประเด็น แต่ประเด็นคือติดเชื้อเยอะมากกว่า 10% ในบางพื้นที่ ถือว่าสูงมากและไม่มีเตียงรองรับ ถ้าหากหยุดการบริการเตียงก็จะโล่งแล้วค่อยมาเปิดใหม่
นพ.เฉลิม ยังได้กล่าวถึงแผนการจัดหาวัคซีนว่า โรงพยาบาลเอกชนเห็นตรงกันว่า อยากให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ขึ้นทะเบียนวัคซีนให้มากขึ้น และนำเข้ามาเพื่อขายให้กับเอกชน เพราะขณะนี้เรายังขาดแคลนวัคซีน โดยวัคซีนที่เข้ามาขณะนี้มีวัคซีนจากบริษัท AstraZeneca 61 ล้านโดส และบริษัท Sinovac อีก 2 ล้านโดส เพื่อฉีดให้ประชาชนได้ 31 ล้านคน แต่ทั้งหมดต้องฉีดประมาณ 40 ล้านคน โดยวัคซีนทางเลือก ทางองค์การเภสัชกรรมสามารถนำเข้ามาได้ง่ายที่สุด เพราะผู้ผลิตจะขายตรงให้กับรัฐบาลได้มากกว่าเอกชน
พิสูจน์อักษร: ชฎานิสภ์ นุ้ยฉิม