×

ล่าล้านชื่อล้มระบอบประยุทธ์ ล้ม ส.ว.-โละศาลรัฐธรรมนูญ-เลิกยุทธศาสตร์ชาติ-ล้างมรดกคณะรัฐประหาร

โดย THE STANDARD TEAM
07.04.2021
  • LOADING...
ล่าล้านชื่อล้มระบอบประยุทธ์ ล้ม ส.ว.-โละศาลรัฐธรรมนูญ-เลิกยุทธศาสตร์ชาติ-ล้างมรดกคณะรัฐประหาร

วันนี้ (6 เมษายน) ที่ห้องบรรยาย LT1 คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ กลุ่ม Resolution ภายใต้ความร่วมมือระหว่างองค์กรต่างๆ ทั้งคณะก้าวหน้า, พรรคก้าวไกล, กลุ่ม iLaw, และกลุ่มรัฐธรรมนูญก้าวหน้า (Conlab) ร่วมจัดงานเสวนาและกิจกรรม ‘ขอคนละชื่อรื้อระบอบประยุทธ์’ เปิดฉากการรณรงค์ล่ารายชื่อประชาชน เสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ยกเลิกสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) เปลี่ยนแปลงที่มาขององค์กรอิสระ และยกเลิกแผนยุทธศาสตร์ชาติ

 

ในงานเสวนามีการอภิปรายโดยวิทยากรหลายราย ประกอบด้วย ประจักษ์ ก้องกีรติ อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, สฤณี อาชวานันทกุล นักเขียนและนักวิจัยอิสระ, พริษฐ์ วัชรสินธุ ตัวแทนจากกลุ่ม Conlab และ ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า ร่วมกันเปิดแง่มุมปัญหาต่างๆ ที่ระบอบประยุทธ์ได้สร้างขึ้น และเหตุผลที่ต้องแก้รัฐธรรมนูญฉบับนี้

 

 

ประจักษ์ชี้ ‘ระบอบประยุทธ์’ คือระบอบของ ‘ขุนศึก-ศักดินา-พ่อค้า’ กอบโกยผลประโยชน์โดยประชาชนเป็นผู้จ่าย

 

ประจักษ์ระบุว่า ระบอบประยุทธ์คือรัฐทหารบวกทุนนิยมแบบช่วงชั้น มีลักษณะสองด้านคือ ด้านหนึ่งเป็นระบอบที่ให้อำนาจกับทหารมาก เอาทหารเข้ามาแทรกแซงการเมืองและควบคุมสังคม อีกด้านหนึ่งคือการใช้อำนาจรัฐเพื่อเอื้อผลประโยชน์ให้กลุ่มทุนจำนวนหนึ่งเข้ามาแสวงหาผลประโยชน์ได้อย่างเป็นทางการ

 

ในรอบ 7 ปีที่ผ่านมา ระบอบประยุทธ์ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงสองด้าน ประกอบด้วย ด้านที่เข้ามาจัดระเบียบรัฐและสังคมใหม่ และด้านที่เข้ามาจัดความสัมพันธ์ระหว่างรัฐกับกลุ่มทุนใหม่ สังคมไทยวันนี้เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง พูดให้ถึงที่สุด มันคือระบอบคณาธิปไตยของชนชั้นนำ โดยชนชั้นนำเพื่อชนนั้นนำ 1% บนยอดพีระมิดของสังคม

 

ระบอบประยุทธ์ไม่เท่ากับตัว พล.อ. ประยุทธ์ การนำประเทศไทยกลับสู่ภาวะปกติจึงไม่ใช่แค่การไล่ พล.อ. ประยุทธ์ ออกไป แต่ต้องรวมถึงเครือข่ายผลประโยชน์มหาศาลที่แวดล้อมรัฐบาลประยุทธ์ และเครือข่ายอำนาจที่ใช้ พล.อ. ประยุทธ์ เป็นเครื่องมือด้วย การไล่ พล.อ. ประยุทธ์ อย่างเดียวจึงไม่จบ ไม่มี พล.อ. ประยุทธ์ ก็จะมีคนอื่นเข้ามาใช้อำนาจเพื่อรักษาเครือข่ายผลประโยชน์และอำนาจเช่นนี้ต่อไป

 

ประจักษ์กล่าวย้อนไปถึงจุดเริ่มต้นของระบอบประยุทธ์ ซึ่งเริ่มมาจากการรัฐประหารปี 2557 โดยระบุว่า แม้คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะอ้างความชอบธรรม บอกว่าตัวเองรักชาติ ต้องการปกป้องสถาบันฯ ประเทศมีความขัดแย้ง แต่สิ่งเหล่านั้นเป็นเพียงข้ออ้างเพื่อให้ความชอบธรรมกับการยึดอำนาจเท่านั้น

 

การยึดอำนาจครั้งนี้ผ่านการวางแผนมาอย่างดี ใช้กลไกหลายอย่างในการเข้ามาควบคุมสังคม ทำให้ตัวเองอยู่ในอำนาจได้ยาว สิ่งที่การรัฐประหารปี 2557 ทำคือการเข้ามาควบคุมทั้งการเมืองและสังคมด้วย ไม่เหมือนกับปี 2549 การรัฐประหารครั้งนี้มีการเรียกนักการเมืองที่เป็นเป้าหมาย รวมทั้งนักวิชาการ สื่อมวลชน นักพัฒนาเอกชน (NGOs) แกนนำประชาชน มาปรับทัศนคติ เข้าข่มขู่คุกคามชาวบ้านในต่างจังหวัด ควบคุมสังคมทั้งหมดให้อยู่ในอำนาจของกองทัพ แล้วยังแต่งตั้งทหารเข้าควบคุมคณะรัฐมนตรีในหลายกระทรวงที่ไม่ใช่ความเชี่ยวชาญเฉพาะของทหาร

 

จากนั้นจึงสร้างสิ่งที่เรียกว่าแม่น้ำห้าสายขึ้นมา ไม่มีฝ่ายค้านในสภา แม่น้ำทั้งห้าสายมาจากการแต่งตั้งโดย คสช. ทั้งหมด เต็มไปด้วยทหาร ตำรวจ ข้าราชการ แค่สามกลุ่มคิดเป็น 89% เป็นสภาของข้าราชการโดยแท้ และเมื่อเรามาดู ส.ว. ชุดปัจจุบัน จะเห็นได้ว่ามาจากแม่น้ำห้าสายนั่นเอง ไหลรวมมาเป็นแม่น้ำที่ชื่อว่า ส.ว.

 

ประจักษ์กล่าวต่อไปว่า สิ่งที่เป็นลักษณะสำคัญอีกอย่างของระบอบประยุทธ์คือการบิดเบือนกลไกประชาธิปไตยเพื่อนำมารักษาระบอบเผด็จการ กลไกที่ดีทั้งหลายซึ่งประเทศประชาธิปไตยนำมาใช้เพื่อการมีส่วนร่วมของประชาชน เช่น ประชามติ กฎหมายว่าด้วยข้อมูลข่าวสาร ว่าด้วยการชุมนุม การเลือกตั้ง รัฐธรรมนูญ ระบอบประยุทธ์นำมาบิดเบือนให้ไม่สามารถสะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชนได้ แล้วนำกลไกเหล่านี้มาสืบทอดอำนาจของคณะรัฐประหารเอง

 

รัฐธรรมนูญ 2560 ไม่ได้ร่างมาเพื่อนำสังคมไทยกลับสู่ประชาธิปไตย แต่เพื่อค้ำจุนระบอบประยุทธ์ กลไกเหล่านี้มีทั้งหมด 6 ด้าน คือ 1. ส.ว. จากการแต่งตั้ง 2. การที่นายกรัฐมนตรีไม่ต้องมาจากการเลือกตั้ง 3. ระบบเลือกตั้งปันส่วนผสม 4. ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระที่มีอำนาจสูงมากและตรวจสอบไม่ได้ 5. การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่ทำได้ยากมาก และ 6. ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

 

รัฐธรรมนูญ 2560 ทำลายประชาธิปไตยให้แคระแกร็น ให้อำนาจคนส่วนน้อยที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งมีอำนาจเหนือสถาบันที่เป็นตัวแทนของประชาชน ทำลายพรรคการเมืองให้อ่อนแอ และลดทอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน

 

นอกจากนี้สิ่งที่ระบอบประยุทธ์สร้างขึ้นมาคือความสัมพันธ์กับทุนผูกขาดขนาดใหญ่ผ่านโครงการประชารัฐ นี่คือสิ่งที่เรียกว่าทุนนิยมแบบช่วงชั้น ด้านที่เอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนลอกเลียนมาจากการพัฒนาแบบจีนและลาตินอเมริกา โดยรัฐเอื้อประโยชน์ให้กลุ่มทุนขนาดใหญ่ไม่กี่กลุ่มเข้ามาคุมระบบเศรษฐกิจได้ จนเกิดอำนาจที่ไม่สมดุล ทำลายการแข่งขัน

 

ในช่วง 7 ปีนี้ทุนเล็กล้มละลายหายไปเยอะมาก แนวนโยบายและยุทธศาสตร์การพัฒนามุ่งไปที่การเปิดให้ทุนใหญ่ได้เข้ามาใช้ประโยชน์จากทรัพยากรของรัฐได้อย่างเป็นทางการ กลุ่มทุนผูกขาดเหล่านี้เข้ามาเป็นสมาชิกของคณะกรรมการสานพลังประชารัฐชุดต่างๆ ร่วมกับข้าราชการ และยังเป็นกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีด้วย กลุ่มทุนเหล่านี้ยังอยู่ในเครือข่ายมูลนิธิป่ารอยต่อ โดยเฉพาะกลุ่มทุนพลังงานที่มีบทบาทมาก

 

ระบอบประยุทธ์มีความสำคัญอีกด้าน คือการรื้อฟื้นรัฐราชการ เกิดการฟื้นอำนาจให้กับระบบราชการอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน เป็นยุคแห่งการรวมศูนย์กลับมาที่ส่วนกลาง จนผ่านมา 7 ปีเราถึงมีการเลือกตั้งท้องถิ่น ระบอบนี้กีดกันประชาชนออกจากการมีส่วนร่วมทางการเมือง มองประชาชนเหมือนทหารที่ต้องรับคำสั่งจากตัวเอง วัฒนธรรมข้าราชการและทหารเป็นใหญ่ ใช้ความรุนแรงและกำลังเป็นเครื่องมือสร้างความกลัว

 

“ระบอบประยุทธ์คือระบอบเผด็จการที่ไม่ยอมปล่อยอำนาจ คือระบอบเผด็จการเพื่อกลุ่มทุนและชนชั้นสูง ผมเรียกระบอบนี้ว่า ‘ขุนศึก ศักดินา พ่อค้า’ ระบอบนี้เกิดขึ้น ดำรงอยู่ และเป็นไปเพื่อตอบสนองผลประโยชน์ของคนที่มีอำนาจมากที่สุด มั่งคั่งมากที่สุด มีเกียรติยศมากที่สุด 1% ของสังคม แต่คนที่จ่ายราคาคือพวกเราทั้งหลาย 99% ที่ไร้อำนาจ เส้นสาย และความมั่งคั่ง… วันนี้คือจุดนับหนึ่งของการที่เราจะมาร่วมกันรื้อถอน ไม่ใช่แค่เพียง พล.อ. ประยุทธ์ แต่รื้อถอนเงื่อนไขที่ทำให้ระบอบคณาธิปไตยของชนชั้นนำที่ฉ้อฉลเชิงอำนาจ ตรวจสอบไม่ได้ ไม่ยึดโยงกับประชาชน แล้วกดขี่ขมเหงประชาชนให้ต้องออกจากอำนาจไป” ประจักษ์กล่าว

 

 

สฤณีชี้ยุทธศาสตร์ชาติคือกลไกที่บิดเบี้ยว-ประเมินผลจริงไม่ได้-ล้าหลัง-เปิดช่องกลั่นแกล้งทางการเมือง

 

ด้าน สฤณี ระบุว่า กลไกของรัฐธรรมนูญปี 2560 เป็นเหมือนโซ่ตรวนที่ล่ามอนาคตของชาติเอาไว้ เป็นเครื่องมือที่ผูกมัดไม่ให้สังคมก้าวไปข้างหน้า ในอนาคตการเลือกตั้งก็สุ่มเสี่ยงจะเป็นเครื่องมือที่ใช้กลั่นแกล้งรัฐบาลใหม่ หากไม่ได้มาจากฝ่ายเดียวกันกับ คสช.

 

ยุทธศาสตร์ชาติและแผนปฏิรูปประเทศ 20 ปีมีการวางเป้าหมายไว้ทุก 5 ปี หมุดหมายแรกคือปี 2565 หรือปีหน้า หากเราไปดูรายงานสรุปการดำเนินการทั้งหมด 177 เป้าหมาย บรรลุค่าเป้าหมายของปี 2565 ได้เพียง 19% เท่านั้น

 

และเมื่อลงไปในรายละเอียดของยุทธศาสตร์ชาติ เราจะพบว่าเป็นเอกสารที่มีปัญหามาก บางตัวชี้วัดต่ำเกินไป หลายส่วนวัดประเมินไม่ได้จริงถึง 26% หลายตัวชี้วัดเป็นเป้าหมายที่ประเทศไทยทำได้อยู่แล้ว เท่ากับว่ารัฐไม่ต้องทำอะไรเลยเพื่อบรรลุเป้าหมาย ตัวชี้วัดในหลายแผนก็มีความคลุมเครือมาก ให้น้ำหนักเท่ากันหมด มีความเป็นนามธรรมสูง

 

สถานการณ์ทั้งหมดเกิดขึ้นมาเพราะวิธีการทำยุทธศาสตร์ชาติที่เขียนขึ้นโดยคณะกรรมการ 34 คนที่มาจากการแต่งตั้งโดย คสช. ในกฎหมายตั้งแต่รัฐธรรมนูญลงมา เขียนล็อกเอาไว้ว่าทุกส่วนต้องทำตามนี้เป็นเวลาถึง 20 ปี บอกว่าในการเสนองงบประมาณรายจ่ายประจำปี จะต้องสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ หน่วยงานรัฐทั้งหมดต้องปฏิบัติตามแผนแม่บทยุทธศาสตร์ชาติ ผลที่เกิดขึ้นคือรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งไม่ต้องรับผิดกับประชาชนและนโยบายหาเสียง แต่ต้องรับผิดกับกลไกที่อยู่นอกอำนาจของประชาชนที่ คสช. แต่งตั้งขึ้นมา

 

ปัญหาของยุทธศาสตร์ชาติคือการกำหนดบทลงโทษให้หน่วยงานรัฐที่ไม่ทำตามหรือทำไม่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ ให้คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติสามารถสั่งให้แก้ไขภายใน 60 วัน หากไม่แก้ไขโดยไม่มีเหตุอันสมควร คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติกับ ส.ว. สามารถส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ดำเนินการสอบสวนเอาผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ได้

 

ยุทธศาสตร์ชาติจึงไม่ใช่แค่ผูกมัด แต่เปิดช่องว่างให้มีการกลั่นแกล้งกันเกิดขึ้น สิ่งที่จะเกิดขึ้นคือหัวหน้าหน่วยงานรัฐและคณะรัฐมนตรีอาจจะถูกตีความว่ามีความผิด นำไปสู่การลงโทษ ทั้งที่ไม่ใช่เรื่องของการทุจริตคอร์รัปชัน ในขณะที่คนเขียนยุทธศาสตร์ชาติและกรรมการไม่ต้องรับผิดชอบอะไรเลย

 

การเขียนกลไกยุทธศาสตร์ชาติเช่นนี้จึงเปิดช่องให้มีการกลั่นแกล้ง และยังไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก ทางออกที่ดีที่สุดคือเลิกใช้กลไกเหล่านี้ทั้งหมด กลับไปสู่ครรลองประชาธิปไตยปกติ

 

“วันนี้เรามีอุตสาหกรรมการปฏิรูปประเทศ ซึ่งทำงานกันโดยผู้เชี่ยวชาญไม่กี่ร้อยคน โดยที่ไม่ได้มีความยึดโยงหรือไม่ต้องสนใจประชาชน เพราะฉะนั้นเป็นโอกาสอันดีที่เราจะปลดโซ่ตรวนนี้กลับเข้าสู่ครรลองของระบอบประชาธิปไตย ปล่อยให้พรรคการเมืองต่างๆ ได้มีอิสระเสรีในการนำเสนอนโยบาย แข่งขันกันในตลาดนโยบาย คุ้มครองการแข่งขันนี้ และเพิ่มโอกาสของประชาชนในการนำเสนอประเด็นที่ตัวเองสนใจเข้ามาเป็นนโยบายของชาติ” สฤณีกล่าวทิ้งท้าย

 

 

ไอติมชี้ ส.ว. คือศูนย์รวมปัญหาวิปริตของการเมืองไทย ยก 7 เหตุผลสภาเดี่ยวดีกว่าการมี ส.ว.

 

ด้าน พริษฐ์ ระบุว่า ข้อเสนอต่างๆ ที่ถูกยื่นขึ้นมาในกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญขณะนี้แทบจะไม่แตะอำนาจและที่มาของ ส.ว. เลย ร่างฯ ของพรรคร่วมรัฐบาลเองก็มีเพียงการตัดอำนาจ ส.ว. ในการเลือกนายกรัฐมนตรีเท่านั้น ร่างฯ เหล่านั้นย่อมไม่เพียงพอต่อการรื้อโครงสร้างที่มาของ ส.ว. ที่เป็นกลไกของการสืบทอดอำนาจ

 

ข้อเสนอของเราเรียบง่าย คือการทำระบบสภาเดี่ยวให้เหลือเพียงสภาผู้แทนราษฎร 500 คนที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนเท่านั้น แม้จะฟังดูสุดโต่ง แต่ข้อเสนอนี้เป็นข้อเสนอที่ปกติมาก ประเทศไทยเคยอยู่ในช่วงนี้มาก่อน และหลายประเทศทั่วโลกก็ใช้ระบบสภาเดี่ยวกันเป็นส่วนใหญ่ด้วยซ้ำ

 

ทั้งนี้ตนขอแสดงเหตุผล 7 ข้อสนับสนุนข้อเสนอนี้ ประการแรก เมื่อเรายุบวุฒิสภาไปแล้ว ประชาชนทุกคนจะกลับมามี 1 สิทธิ์ 1 เสียงเท่ากันในการเลือกนายกรัฐมนตรี เพราะรัฐธรรมนูญปัจจุบันให้อำนาจ ส.ว. ร่วมเลือกนายกรัฐมนตรีกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนได้ ตามมาตรา 272 ในรัฐธรรมนูญ

 

ถ้าพูดกันอย่างเป็นรูปธรรม เท่ากับว่าตัวแทนประชาชนทั้ง 750 คนที่จะมาโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี มี 500 คนที่เป็น ส.ส. มาจากการเลือกตั้งของคน 38 ล้านคน ในขณะที่ ส.ว. อีก 250 คนคือคนที่ถูกแต่งตั้งจาก คสช. จะเท่ากับว่าประชาชน 38 ล้านคนมีอำนาจกำหนดตัวนายกรัฐมนตรีแค่ 0.000017% ในขณะที่ คสช. มีอำนาจในการกำหนดตัวนายกรัฐมนตรีถึง 33% เท่ากับว่า คสช. มีอำนาจเท่ากับประชาชน 19 ล้านคน

 

ทั้งนี้ตนต้องฝากถึงพรรคร่วมรัฐบาล ที่ตอนนี้ต้องการยกเลิกมาตรา 272 ว่ามีความจริงใจมากน้อยแค่ไหน เพราะเมื่อเดือนพฤศจิกายนของปีที่แล้ว ข้อเสนอนี้ถูกเสนอเข้าสภา แต่ ส.ส. จากพรรครัฐบาล 276 คน มีเพียง 4 คนที่ยกมือเห็นชอบ เท่ากับว่าเรามี ส.ส. ในสภาที่ไม่พร้อมที่จะยืนหยัดหลักการพื้นฐานว่านายกรัฐมนตรีต้องมาจากการเลือกตั้งของประชาชนอยู่

 

ประการที่สอง การเหลือสภาเดี่ยวจะทำให้สภาสะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชนมากขึ้น เพราะอำนาจที่วุฒิสภามีอยู่ในปัจจุบันนี้ไม่สอดคล้องกับที่มา มีอำนาจที่สูงมาก แต่กลับมีที่มาที่ด้อยค่ามากตามระบอบประชาธิปไตย

 

ถ้ามองไปที่อังกฤษหรือสหรัฐอเมริกา เราจะเห็นความสมดุลกัน เช่น ในอังกฤษ ส.ว. มาจากการแต่งตั้งทั้งหมด แต่ก็มีอำนาจน้อยมาก ส่วนในสหรัฐอเมริกา ส.ว. มาจากการเลือกตั้งโดยตรงและมีอำนาจมาก แต่ในประเทศไทยที่มาและอำนาจกลับไม่สอดคล้องกัน ทำให้เรามีรัฐสภาที่ไม่สะท้อนเจตนารมณ์ของประชาชน

 

ประการที่สาม ตราบที่เรายังมี ส.ว. แบบนี้อยู่ ระบอบประยุทธ์จะยังคงแต่งตั้งคนของตัวเองขึ้นมาสืบทอดอำนาจได้ต่อไปเรื่อยๆ เมื่อย้อนไปดูที่มาของ ส.ว. นี้ จะเห็นได้ว่ามาจากคนที่ คสช. เลือกโดยตรง 194 คน มาจาก ผบ. เหล่าทัพโดยตำแหน่ง 6 คน และมาจากการเลือกทางอ้อมโดย คสช. จากคนที่ กกต. สรรหามาให้เหลือ 50 คน

 

สัดส่วนของ ส.ว. ก็มีปัญหา จากคน 250 คน มีถึง 104 คนที่เป็นทหารและตำรวจ ส่วนกรรมการสรรหา 10 คน มี 3 คนที่แต่งตั้งพี่น้องตัวเองมาเป็น ส.ว. ส่วนอีก 6 คนแต่งตั้งตัวเองมาเป็น ส.ว. ด้วยตัวเอง ทั้งหมดคือกระบวนการผลัดกันเกาหลังที่ใช้งบประมาณทั้งหมด 1,300 ล้านบาท

 

นี่คือกระบวนการที่ระบอบประยุทธ์แต่งตั้งคนของตัวเองเข้ามา และที่สำคัญ ส.ว. ทั้ง 250 คนนี้ก็เป็นบุคคลที่มีอำนาจชี้ขาดว่าใครจะมาดำรงตำแหน่งองค์กรอิสระและศาลรัฐธรรมนูญ นี่คือเหตุของคำวินิจฉัยที่เราคาดเดาผลได้ นี่คือเหตุผลว่าทำไมการเลือกตั้งของเราจึงมีบัตรเขย่งเกิดขึ้น

 

ประการที่สี่ การเอา ส.ว. 250 คนออกไป จะทำให้เราสามารถผ่านกฎหมายได้ทันกับสถานการณ์มากกว่าการมีสองสภา ปัจจุบันโลกเปลี่ยนแปลงในทางเศรษฐกิจและสังคมในอัตราที่รวดเร็วมาก มีความผันผวน ไม่แน่นอน ซับซ้อน คลุมเครือ การลดกระบวนการนิติบัญญัติให้เหลือสภาเดียว จะทำให้การออกกฎหมายของเราเท่าทันกับสถานการณ์มากขึ้น

 

ประการที่ห้า การยุบ ส.ว. ลงไป จะทำให้เราสามารถประหยัดงบประมาณลงไปได้อย่างน้อยถึง 1,000 ล้านบาทต่อปี ซึ่งสามารถนำมาส่งเสริมเป็นสวัสดิการให้ประชาชนได้ เพราะทุกวันนี้ ส.ว. 250 คน รวมกับผู้เชี่ยวชาญ ผู้ชำนาญการ และผู้ช่วยของแต่ละคน ดำรงตำแหน่ง 5 ปี กินเงินเดือนถึง 3,400 ล้านบาทต่อวาระ เมื่อบวกกับค่าสรรหา 1,300 ล้านบาท การมีอยู่ของ ส.ว. หนึ่งวาระกินงบประมาณของเราไปทั้งหมดอย่างน้อย 4,700 ล้านบาท

 

การโยกงบประมาณนี้มาใช้ส่งเสริมสวัสดิการประชาชนย่อมเป็นผลดีกว่าการมีอยู่ของ ส.ว. เป็นอย่างมาก เงินเกือบ 5 พันล้านบาทนี้สามารถอัดฉีดให้เพิ่มงบอาหารกลางวันของเด็กนักเรียนได้ถึง 2-3 บาทต่อคนต่อวัน

 

ประการที่หก การยุบเลิก ส.ว. จะทำให้เรามีกลไกการตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจฝ่ายบริหารได้มากกว่า เพราะอย่างที่เห็น การทำงานของ ส.ว. วันนี้ก็ไม่ได้ตรวจสอบถ่วงดุลอำนาจของฝ่ายบริหารอยู่แล้ว ถ้าย้อนไปดูการทำงานในปีแรกของ ส.ว. ชุดนี้ มี 145 มติที่ผ่านจาก ส.ส. ขึ้นไปหา ส.ว. ไม่มีมติใดเลยที่ ส.ว. พิจารณาและปัดตก ด้วยค่าเฉลี่ยยกมือเห็นชอบจาก ส.ว. ถึง 96.1%

 

ครั้งเดียวที่มีการปัดตกร่างกฎหมายโดย ส.ว. ก็คือการปัดตกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งก็ไม่ได้เกิดจากความกล้าหาญของ ส.ว. แต่มาจากความไม่จริงใจของ พล.อ. ประยุทธ์ ที่ไม่ต้องการให้เกิดการแก้รัฐธรรมนูญนั่นเอง

 

แต่เพื่อเพิ่มกลไกตรวจสอบถ่วงดุลฝ่ายบริหาร เราจึงมีข้อเสนอที่จะมาแทนที่ ส.ว. ด้วย เช่น การติดอาวุธรัฐสภา เพิ่มเงื่อนไขให้นายกรัฐมนตรีต้องเป็น ส.ส. การเพิ่มบทบาทของฝ่ายค้านในการตรวจสอบรัฐบาลมากขึ้น เช่นการให้รองประธานสภาอย่างน้อย 1 คนต้องมาจากฝ่ายค้าน การให้ที่นั่งประธานคณะกรรมาธิการอย่างน้อย 5 คณะเป็นของฝ่ายค้าน

 

และที่สำคัญคือการติดอาวุธประชาชนให้สามารถตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลได้มากขึ้น และมีประสิทธิภาพมากกว่าการตรวจสอบโดย ส.ว. 250 คนชุดปัจจุบัน

 

ประการสุดท้าย การใช้สภาเดี่ยวเป็นโครงสร้างทางการเมืองที่ปฏิบัติได้จริงและสอดคล้องกับโลกสมัยใหม่ หากนับเอาเฉพาะประเทศที่เป็นประชาธิปไตย เป็นรัฐเดี่ยว และเป็นระบบรัฐสภา 31 ประเทศ จะพบได้ว่ามีถึง 20 ประเทศที่ใช้ระบบสภาเดี่ยวแล้ว โดยหลายประเทศเคยใช้สภาคู่มาก่อน แต่ก็เปลี่ยนมาเป็นสภาเดี่ยวในที่สุด เพราะไม่สามารถหาสมดุลระหว่างทั้งสองสภาได้

 

“ในเมื่อองค์กรนี้เป็นองค์กรที่ใช้งบประมาณเยอะมาก ไม่ได้เป็นทางเลือกกระแสหลักของประเทศที่เป็นรัฐเดี่ยว เป็นประชาธิปไตย และใช้ระบบรัฐสภา แต่เป็นข้อยกเว้นที่บางประเทศยังคงใช้อยู่ และในเมื่อหลักการพื้นฐานของประชาธิปไตย คืออำนาจสูงสุดอยู่กับประชาชน ถ้าควรจะมีองค์กรอะไรที่ถูกสถาปนาขึ้นมาในรัฐธรรมนูญ คุณก็ต้องอธิบายให้ชัดว่าองค์กรนั้นมีไว้ทำไม ผมว่าภาระในการพิสูจน์มันไม่ควรอยู่กับผมท่ีจะต้องมาอธิบายว่าทำไมจึงควรยุบ ส.ว. ให้เหลือสภาเดียว ความจริงภาระพิสูจน์ต้องอยู่กับ ส.ว. ที่ต้องอธิบายให้ได้ว่าจะมี ส.ว. ไว้เพื่ออะไร” พริษฐ์กล่าวทิ้งท้าย

 

 

ปิยบุตรเปิดข้อเสนอโดยละเอียด ล้ม ส.ว.-โละศาลรัฐธรรมนูญ-องค์กรอิสระ เสนอระบบสรรหาใหม่ ศาล-รัฐบาล-ค้าน ร่วมเสนอชื่อเท่ากันถ่วงดุลสามฝ่าย

 

ด้าน ปิยบุตร ระบุว่า ตนจำเป็นต้องอธิบายให้ทุกคนเข้าใจตรงกันเสียก่อนว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2560 ของพวกเราครั้งนี้คือการแก้รายมาตรา ไม่ใช่การแก้ทั้งฉบับ ไม่ครอบคลุมทุกเรื่อง แต่เราเกาะเพียง 4 ประเด็นหลักสำคัญเฉพาะหน้า อันได้แก่ การล้มวุฒิสภา โละศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ เลิกยุทธศาสตร์ชาติและแผนปฏิรูป และล้างมรดกคณะรัฐประหาร ซึ่งเป็นเสาหลักค้ำยันอำนาจของระบอบประยุทธ์ที่สืบทอดอำนาจมาถึงปัจจุบัน

 

ความจริงตนมีความคิดอยากแก้ไขรัฐธรรมนูญในอีกหลากหลายประเด็น เช่น เรื่องสิทธิเสรีภาพ หมวดที่ไม่มีความจำเป็น การกระจายอำนาจ รวมทั้งหมวด 1-2 แต่การแก้ครั้งนี้ต้องการมุ่งไปที่ใจกลางปัญหาที่ค้ำยันระบอบประยุทธ์เอาไว้ และกลไกที่ขัดขวางการแก้รัฐธรรมนูญ 4 ประเด็นก่อนเป็นการเฉพาะ

 

ประการแรกคือการยกเลิกวุฒิสภาให้เหลือเพียงสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งพร้อมกันนี้เราจะต้องติดอาวุธให้ฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรมากขึ้น เช่น การกำหนดให้รองประธานสภาต้องเป็นฝ่ายค้านอย่างน้อย 1 คน ให้ประธานคณะกรรมาธิการอย่างน้อย 5 คณะต้องมาจากฝ่ายค้าน และการมีผู้ตรวจการกองทัพของสภาผู้แทนราษฎร ที่จะเข้าไปตรวจสอบแดนสนธยาแห่งนี้ โดยผู้ตรวจการกองทัพจะประกอบไปด้วย ส.ส. 10 คน มาจากฝ่ายค้านและฝ่ายรัฐบาลฝ่ายละ 5 คน ตรวจสอบการใช้จ่ายงบประมาณของกองทัพ และการละเมิดสิทธิของผู้ใต้บังคับบัญชา

 

อีกข้อเสนอที่สำคัญคือการกำหนดให้นายกรัฐมนตรีต้องเป็น ส.ส. ซึ่งแม้ว่าโดยระบอบรัฐสภาสากลแล้วจะไม่ใช่เรื่องจำเป็น แต่สำหรับบริบทเฉพาะของประเทศไทย นี่เป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องเขียนไว้ เพราะถ้าไม่เขียนไว้ก็จะมีทหารมาเป็นนายกรัฐมนตรีทุกครั้งไป อย่างที่เห็นกันมาตลอดในประวัติศาสตร์

 

ประการต่อมา ข้อเสนอการโละศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ ซึ่งแต่เดิมไม่มีมาก่อน และตั้งแต่มีมาก็เกิดแต่เรื่องวุ่นวาย วิกฤตการณ์ทางรัฐธรรมนูญและวิกฤตการณ์ทางการเมืองเกิดขึ้นทุกครั้งจากศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระเหล่านี้

 

ที่ผ่านมาหลังมีรัฐธรรมนูญปี 2540 รัฐบาลที่เป็นเสียงข้างมากถูกกล่าวหาว่าเข้าไปครอบงำองค์กรอิสระผ่านวุฒิสภาจากการเลือกตั้ง จนกลายมาเป็นข้ออ้างของการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 นำไปสู่การรื้อที่มาของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระทั้งหมด ให้อีกฝ่ายทางการเมืองเข้าไปยึดแทน และยิ่งชัดเจนในรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระกลายเป็นเครื่องมือของผู้ยึดอำนาจทั้งหมด

 

ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระกลายเป็นปัญหาของรัฐธรรมนูญและระบบการเมืองไทย ตั้งแต่ที่มาที่ไม่มีความเป็นประชาธิปไตย ไม่ยึดโยงกับประชาชน ไม่มีความเป็นอิสระ ปราศจากการตรวจสอบถ่วงดุล เป็นอิสระจากประชาชนแต่ไม่เป็นอิสระจาก คสช. เป็นเดิมพันของทุกฝ่ายการเมืองที่มุ่งหวังเข้าไปยึด เพราะมีอำนาจในการกำหนดชะตากรรมทางการเมืองและชะตาชีวิตของนักการเมือง ให้คุณให้โทษได้อย่างมหาศาล

 

นี่จึงเป็นที่มาของข้อเสนอการโละศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระทิ้ง แต่เนื่องจากองค์กรเหล่านี้ยังมีความจำเป็นในการตรวจสอบฝ่ายบริหารอยู่ เราจึงต้องออกแบบที่มาใหม่ ทั้งนี้เราต้องยอมรับแล้วว่า ในเมื่อเราไม่สามารถทำให้ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสะปลอดการเมืองได้ เราก็ต้องออกแบบกันใหม่ให้มีทั้งความชอบธรรมในทางประชาธิปไตยและสมเหตุสมผลกับความเป็นจริงทางการเมือง

 

ข้อเสนอของเราคือการยกเลิกการผูกขาดอำนาจในการเลือกอยู่ที่ผู้พิพากษาและ ส.ว. โดยเปลี่ยนใหม่ให้การเลือกมาจาก 3 องค์ประกอบ คือ 1. ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาและที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุด 2. ส.ส. ฝ่ายค้าน และ 3. ส.ส. ฝ่ายรัฐบาล เสนอรายชื่อมาในสัดส่วนที่เท่ากัน ให้รัฐสภาลงมติเห็นชอบด้วยเสียง 2 ใน 3

 

เช่น การแต่งตั้งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ให้ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาและที่ประชุมใหญ่ศาลปกครองสูงสุด เสนอมาที่ละ 3 รายชื่อ มายังรัฐสภาเพื่อเลือกให้เหลือ 3 คน, ส.ส. ฝ่ายค้านเสนอ 6 รายชื่อให้รัฐสภาเลือกให้เหลือ 3 คน และ ส.ส. ฝ่ายรัฐบาลเสนอ 6 รายชื่อให้รัฐสภาเลือกให้เหลือ 3 คน รวมทั้งหมดเป็นองค์คณะตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ 9 คน

 

โดยผู้ที่จะได้รับเลือกให้เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญต้องได้รับเสียงถึง 2 ใน 3 ของสภา สิ่งนี้จะป้องกันไม่ให้ฝ่ายบริหารผูกขาดครอบครองศาลรัฐธรรมนูญได้ ทำให้เกิดการพูดคุยกันระหว่างรัฐบาลและฝ่ายค้าน ไม่สามารถถูกยึดได้โดยฝ่ายค้านหรือฝ่ายรัฐบาล

 

เมื่อถึงเวลาปฏิบัติหน้าที่ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระก็จะได้เลิกคิดเรื่องการอยู่ฝักฝ่ายใด เพราะมาจากทั้งสามฝ่าย คือฝ่ายศาล ฝ่ายค้าน และฝ่ายรัฐบาลเท่าๆ กัน ก็จะเกิดการถ่วงดุลกันเองภายในองค์กรทุกครั้ง และเสียงข้างมากก็ไม่สามารถยึดได้

 

ส่วนการตรวจสอบและถ่วงดุลอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระ เราเสนอให้เพิ่มกลไกเข้าไป โดย ส.ส. 1 ใน 4 เข้าชื่อร่วมกัน หรือให้ประชาชน 20,000 คนเข้าชื่อเสนอร่วมกัน ให้มีการพิจารณาถอดถอนผู้พิพากษาและผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระต่างๆ ส่งให้สภาลงมติโดยใช้เสียง 3 ใน 5 เพื่อเสนอให้องค์คณะพิจารณาถอดถอน 7 คน ประกอบไปด้วยตัวแทนจากศาลรัฐธรรมนูญ ศาลฎีกา ศาลปกครอง ส.ส. ฝ่ายค้าน ส.ส. ฝ่ายรัฐบาล ร่วมพิจารณาถอดถอนโดยใช้เสียง 3 ใน 4

 

นอกจากนี้สภาผู้แทนราษฎรจะมีผู้ตรวจการศาลและศาลรัฐธรรมนูญมาจาก ส.ส. ฝ่ายค้านและ ส.ส. ฝ่ายรัฐบาลอย่างละ 5 คน ตรวจสอบการใช้งบประมาณของศาล วิเคราะห์ผลกระทบจากคำพิพากษาต่างๆ เพิ่มระบบในการตรวจสอบถ่วงดุลขึ้นมา โดยให้ผู้ตรวจการศาลและศาลรัฐธรรมนูญคัดเลือกกันเองให้ 1 คนไปเป็นกรรมการตุลาการ (กต.) ศาลยุติธรรม และ 1 คนไปเป็นกรรมการตุลาการศาลปกครองโดยตำแหน่งเพื่อให้เกิดการถ่วงดุล

 

นอกจากนี้ปิยบุตรยังได้กล่าวลงรายละเอียดถึงข้อเสนออื่นๆ อีก เช่น การยกเลิกระบบใบส้ม ให้เป็นเหมือนรัฐธรรมนูญปี 2540 และรัฐธรรมนูญปี  2550, การแก้ไขให้มาตรฐานจริยธรรมเป็นเรื่องของแต่ละองค์กรเป็นผู้กำหนดขึ้นมาเอง มิใช่ให้ศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระเป็นผู้กำหนดให้ทุกองค์กรแบบในรัฐธรรมนูญปี 2560, การยุบผู้ตรวจการแผ่นดินเข้ารวมกับกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ, การสร้างระบบตรวจสอบถ่วงดุลองค์กรอิสระให้ถอดถอนและตรวจสอบถ่วงดุลได้, ห้ามมิให้ศาลรัฐธรรมนูญดำเนินการใดอันเป็นการขัดขวางการแก้รัฐธรรมนูญ เป็นต้น

 

ปิยบุตรยังกล่าวอีกว่า สำหรับศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระที่ดำรงตำแหน่งอยู่ทุกวันนี้ หากร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เรากำลังเข้าชื่อกันอยู่สามารถนำไปสู่การแก้ไขได้สำเร็จ ทั้งหมดต้องพ้นจากตำแหน่งและไปสู่การสรรหาใหม่ทันที เพราะคนเหล่านี้ล้วนแต่มาจากการแต่งตั้งโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ที่มาจากการแต่งตั้งโดย คสช. รวมทั้งคณะปฏิรูปการปกครอง ในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ด้วย

 

“ดังนั้นเริ่มต้นใหม่ทั้งหมด และใครที่เคยได้รับประโยชน์โภชผลจาก คสช. ตั้งให้เป็นนั่นเป็นนี่ จาก คปค. สมัยปี 2549 ตั้งให้เป็นนั่นเป็นนี่ คนพวกนี้ถึงเวลาหยุด กลับบ้านไปพักผ่อนได้แล้ว เริ่มต้นกันใหม่ ไม่เช่นนั้นคนกลุ่มนี้ก็จะวนเวียนอยู่ในอุตสาหกรรมยกร่างรัฐธรรมนูญ และอุตสาหกรรมองค์กรอิสระ คนหน้าเดิมทั้งนั้นวนเวียนอยู่แบบนี้ เพราะฉะนั้นหยุด พอได้แล้ว เริ่มต้นใหม่ ประเทศไทยมีคนมีความรู้ความสามารถอีกเยอะที่จะมาทำงานเหล่านี้ได้” ปิยบุตรกล่าว

 

ส่วนการล้างมรดกของคณะรัฐประหาร ปิยบุตรระบุว่า นอกจากการเสนอให้ยกเลิกมาตรา 279 ที่ให้บรรดาการกระทำของ คสช. ทั้งหมดชอบด้วยกฎหมาย เพื่อให้สามารถนำไปสู่การตรวจสอบความชอบย้อนหลังได้แล้ว เรายังเสนอว่าจะต้องบัญญัติเข้าไปให้การรัฐประหารไม่มีอายุความ แต่เป็นความผิดฐานกบฏที่คงอยู่ตลอดไปในฐานะประเพณีการปกครองด้วย

 

 

ชี้ต้องเดินสามทางพร้อมกันสู่จุดหมายสถาปนารัฐธรรมนูญประชาชน-ขอล้านชื่อร่วมแสดงเจตจำนง

 

ปิยบุตรกล่าวต่อไป ว่าจากสถานการณ์ปัจจุบัน เราเห็นว่าเส้นทางสู่รัฐธรรมนูญใหม่มีอยู่สามทาง คือ 1. การยกเลิกรัฐธรรมนูญปี 2560 ทั้งฉบับ และจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่โดยปราศจากข้อจำกัด 2. การแก้ไขรัฐธรรมนูญปี 2560 เพื่อเปิดทางให้มี สสร. จัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ และ 3. การแก้ไขรัฐธรรมนูญรายมาตราในประเด็นสำคัญ ตามที่กลุ่ม Resolution ของเรานำเสนอในวันนี้

 

โดยเส้นทางที่ 1 นั้นจะเกิดขึ้นได้มีสองรูปแบบ คือการรัฐประหารหรือการริเริ่มของประชาชนเพื่อให้เกิดการลงประชามติ แต่สถานการณ์วันนี้ยังไม่สุกงอมที่จะทำให้เกิดการประชามติโดยประชาชนแบบไม่มีขอบเขตได้ จะไปถึงจุดนั้นได้สถานการณ์ต้องสุกงอมเพียงพอ

 

ส่วนเส้นทางที่ 2 นั้น กำลังดำเนินไปอยู่ในรัฐสภา ซึ่งอาจจะกินเวลานาน มีแนวโน้มว่าจะต้องจัดให้มีการลงประชามติก่อนด้วย ภายใต้สถานการณ์ที่ตอนนี้กฎหมายประชามติกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณา โดยที่ยังไม่แน่นอนว่าประชาชนจะเป็นคนริเริ่มเสนอให้มีการจัดการลงประชามติได้ด้วยหรือไม่

 

ส่วนเส้นทางที่ 3 ที่เราเลือกนั้น แม้จะกินเวลาหลายปี แต่ระหว่างเส้นที่ทางทั้งสองข้างต้นกำลังดำเนินไป เราก็ต้องทำสิ่งนี้ควบคู่กันไปด้วย เป็นการทำเท่าที่ได้ ให้มีการแก้รายมาตราในประเด็นสำคัญ เวลานี้การแก้รัฐธรรมนูญกำลังถูกจำกัดให้อยู่ในเรื่องของรายมาตรา มีแต่เรื่องของระบบเลือกตั้ง ซึ่งเป็นเรื่องที่ได้ประโยชน์ของพวกเขาทั้งสิ้น

 

ก่อนเดินทางมา ตนได้สำรวจความเห็นของหลายคนบนโลกออนไลน์ หลายคนเห็นว่าทำไปไมทำไม เสียเวลา อย่างไรก็ถูกล้มอยู่ดี แต่เราจำเป็นต้องทำ เพราะถ้าไม่ทำก็ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง ให้เขากินรวบประเทศไปเรื่อยๆ การแก้รัฐธรรมนูญก็จะมีแต่สิ่งที่เขาต้องการเท่านั้น

 

งวดนี้ถ้าประชาชนสามารถรวบรวมรายชื่อได้ถึงหลายแสน หรือได้ไปถึงล้าน ส.ว. ก็อาจจะเปลี่ยนใจก็ได้ แต่ถ้ายังไม่แยแสอีก ตนเห็นว่าการเมืองจะเปลี่ยนแล้ว ประชาชนคนไทยที่ร่วมกันเข้าชื่อจะไม่ยอมให้ ส.ว. 250 คนมาขี่คอทั้งชีวิตอย่างนี้แน่นอน

 

ดังนั้นตนคิดว่าอย่าเพิ่งไปมองว่าการทำเช่นนี้จะสำเร็จหรือไม่ แต่นี่คือการรณรงค์ทุกนาที ทุกฝีก้าว หว่านเมล็ดไปเรื่อยๆ ถ้าเราคิดแต่เพียงที่จะนั่งเฉยๆ แล้วรอเวลา รอโอกาส โอกาสนั้นก็ไม่มีทางจะมาถึง เราต้องสร้างโอกาสให้เกิดขึ้นได้ทุกวัน ทำเท่าที่ทำได้ การเปลี่ยนแปลงขนาดใหญ่จะเกิดขึ้นได้ต้องลงมือทำในทุกวันก่อน แต่ถ้าไม่ทำตั้งแต่วันนี้จะไม่มีอะไรเกิดขึ้นเลยทั้งสิ้น

 

“ผมอยากเชิญชวนทุกท่านว่า 1 สิทธิ์ 1 เสียงของท่านมีความหมาย นี่คือการแสดงออกซึ่งประชาธิปไตยทางตรง ประชาธิปไตยแบบผู้แทนเราถูกบิดผันไปมากมายเหลือเกินจากรัฐธรรมนูญฉบับนี้ ท่านจะสงสัยว่าทำไมผู้แทนของเราไม่เห็นทำตามที่เราต้องการ ทำไมเรารณรงค์อะไรไปก็ตามไปถึงสภาตกหมด ดังนั้นต้องทำให้มากกว่าเดิม ผมเชื่อว่าในท้ายที่สุดเสียงของประชาชนจะเป็นตัวชี้ขาด แล้วนี่คือเสียงของประชาชนี่ปรากฏตัวให้เห็นผ่านชื่อ ผ่านบัตรประชาชน ทุกครั้งที่เป็นการใช้สิทธิ์เข้าชื่อ… นี่คือการเริ่มต้น เริ่มลงมือร่วมกันตั้งแต่วันนี้ ทุกๆ การณรงค์ของเรา เท่ากับการเปิดโอกาสการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นเรื่อยๆ แต่ถ้าเราเฝ้ารอแต่โอกาสเพียงอย่างเดียว โอกาสนั้นจะไม่มีวันมาถึง” ปิยบุตรกล่าวทิ้งท้าย

 

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X