วันนี้ (4 เมษายน) ที่ศูนย์แถลงข่าวสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 กระทรวงสาธารณสุข จังหวัดนนทบุรี นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค แถลงว่า วันนี้ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 96 ราย มาจากระบบเฝ้าระวังในโรงพยาบาล 78 ราย ค้นหาเชิงรุกในชุมชน 9 ราย และเดินทางมาจากต่างประเทศ 9 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิต และรักษาหายเพิ่มขึ้น 106 ราย ทำให้การติดเชื้อระลอกใหม่ตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2563 – 4 เมษายน 2564 มีผู้รักษาหายแล้ว 23,597 ราย คิดเป็นร้อยละ 94.81 อยู่ระหว่างการรักษา 1,258 ราย และเสียชีวิตสะสม 35 คน
ส่วนการฉีดวัคซีนโควิด-19 ตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ – 3 เมษายน 2564 ฉีดแล้ว 244,254 โดส แบ่งเป็นเข็มแรก 201,864 ราย และครบสองเข็ม 42,390 ราย ถือว่าฉีดได้ตามเป้าหมาย ไม่ได้ล่าช้า เนื่องจากช่วงแรกได้วัคซีนมา 2 แสนโดส ฉีดคนละ 2 เข็ม จึงฉีดได้ 1 แสนคน และเมื่อมีวัคซีนจำนวนมาก ตั้งแต่มิถุนายนที่จะมีวัคซีนจาก AstraZeneca เดือนละ 10 ล้านโดส จะสามารถฉีดได้ครบถ้วนแน่นอน เช่น ชลบุรีฉีดได้ถึง 10,000 โดสในวันเดียว โดยประชาชนสามารถเริ่มจองฉีดวัคซีนได้ผ่านแอปพลิเคชันหมอพร้อมได้ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม 2564 และจะมีเจ้าหน้าที่สาธารณสุขและ อสม. สำรวจกลุ่มเป้าหมายที่สมัครใจฉีดวัคซีน ตามข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรีและกระทรวงมหาดไทยด้วย
สำหรับสถานการณ์ที่อำเภอแม่สะเรียง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งเป็นพื้นที่ห่างไกล โรงพยาบาลไม่มีห้องปฏิบัติการตรวจหาโควิด-19 กระทรวงสาธารณสุข ได้ส่งรถวิเคราะห์ผลด่วนพิเศษพระราชทาน ลงพื้นที่สนับสนุนการตรวจหาเชื้อในผู้ลี้ภัยชาวต่างชาติ เจ้าหน้าที่สาธารณสุข และฝ่ายความมั่นคงที่มีโอกาสสัมผัสเชื้อ ซึ่งจะช่วยให้สามารถควบคุมโรคได้อย่างทันท่วงที รวมถึงสนับสนุนวัคซีนโควิด-19 เพิ่มเติม 2,000 โดสแก่ทหาร ตำรวจ ฝ่ายปกครองที่ดูแลผู้ลี้ภัย เพื่อป้องกันไม่ให้มีการแพร่กระจายเชื้อมาสู่คนไทย
ส่วนสถานการณ์การติดเชื้อในเรือนจำ จังหวัดนราธิวาส มีการส่งรถวิเคราะห์ผลด่วนพิเศษพระราชทานลงไปในพื้นที่เช่นกัน จากการสอบสวนโรคเบื้องต้นพบว่า เริ่มจากเจ้าหน้าที่พยาบาลในเรือนจำมีอาการไข้ ไอ เจ็บคอ น้ำมูก จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส ตรวจพบติดเชื้อ 1 คน จึงสอบสวนโรคเพิ่มเติม โดยตรวจผู้ต้องขังประมาณ 700 กว่าคน พบผู้ติดเชื้อ 100 กว่าคน สถานการณ์ถือว่าคล้ายกับสถานกักตัวของสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง เนื่องจากเป็นสถานที่ปิด มีการอยู่อย่างแออัด ทำให้มีโอกาสติดเชื้อสูง ไม่มีความเสี่ยงแพร่กระจายไปยังชุมชน สำหรับจุดเริ่มต้นในการติดเชื้อต้องรอผลสอบสวนอย่างละเอียด เบื้องต้นเรือนจำดำเนินมาตรการต่างๆ ได้ดี อย่างไรก็ตาม เน้นย้ำเรื่องการกักตัวผู้ต้องขังแรกรับ 14 วันอย่างเข้มข้นอย่างต่อเนื่อง เฝ้าระวังโดยตรวจหาเชื้อเจ้าหน้าที่เป็นระยะ และเร่งฉีดวัคซีนให้กับเจ้าหน้าที่
“กรณีที่มีผู้ต้องขังกลุ่มนี้เดินทางไปร่วมประชุมและกิจกรรมที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี และตรวจพบว่าติดเชื้อมีผู้เข้าร่วมประชุมประมาณ 1,000 คน จัดงานเพียง 1 วัน ผู้ต้องขังไม่ได้ปะปนกับคนหมู่มาก ได้สอบสวนและควบคุมโรค ติดตามผู้สัมผัสที่มีความเสี่ยงได้แล้วทั้งหมด โดยผู้สัมผัสเสี่ยงสูงได้รับการแยกกัก และผู้สัมผัสเสี่ยงต่ำอยู่ในระบบเฝ้าระวัง” นพ.โอภาส กล่าว
นพ.โอภาส กล่าวต่อว่า สถานการณ์การติดเชื้อในสถานบันเทิงในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล พบติดเชื้อ 70 ราย พบว่ากลุ่มที่ติดเชื้อมีความเชื่อมโยงกัน จากการสอบสวนโรคคาดว่าเริ่มต้นจากสถานบันเทิงจังหวัดปทุมธานีไปยังคริสตัลคลับ ทองหล่อ, ร้านบลาบลาบาร์ และเบียร์เฮาส์ เอกมัย เป็นลูกโซ่ เนื่องจากนักเที่ยวนำเชื้อมาติดพนักงานและติดไปยังนักเที่ยวคนอื่น ซึ่งนักเที่ยวมักไปเที่ยวหลายร้าน และพนักงาน นักร้องและนักดนตรี ไปทำงานหลายร้าน ทำให้แพร่กระจายเชื้อไปร้านอื่นต่อ และนำไปติดคนในครอบครัว ปัจจัยที่ทำให้ติดเชื้อมากมาจากสถานที่เสี่ยง คือ ความแออัด การระบายอากาศไม่ดี ไม่มีการเว้นระยะห่าง และพฤติกรรมเสี่ยง คือ ไม่สวมหน้ากาก ตะโกนเสียงดัง ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทำให้ขาดสติ อาจใช้แก้วร่วมกัน เป็นต้น
“แม้ในระยะผ่อนคลายจะเปิดสถานบันเทิงได้ แต่ต้องเป็น New Normal โดยจำกัดจำนวนผู้เข้าใช้บริการ สแกนไทยชนะเข้าออกสถานที่ พนักงานต้องใส่หน้ากากตลอดเวลา ผู้มารับบริการต้องใส่หน้ากากให้มากที่สุด ทำความสะอาดจุดสัมผัสต่างๆ ตรวจหาเชื้อพนักงาน นักร้อง นักดนตรีสม่ำเสมอ โดยเจ้าพนักงานฝ่ายปกครองและสาธารณสุขจะลงพื้นที่ติดตามกำกับ หากดำเนินการไม่ได้หรือมีการแพร่ระบาดจะต้องดำเนินการทางกฎหมาย โดยคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด/กรุงเทพมหานคร สามารถสั่งปิดปรับปรุงตามกำหนดได้ หรือออกมาตรการเพิ่มเติมจากที่ ศบค. กำหนด ส่วนผู้ที่ไปเที่ยวในสถานบันเทิงดังกล่าวตั้งแต่เดือนมีนาคมเป็นต้นไป หากมีอาการผิดปกติให้ไปโรงพยาบาลเพื่อรับการตรวจหาเชื้อ หากมีความกังวล ขอรับคำปรึกษาได้ที่โรงพยาบาลใกล้บ้าน หรือโทรสายด่วนกรมควบคุมโรค 1422” นพ.โอภาส กล่าว
ส่วนกรณีทูตญี่ปุ่นติดโควิด-19 เข้ารักษาที่โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่ง อาการทรงตัวดี ไม่มีอาการปอดบวม จากการสอบสวนโรคและซักถามผู้ที่เกี่ยวข้อง ยืนยันว่า ไม่มีรัฐมนตรีท่านใดที่เข้าร่วมงานเลี้ยงที่บ้านทูตญี่ปุ่น และไม่มีรัฐมนตรีท่านใดที่ไปสถานบันเทิงย่านทองหล่อดังกล่าว รวมถึง สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ก็ไม่ได้เข้าร่วมแต่อย่างใด
อย่างไรก็ตาม สุพัฒนพงษ์ซึ่งอยู่ระหว่างลงพื้นที่จังหวัดอุดรธานี จะเข้ารับการตรวจหาโควิด-19 เพื่อความสบายใจของประชาชน