การวิ่งคบเพลิงโอลิมปิกทั่วประเทศญี่ปุ่นดำเนินมาถึงวันที่ 8 และเป็นวันแรกที่จังหวัดนากาโนะ ได้เกิดภาพความประทับใจขึ้นเมื่อหนึ่งในผู้ถือคบเพลิงคือ ซาโต้ อันซุโกะ สาวน้อยผู้ป่วยเป็นโรคดาวน์ซินโดรม ซึ่งใช้เวลาในการเตรียมตัวนานหลายเดือนเพื่อเป็นผู้ถือคบเพลิง
แม้จะเป็นช่วงเวลาสั้นๆ เพียงแค่ไม่นานที่เธอจะได้มีส่วนร่วมในการวิ่งคบเพลิงและยังต้องรอคอยอีกนานเกือบ 1 ปี จากการที่กีฬาโอลิมปิก 2020 ต้องเลื่อนออกไป แต่อันซุโกะ สาวน้อยผู้หลงรักในเสียงดนตรีและการเต้นรำ ได้ใช้เวลาในการฝึกฝนและเตรียมตัวอย่างดีที่สุดเป็นเวลานานหลายเดือน และวิ่งถือคบเพลิงผ่านเมืองซากุ เป็นภาพที่น่าประทับใจสำหรับกองเชียร์ที่มาร่วมให้กำลังใจสองข้างทาง รวมถึงผู้ชมอีกมากมายที่รับชมผ่านการถ่ายทอดสดในระบบออนไลน์ทั่วโลกด้วย
ก่อนหน้านั้น การวิ่งคบเพลิงในจังหวัดนากาโนะที่เคยเป็นสถานที่จัดแข่งขันกีฬาโอลิมปิกในปี 1964 และกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาว 1998 เริ่มต้นที่เมืองคารุอิซาวะ เมืองแสนโรแมนติกที่อยู่ในอ้อมกอดของหุบเขา โดยผู้วิ่งคบเพลิงคนแรกคือ โมโรซุมิ ยูสุเกะ นักกีฬาเคอร์ลิงที่เคยลงแข่งขันในกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาว ‘นากาโนะ 1998’ จากนั้นเส้นทางจะผ่านเมืองซากุ, ยามาโนะอุจิ, อูเอดะ, หมู่บ้านโนซาวะออนเซน และเมืองฮาคุบะ ก่อนจะจบที่เมืองนากาโนะ
สำหรับการวิ่งคบเพลิงโอลิมปิกถือเป็นธรรมเนียมที่ปฏิบัติต่อกันก่อนการแข่งขันทุกครั้ง โดยครั้งนี้ได้เริ่มต้นในวันที่ 25 มีนาคมที่ผ่านมา จุดสตาร์ทอยู่ที่ศูนย์ฝึกกีฬาแห่งชาติเจ-วิลเลจ ภายใต้คอนเซปต์ Hope Lights Our Way เพื่อเป็นการจุดประกายความหวังใหม่ให้กับพื้นที่ในจังหวัดฟุกุชิมะ ที่ประสบภัยพิบัติครั้งใหญ่เมื่อปี 2011 จากเหตุการณ์แผ่นดินไหวและสึนามิ ก่อนจะเดินทางไปทั้งหมด 47 จังหวัดในญี่ปุ่น ผ่าน 857 เขตเทศบาลท้องถิ่น และไปสิ้นสุดการจุดไฟที่กระถางคบเพลิงภายในโอลิมปิก สเตเดียม สนามกีฬาแห่งชาติ กรุงโตเกียว ในพิธีเปิดการแข่งขันวันที่ 23 กรกฎาคมอย่างเป็นทางการ และเสร็จสิ้นการแข่งขันในวันที่ 8 สิงหาคม
การวิ่งคบเพลิงครั้งนี้จะใช้เวลาทั้งหมด 121 วัน โดยมีนักวิ่งทั้งหมด 10,000 คนจากทุกภาคส่วนของสังคม ร่วมถือคบเพลิงที่ออกแบบเป็นลักษณะของดอกซากุระ ดอกไม้ประจำชาติของญี่ปุ่น ซึ่งเป็นคบเพลิงที่ผลิตจากอะลูมิเนียมรีไซเคิลเกรดเดียวกับที่ใช้ในรถไฟชินคันเซน
พิสูจน์อักษร: ชฎานิสภ์ นุ้ยฉิม
อ้างอิง: