วันนี้ (1 เมษายน) สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย สมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. …. ให้สัมภาษณ์ถึงแนวทางในการพิจารณา พ.ร.บ. ประชามติ ในวันนี้ว่า จะเป็นการพิจารณามาตราที่มีผลกระทบกับมาตรา 9 ซึ่งจากการหารือกับผู้แทนกฤษฎีกาเบื้องต้นแล้ว หลักในการพิจารณาคือจะต้องสอดคล้องกับมาตรา 9 และจะต้องพยายามหลีกเลี่ยงไม่ให้ขัดต่อรัฐธรรมนูญ และจะต้องกระทบกับมาตราที่เหลือให้น้อยที่สุด ซึ่งท้ายที่สุดแล้วการหารือร่วมกับกฤษฎีกาเบื้องต้นจึงมีการแก้ไขเพียงมาตรา 10 และ 11 เท่านั้น
สุรชัยยังกล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ. ประชามติ ที่นำเสนอเข้าที่ประชุมกรรมาธิการวิสามัญในครั้งนี้ ที่ประชุมจะร่วมกันพิจารณาเพียงมาตรา 10 และ 11 เท่านั้น ซึ่งเป็นมาตราที่มีรายละเอียดเกี่ยวกับการเสนอขอจัดทำประชามติจากมติ ครม. มติจากรัฐสภา และมติจากกฎหมายที่เกี่ยวข้องในการขอจัดทำประชามติ
นอกจากนี้ต้องยอมรับว่า พ.ร.บ. ประชามตินี้ยังมีบางประเด็นที่ยังไม่มีรายละเอียดที่เพียงพอ ซึ่งถือเป็นความยากในระดับหนึ่งที่มีโจทย์คือมาตรา 9 ตั้งไว้ จึงมีข้อจำกัดอย่างมาก เช่น ในร่างมาตรา 9 ไม่ได้ระบุจำนวนของประชาชนในการเข้าชื่อเสนอขอจัดทำประชามติว่าจะต้องใช้ประชาชนจำนวนเท่าใด
ขณะเดียวกันยังมีความกังวลว่าหลักการสำคัญ เช่น การบัญญัติจำนวนประชาชนในการเข้าชื่อขอแก้ไขกฎหมาย เช่น การแก้ไขรัฐธรรมนูญ จะต้องมีประชาชนเข้าชื่อไม่น้อยกว่า 5 หมื่นคน การเข้าชื่อเสนอร่างพระราชบัญญัติ ประชาชนต้องเข้าชื่อไม่น้อยกว่า 1 หมื่นคน ล้วนแล้วแต่บัญญัติในกฎหมายแม่ทั้งนั้น แต่ร่างพระราชบัญญัติประชามตินี้ได้ถ่ายโอนให้อำนาจ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เป็นผู้พิจารณากำหนด ซึ่งเป็นประเด็นที่จะต้องใช้เวลาในการหารือร่วมกับกรรมาธิการวิสามัญค่อนข้างนานพอสมควรว่าจะทำอย่างไรเพื่อไม่ให้ กกต. กำหนดหลักเกณฑ์และใช้ดุลยพินิจที่ไม่มีขอบเขต ซึ่งอย่างน้อยจะต้องมีข้อสังเกตแนบท้ายในร่างกฎหมายไปยัง กกต. เพื่อเป็นแนวทางในการพิจารณา
“ทั้งนี้ ยืนยันว่าประเด็นปัญหาต่างๆ ในร่างกฎหมายที่เกิดขึ้น ไม่ได้เกิดจากการรีบเร่งหรือเตะถ่วงในการพิจารณา ซึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นนั้น มาจากการพิจารณาของกรรมาธิการเสียงข้างมากที่ไม่เห็นด้วยที่จะให้รัฐสภาและประชาชนเสนอให้ออกเสียงประชามติได้ จึงไม่ได้กำหนดรายละเอียดต่างๆ ว่าจะต้องมีรายละเอียดอย่างไร” สุรชัยกล่าว
สุรชัยยังกล่าวด้วยว่า จำนวนของประชาชนที่จะเข้าชื่อเสนอให้จัดทำประชามติ ส่วนตัวเห็นว่าจะต้องไม่น้อยกว่าจำนวนที่ใช้เป็นเกณฑ์ในการเข้าชื่อแก้รัฐธรรมนูญ คือต้องไม่น้อยกว่า 5 หมื่นคน เนื่องจากการจัดทำประชามติเป็นการหาข้อยุติที่สำคัญของประเทศชาติ จึงจะต้องมีประชาชนร่วมลงชื่อกันมากพอ
อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่ากรอบในการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ประชามติ ระหว่างวันที่ 7-8 เมษายนนี้ จะสามารถพิจารณาให้แล้วเสร็จอย่างแน่นอน เนื่องจากได้รับปากกับประธานรัฐสภาไว้แล้ว จึงจะต้องยึดหลักการประชุมตามพระราชกฤษฎีกาเรียกประชุมสภาสมัยวิสามัญ
พิสูจน์อักษร: ชฎานิสภ์ นุ้ยฉิม