ราคาทองคำในระยะสั้นยังปรับลดลงต่อเนื่อง จนล่าสุด (31 มีนาคม) ราคาปรับตัวหลุดระดับ 1,700 ดอลลาร์ต่อออนซ์ มาเคลื่อนไหวที่ราวๆ 1,679 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งหากเทียบกับราคาต่ำสุดของเดือนมีนาคมที่ระดับ 1,676 ดอลลาร์ต่อออนซ์แล้ว อาจดูไม่ห่างมากนัก แต่การเคลื่อนไหวราคาเช่นนี้กำลังสะท้อนว่าทองคำยังเป็นสินทรัพย์ที่ถูกกดดันอย่างหนักตลอดเดือนมีนาคมที่ผ่านมา
วรุต รุ่งขำ ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์ บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน แอนด์ ฟิวเจอร์ส จำกัด กล่าวว่า ตั้งแต่ต้นปีจนปัจจุบัน ราคาทองคำปรับตัวลดลงราว 200 ดอลลาร์ต่อออนซ์ โดยเดือนมกราคม ลดลง 50 ดอลลาร์ต่อออนซ์, เดือนกุมภาพันธ์ 100 ดอลลาร์ต่อออนซ์ และเดือนมีนาคม 50 ดอลลาร์ต่อออนซ์
ปัจจัยกดดันราคาทองคำ แม้จะยังเป็นปัจจัยเดิม แต่มีความชัดเจนมากขึ้น โดย 2 ปัจจัยหลักที่กดดันราคาทองคำตั้งแต่ต้นปี คือ 1. อัตราผลตอบแทนพันธบัตร (บอนด์ยีลด์) สหรัฐฯ ที่ปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งล่าสุด เครดิต สวิส คาดการณ์ว่าจะได้เห็นอัตราผลตอบแทนพันธบัตสหรัฐฯ แตะ 2% ในปีนี้
โดยอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ ที่ปรับเพิ่มขึ้น มาจาก 2 สาเหตุหลัก คือ แนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของโจ ไบเดน
2. นโยบายการเงินของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ซึ่งท่าทีล่าสุดของเจ้าหน้าที่ Fed หลายคนเริ่มเอนเอียงไปในทิศทางการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ในปี 2566
“ปัจจัยกดดันราคาทองคำยังเป็นปัจจัยเดิมที่เราติดตามมาตั้งแต่ต้นปี แต่ว่ามีความชัดเจนมากขึ้น คืออัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ จะยังไต่ระดับขึ้นต่อเนื่องเพื่อสะท้อนแนวโน้มการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ และ Fed น่าจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเร็วกว่าแผน ราคาทองคำในระยะสั้น-กลางจากนี้ไป จึงยังถูกกดดันอย่างต่อเนื่อง”
นอกจากนี้ ตามข้อมูลในอดีต ราคาทองคำมักจะปรับฐานและทำราคาต่ำสุดในช่วงปลายไตรมาส 1 – ต้นไตรมาส 2 อีกด้วย
วรุตกล่าวเพิ่มว่า ปัจจัยที่ต้องติดตามต่อจากนี้คือ แหล่งที่มาของงบลงทุนโครงการโครงสร้างพื้นฐานของไบเดน มูลค่า 3 ล้านล้านดออลาร์ ว่าจะมาจากการออกพันธบัตรรัฐบาลขายเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ หรือมาจากการจัดเก็บภาษี ซึ่งจะมีการแถลงในคืนวันที่ 31 มีนาคม (ตามเวลาประเทศไทย) โดยประเมินว่าหากไบเดนใช้แหล่งเงินจากการออกพันธบัตร ราคาทองคำก็จะถูกดันต่อไป แต่หากใช้เงินจากการจัดเก็บภาษี ราคาทองคำมีแนวโน้มจะปรับตัวเพิ่มขึ้นอีกครั้ง
ในส่วนของระยะยาว วายแอลจียังเชื่อว่าราคาทองคำมีทิศทางขาขึ้นอยู่เช่นเดิม และในปีนี้ก็มีโอกาสที่จะทะลุราคาสูงสุดเดิมที่ทำไว้เมื่อปีที่แล้วที่ 2,000 ดอลลาร์ต่อออนซ์
อย่างไรก็ตาม ราคาทองคำในประเทศไทยอาจจะไม่เห็นความเคลื่อนไหวที่หวือหวา เนื่องจากในช่วงเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในทิศทางอ่อนค่า
ทั้งนี้ อิงจากสถิติย้อนหลังพบว่า จุดต่ำสุดของราคาทองคำปรับขึ้นทุกปี โดยปี 2561 ราคาทองคำขายออกในประเทศ มีจุดต่ำสุดที่ 18,050 บาทต่อบาททองคำ, ปี 2562 อยู่ที่ 19,150 บาทต่อบาททองคำ, ปี 2563 อยู่ที่ 21,350 บาทต่อบาททองคำ และปี 2564 ในเดือนมีนาคม ทำจุดต่ำสุดที่ 24,400 บาทต่อบาททองคำ
คำแนะนำการลงทุน มองแนวรับสำคัญรอบนี้อยู่ที่ 1,643-1,659 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หากราคาปรับลดลงเข้าใกล้แนวรับดังกล่าว สามารถเข้าลงทุนเพื่อปิดสถานะขายก่อนหน้าได้
ส่วนแนวต้านสำคัญอยู่ที่ 1,717 ดอลลาร์ต่อออนซ์ และหากผ่านแนวต้านได้ น่าจะไต่ระดับขึ้นไปสู่แนวต้านถัดไปที่ 1,759 ดอลลาร์ต่อออนซ์ และ 1,800 ดอลลาร์ต่อออนซ์
ณัฐพงศ์ หิรัณยศิริ ประธานบริหารกลุ่มบริษัทในเครือ MTS Gold แม่ทองสุก กล่าวว่า ราคาทองคำระยะสั้นถูกกดดันจากการขายเงินลงทุนในสินทรัพย์ปลอดภัย เพื่อนำเงินไปโปะมาร์จิ้นในพอร์ตหุ้นที่ถูกเรียกคืนจากทางโบรกเกอร์ โดยกองทุนหรือนักลงทุนที่ลงทุนด้วย Leverage สูง เช่นกรณีของ Archegos เฮดจ์ฟันด์ของสหรัฐฯ สะท้อนได้จากกองทุน SPDR ที่มีแรงขายออกมาค่อนข้างมาก ซึ่งประเมินว่าส่วนหนึ่งอาจถูก Force Sell ด้วยเช่นกัน
ทั้งนี้ เป็นธรรมชาติของสินทรัพย์ปลอดภัยและสินทรัพย์ทางเลือกอยู่แล้ว ที่มักจะถูกเทขายเพื่อนำไปเงินไปโปะมาร์จิ้นตามที่ถูกเรียกคืน จึงประเมินว่าเป็นปัจจัยกดดันราคาทองคำในระยะสั้นเท่านั้น แต่หากประเมินตามปัจจัยพื้นฐานแล้วยังคงเป็นสินทรัพย์ที่น่าลงทุนในระยะกลาง-ยาวเช่นเดิม
แนวโน้มราคาทองคำ ในระยะสั้นยังถูกกดดันจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่ผลักดันเม็ดเงินเข้าสู่ระบบต่อเนื่อง ทั้งงบก้อนเดิมมูลค่า 1.9 ล้านล้านดอลลาร์ และงบลงทุนโครงการโครงสร้างพื้นฐาน มูลค่า 3 ล้านล้านดอลลาร์ โดยสภาพคล่องที่เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจจำนวนมาก ทำให้ค่าเสื่อมของเงินเพิ่มขึ้น ซึ่งทองคำจะทำหน้าเป็นสินทรัพย์ที่ดูดซับค่าเสื่อมมูลค่าเงินที่ดี
คำแนะนำลงทุน ประเมินแนวรับสำคัญรอบนี้อยู่ที่ 1,650-1,670 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หากราคาเริ่มเข้าใกล้แนวรับนี้สามารถเข้าลงทุนได้ในระยะกลาง-ยาว ขณะเดียวกัน MTS Glod ยังเชื่อว่าในระยะยาว ราคาทองคำยังไต่ระดับไปสู่จุดสูงสุดเดิมที่ 2,000 ดออลาร์ต่อออนซ์ได้
พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล