วิรัตน์ เอื้อนฤมิต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า จากผลการสำรวจ FTI Poll ครั้งที่ 4 (มีนาคม 2564) หัวข้อ ‘ความเห็นต่อการบริหารจัดการวัคซีนโควิด-19 และการฟื้นฟูอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว’ พบว่า ผู้บริหาร ส.อ.ท. ส่วนใหญ่กังวลต่อการบริหารจัดการวัคซีนโควิด-19 ที่ยังล่าช้าและมีไม่เพียงพอ รวมถึงการฟื้นฟูเศรษฐกิจของรัฐ
ทั้งนี้ ภาคเอกชนจากผลสำรวจผู้บริหาร ส.อ.ท. (CEO Survey) จำนวน 191 ราย ใน 45 กลุ่มอุตสาหกรรม และ 74 สภาอุตสาหกรรมจังหวัด มองว่าหากภาครัฐมีการฉีดวัคซีนล่าช้าจะส่งผลอย่างมากต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย โดยแบ่งเป็น
- ความกังวลต่อการบริหารจัดการปัญหาโควิด-19 ที่ยังล่าช้าและมีจำนวนไม่เพียงพอกับประชาชน คิดเป็น 79.6%
- ความกังวลต่อการช่วยเหลือภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยว คิดเป็น 50.8%
- ความกังวลต่อการแก้ไขปัญหาปากท้องของประชาชน คิดเป็น 45.5%
ดังนั้นจึงมีข้อเสนอถึงภาครัฐว่าต้องเร่งรัดการจัดซื้อและอนุญาตนำเข้าวัคซีนให้เพียงพอ มีความชัดเจนทั้งกลุ่มเป้าหมายและระยะเวลาในการฉีดวัคซีน
รวมทั้งเปิดให้โรงพยาบาลเอกชนสามารถนำเข้าวัคซีน (ที่ได้รับการอนุญาตจาก อย.) มาบริการแก่ประชาชนได้ ขณะเดียวกันรัฐควรออกมาตรการส่งเสริมให้เอกชนสั่งซื้อวัคซีนที่ขึ้นทะเบียนกับ อย. มาฉีดให้แก่แรงงาน เช่น การนำค่าวัคซีนไปหักค่าใช้จ่ายได้ 2 เท่า การสนับสนุนค่าใช้จ่าย 50% ให้แก่สถานประกอบการ เป็นต้น
ขณะที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยที่ต้องพึ่งพาการท่องเที่ยว โดย FTI Poll พบว่า อุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวที่ควรได้รับการช่วยเหลือเร่งด่วน (ทั้งทางการเงินและวัคซีน) 3 อันดับแรก คือ อุตสาหกรรมการบิน (58.6%), อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม (55.0%), อุตสาหกรรมสินค้าอุปโภค และผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ (49.7%)
อย่างไรก็ตาม มองว่า 3 ปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลต่อการฟื้นตัวในช่วงครึ่งปีแรก 2564 ได้แก่
- จำนวนวัคซีนที่เพียงพอและความรวดเร็วในการฉีดวัคซีนให้ประชากรในประเทศ (ไม่น้อยกว่า 50%) คิดเป็น 78.0%
- กฎระเบียบในการเดินทางเข้าออกประเทศ เช่น การนำวัคซีนพาสปอร์ตมาใช้สำหรับการเดินทางเข้าออกประเทศ รวมทั้งมาตรการในการควบคุมการแพร่ระบาดภายในประเทศ คิดเป็น 72.8%
- ความเชื่อมั่นของนักท่องเที่ยวและความมั่นใจของชุมชนในแหล่งท่องเที่ยว คิดเป็น 53.9%