×

สั่งดำเนินคดีโรงพยาบาลเอกชนในสมุทรสาคร โฆษณาจองวัคซีนโควิด-19 ไม่ขออนุมัติ หวั่นมีข้อมูลไม่ถูกต้อง

โดย THE STANDARD TEAM
28.03.2021
  • LOADING...
สั่งดำเนินคดีโรงพยาบาลเอกชนในสมุทรสาคร โฆษณาจองวัคซีนโควิด-19 ไม่ขออนุมัติ หวั่นมีข้อมูลไม่ถูกต้อง

วันนี้ (28 มีนาคม) นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข ให้สัมภาษณ์ว่า รัฐบาลตั้งเป้าให้ประชาชนทุกคนได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ภายในปี 2564 เพื่อให้ประชาชนทุกคนใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุข จึงอาจมีการเผยแพร่ข้อมูลที่ไม่ถูกต้อง สร้างความเข้าใจผิดแก่ประชาชนได้ 

 

กรม สบส. ตระหนักถึงความสำคัญของปัญหาดังกล่าว จึงมอบหมายให้พนักงานเจ้าหน้าที่ของกรม สบส. เฝ้าระวังการโฆษณา หรือประกาศที่อาจก่อให้เกิดความเข้าใจผิดแก่ประชาชนอย่างใกล้ชิด โดยในช่วงวันที่ 25 มีนาคม พนักงานเจ้าหน้าที่ตรวจพบการเผยแพร่ข้อมูลผ่านสื่อโซเชียลโดยโรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งในจังหวัดสมุทรสาคร ถึงบริการรับจองฉีดวัคซีนโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 จึงเร่งประสานงานกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) สมุทรสาครตรวจสอบข้อมูล

 

โดยจากการตรวจสอบในเบื้องต้นพบว่า โรงพยาบาลเอกชนดังกล่าวไม่ได้มีการขออนุมัติโฆษณาจากผู้อนุญาต และการโฆษณาให้เข้าใจผิดจึงสั่งการให้พนักงานเจ้าหน้าที่ประสานงานกับ สสจ. สมุทรสาคร แจ้งให้โรงพยาบาลเอกชนดังกล่าวระงับการโฆษณาแล้วในวันที่ 27 มีนาคม พร้อมกับนำเรื่องเข้าคณะกรรมการเปรียบเทียบคดี พิจารณาและดำเนินการทางกฎหมายต่อไป

 

ด้าน ทพ.อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดีกรม สบส. กล่าวต่อว่า กรม สบส. ขอเน้นย้ำให้สถานพยาบาลเอกชนทุกแห่งศึกษาและปฏิบัติตามประกาศ เรื่อง ‘หลักเกณฑ์ วิธีการ เงื่อนไขและค่าใช้จ่ายในการโฆษณาหรือประกาศเกี่ยวกับสถานพยาบาล’ อย่างเคร่งครัด โดยประกาศฯกำหนดให้การกระทำไม่ว่าโดยวิธีใดๆ ให้ประชาชนเห็น ได้ยิน หรือทราบข้อความ เสียง หรือภาพ เพื่อการโฆษณาหรือประกาศอันเป็นประโยชน์ทางการค้าของสถานพยาบาล จะต้องขออนุมัติจากผู้อนุญาตคือ กรม สบส.หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดเสียก่อนจึงจะเผยแพร่ได้ ซึ่งการกำหนดให้ต้องขออนุมัติโฆษณาหรือประกาศที่เกี่ยวข้องกับสถานพยาบาลก่อนการเผยแพร่นั้นก็ถือว่าเป็นประโยชน์กับทั้งประชาชนและสถานพยาบาล หากโฆษณาผ่านการอนุมัติแล้วประชาชนก็จะมีความมั่นใจในการบริการของสถานพยาบาลว่ามิได้มีการโอ้อวดเกินจริงหรือหลอกลวง และสถานพยาบาลเองก็วางใจได้ว่าการโฆษณาหรือประกาศของตนนั้นถูกต้องตามกฎหมาย ปลอดปัญหาการฟ้องร้อง หรือดำเนินคดีจากเจ้าหน้าที่ อีกทั้งวัคซีนเป็นยา โฆษณาต้องได้รับอนุญาตจากสำนักงายคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) 

 

ขณะนี้ทาง อย. ก็มีคำสั่งให้ระงับโฆษณาตามพระราชบัญญัติยาแล้วเช่นเดียวกัน 

 

ส่วนการโฆษณาสถานพยาบาลโดยไม่ขออนุมัตินั้น ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 20,000 บาท และปรับอีกไม่เกินวันละไม่เกิน 10,000 บาทจนกว่าจะระงับการโฆษณา

 

ทั้งนี้หากประชาชนพบเบาะแสการโฆษณาโอ้อวดเกินจริงของสถานพยาบาลเอกชนในเขตกรุงเทพมหานคร สามารถแจ้งได้ทางสายด่วน กรม สบส. 1426 หรือหากอยู่ในส่วนภูมิภาคก็แจ้งได้ที่ สสจ. ในพื้นที่

 

ด้าน นพ.นเรศฤทธิ์ ขัดธะสีมา นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาคร ให้สัมภาษณ์ว่า สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสมุทรสาครได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าวแล้ว พบว่ามีการโฆษณาเปิดจองวัคซีนโควิด-19 ผ่านช่องทางเว็บไซต์และเฟซบุ๊กของสถานพยาบาลโดยไม่ได้รับอนุญาตจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด และมีการคัดลอก นำข้อมูลไปเผยแพร่ต่อยังเว็บไซต์และเฟซบุ๊กอื่นๆ จริง จึงได้ดำเนินการแจ้งให้ผู้รับอนุญาตดำเนินการสถานพยาบาลเอกชนดังกล่าวเข้าพบ และสั่งระงับการโฆษณาทันที ซึ่งสถานพยาบาลดังกล่าวยินดีให้ความร่วมมือ ยินยอมระงับการโฆษณาในทุกช่องทางแล้ว

 

ทั้งนี้กระทรวงสาธารณสุขยังไม่อนุญาตให้สถานพยาบาลทุกสังกัด รวมถึงเอกชน เปิดให้ประชาชนจองวัคซีนในทุกกรณี เนื่องจากยังอยู่ในสภาวะฉุกเฉิน หากพบเห็นการโฆษณาขอให้นำหลักฐานแจ้งมายังกระทรวงสาธารณสุข กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดที่สถานพยาบาลตั้งอยู่ทันที เพื่อป้องกันประชาชนหลงเชื่อ

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง: 

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising