×

ข้อมูลสินเชื่อกลุ่มธนาคารเดือน ก.พ. เติบโตต่ำ 0.3%MoM คาดหนุนจากสินเชื่อภาครัฐและภาคธุรกิจ

23.03.2021
  • LOADING...
ข้อมูลสินเชื่อกลุ่มธนาคารเดือน ก.พ. เติบโตต่ำ 0.3%MoM คาดหนุนจากสินเชื่อภาครัฐและภาคธุรกิจ

เกิดอะไรขึ้น:

SCBS ได้รวบรวมข้อมูลสินเชื่อกลุ่มธนาคารพาณิชย์เดือนกุมภาพันธ์ 2564 พบว่า เติบโตเล็กน้อย 0.3%MoM และเติบโต 5.6%YoY โดยการเติบโตของสินเชื่อหลักๆ มาจากยอดสินเชื่อของ KTB และ KBANK ที่มีอัตราการเติบโตแข็งแกร่งที่สุดในกลุ่มที่ 1.2%MoM สำหรับยอดสินเชื่อของ บมจ.ธนาคารกรุงเทพ (BBL), บมจ.ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) และ บมจ.ธนาคารเกียรตินาคินภัทร (KKP) มีอัตราการเติบโตที่ 0.1%MoM, 0.1%MoM และ 0.5%MoM ตามลำดับ 

 

ขณะที่ธนาคารอื่นๆ พบว่า ยอดสินเชื่อเดือนกุมภาพันธ์หดตัวลง นำโดยยอดสินเชื่อของ บมจ.ธนาคารทหารไทย (TMB) หดตัว 2.1%MoM, บมจ.ทุนธนชาต (TCAP) หดตัว 0.5%MoM, บมจ.ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป (TISCO) หดตัว 0.3%MoM และ บมจ.ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) หดตัว 0.1%MoM 

 

กระทบอย่างไร:

ในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา ราคาหุ้นกลุ่มธนาคาร (SETBANK) ปรับตัวขึ้น 7.31%MoM ปรับตัวขึ้นดีกว่า SET Index ที่เพิ่มขึ้น 4.24%MoM (ข้อมูล ณ วันที่ 23 มีนาคม 2564)

 

มุมมองระยะสั้น:

SCBS มองว่า การเติบโต MoM ของสินเชื่อกลุ่มธนาคารครั้งนี้มาจากสินเชื่อจากภาครัฐผ่านทาง KTB รวมถึงการเติบโตของสินเชื่อในกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่และ SMEs นอกจากนี้ SCBS คาดว่า แนวโน้มความต้องการสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่จะชะลอตัวลง เนื่องจากภาคธุรกิจกลับไประดมทุนผ่านการออกหุ้นกู้มากขึ้นท่ามกลางสภาวะอัตราดอกเบี้ยต่ำ รวมถึงแนวโน้มการกลับมาชำระหนี้คืนเพิ่มสูงขึ้นหลังจากสิ้นสุดมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้

 

อย่างไรก็ตาม ต้องติดตามส่วนต่างรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ (NIM) ใน 1Q64 ที่มีแนวโน้มลดลงจากผลกระทบของการลดอัตราดอกเบี้ยและการปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำในสัดส่วนที่สูงขึ้น รวมถึงติดตามทิศทาง NPL ที่ยังคงมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น

 

มุมมองระยะยาว:

SCBS คาดว่า ผลประกอบการของกลุ่มธนาคารพาณิชย์จะใช้เวลาประมาณ 3 ปี (ปี 2566) ในการฟื้นตัวสู่ระดับก่อนโควิด-19 โดยกำไรในปี 2564 กำไรจะฟื้นตัวดีขึ้น 10%YoY ซึ่งเกิดจาก OPEX ที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง แม้การตั้งสำรองยังคงอยู่ในระดับสูงเพื่อรองรับทิศทาง NPL ที่สูงขึ้น 

 

สำหรับกำไรในปี 2565 จะเติบโต 14%YoY เนื่องจากการตั้งสำรองจะเริ่มลดลง เพราะความเสี่ยงด้านคุณภาพสินเชื่อเริ่มลดลง แม้จะยังถูดฉุดรั้งด้วย NIM ที่ลดลงอย่างมากจากอัตรานำส่งเงินสมทบกองทุนฟื้นฟูที่จะปรับขึ้น 23 bps กลับสู่ระดับปกติ

 

ขณะที่ในปี 2566 ทิศทางกำไรจะเติบโต 18% กลับคืนสู่ระดับก่อนโควิด-19 (ปี 2562) เมื่อ Credit Cost ลดลงสู่ระดับปกติ และโครงสร้างต้นทุนที่ปรับตัวลดลงหลังจากการลงทุนครั้งใหญ่ในระบบดิจิทัลแบงกิ้งเป็นเวลาหลายปี

 

พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X