“คุณค่าในตัวของฉันนะ สักวันนะ จะให้ทุกๆ คนได้เห็นนะ ได้รู้นะ ว่าฉันต้องอดทน ใช้ทุกเวลา กี่ครั้งที่ฝึกฝน และใช้เรี่ยวแรงจนมากมาย ดอกมะลิดอกน้อย ค่อยๆ เรียงร้อยไป จะดูงดงามและเป็นได้เหมือนมาลัย”
นับตั้งแต่วันที่ CGM48 ได้ประกาศว่าซิงเกิลลำดับที่ 3 อย่าง มะลิ จะเป็นเพลงออริจินัลเพลงแรกของวง ที่ไม่ได้หยิบผลงานจากวงรุ่นพี่ 48 Group มาใช้เป็นซิงเกิลหลัก ก็ได้สร้างเสียงฮือฮาให้กับแฟนๆ และทำให้ทุกคนต่างเฝ้ารอวันที่จะได้ชมเพลงออริจินัลเพลงแรกของพวกเธออย่างใจจดใจจ่อ
ซึ่งพวกเธอก็ไม่ทำให้ทุกคนต้องผิดหวัง เมื่อ CGM48 ปล่อยมิวสิกวิดีโอ มะลิ ออกมาเมื่อคืนวานนี้ (21 มีนาคม) ซึ่งได้เสียงตอบรับจากแฟนๆ อย่างล้นหลาม และส่งแฮชแท็ก #CGM48มะลิ ติดเทรนด์ทวิตเตอร์อันดับที่ 1 อย่างรวดเร็ว
ตำแหน่งเซ็นเตอร์ของเพลงนี้คือคนิ้ง ซึ่งถือเป็นการรับตำแหน่งเซ็นเตอร์เป็นครั้งที่ 2 หลังจากที่เคยรับเลือกเป็นดับเบิลเซ็นเตอร์ร่วมกับสิตา ในซิงเกิลก่อนหน้าอย่าง Melon Juice
พร้อมด้วยสมาชิกเซ็มบัตสึอีก 15 คน ได้แก่ อิซึรินะ, ออม, สิตา, ปิ๊ง, มามิ้งค์, ฟอร์จูน, พิม, ปีโป้, นีนี่, แองเจิ้ล, มิลค์, นีน่า, พั้นซ์ พร้อมด้วยสองสมาชิกที่ติดเซ็มบัตสึเป็นครั้งแรก ได้แก่ เจย์ดา และแชมพู
โดยผู้อยู่เบื้องหลังออริจินัลเพลงแรกของพวกเธอครั้งนี้คือ แมน-ตนุภพ โนทยานนท์ และ ยุ่น-โพธิ์ศิวะ โสตถิพันธุ์ สองครูดนตรีแห่งบ้าน BNK48 มารับหน้าที่แต่งทำนองและเรียบเรียง และได้ M.A. มารับหน้าที่แต่งเนื้อร้อง และเพื่อให้เพลง มะลิ เป็นเพลงที่ถ่ายทอดตัวตนของ CGM48 มากที่สุด อิซึรินะจึงมารับหน้าที่โปรเจกต์โปรดิวเซอร์และร่วมออกแบบชุดเซ็มบัตสึในครั้งนี้ด้วยตัวเอง
มะลิ โดดเด่นด้วยภาคดนตรีที่ผสมผสานกลิ่นอายดนตรีไทยล้านนาและดนตรีสไตล์ J-Rock ที่นำเสนอภาพลักษณ์ของไอดอลญี่ปุ่นควบคู่ไปกับเอกลักษณ์อันโดดเด่นของภาคเหนือ เช่น เสียงเครื่องดนตรีสะล้อและซึงที่ร้อยเรียงไปกับดนตรีป๊อปร็อกได้อย่างลื่นไหล โดยเฉพาะท่อนฮุกสุดท้ายของเพลงที่มีการสลับท่อนระหว่างเสียงสะล้อ ซึง และกีตาร์ ซึ่งทำให้ภาคดนตรีมีความไพเราะและฟังสนุกยิ่งขึ้น
ไม่ใช่แค่ภาคดนตรีเท่านั้น ชุดเซ็มบัตสึที่สมาชิกทั้ง 16 คนสวมใส่ ถูกออกแบบด้วยการผสมผสานระหว่างชุดนักเรียนที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวของ BNK48 และ CGM48 เข้ากับลายผ้าทอบนชุด ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากลายผ้าทอยกดอกของทางลำพูนชื่อลายดอกมะลิ
อิซึรินะได้อธิบายเกี่ยวกับคอนเซปต์ของเพลง มะลิ ในระหว่างการไลฟ์พิเศษฉลองครบรอบ 1 ปีของวงว่า
“พอรู้ว่าซิงเกิลนี้จะเป็นออริจินัลเพลงแรกของพวกเรา รินะจึงอยากให้เป็นเพลงที่เกี่ยวกับพวกเรา และมาจากพวกเราจริงๆ รินะรู้สึกว่า CGM48 ทุกคนมีความน่ารัก เป็นธรรมชาติมากๆ ก็เลยคิดถึงดอกมะลิ เวลาที่ทุกคนมองเข้ามาจะได้เห็นว่าพวกเราเป็นดอกไม้ที่เล็กๆ น่ารัก มีความเป็นธรรมชาติ ก็เลยตั้งชื่อเพลงนี้ว่า มะลิ ค่ะ”
เนื้อหาของบทเพลงจึงทำหน้าที่ถ่ายทอดเรื่องราวของดอกมะลิที่มีสีขาวเป็นธรรมชาติ ซึ่งหากมองไกลๆ ก็อาจจะเป็นดอกไม้ธรรมดาที่ไม่ได้โดดเด่นเท่าไรนัก แต่เมื่อนำดอกมะลิที่ดูธรรมดามาเหล่านั้นร้อยเรียงรวมกันแล้วก็จะกลายเป็นมาลัยที่โดดเด่นและงดงาม
เปรียบเสมือนเรื่องราวพวกเธอทั้ง 25 คน ที่หากมองเพียงผิวเผินพวกเธออาจดูเหมือนเป็นหญิงสาวธรรมดาๆ ที่ไม่ได้โดดเด่นสะดุดตาเท่าดอกไม้ชนิดอื่นๆ
แต่เมื่อไรก็ตามที่พวกเธอได้ขึ้นไปยืนบนเวทีอย่างพร้อมหน้าพร้อมตา พวกเธอก็จะกลายเป็นมาลัยอันงดงามที่ไม่มีใครสามารถละสายตาไปจากมนต์เสน่ห์และการแสดงของพวกเธอได้
ด้านมิวสิกวิดีโอได้ สุรชาญ มั่นคงวงศ์ศิริ และ ณัฐพงศ์ อรุณเนตร ที่เคยกำกับมิวสิกวิดีโอ Warota People ของ BNK48 มานั่งแท่นผู้กำกับ ซึ่งทั้งคู่ได้ถ่ายทอดกลิ่นอายของวัฒนธรรมภาคเหนือออกมาได้อย่างสวยงามไม่แพ้ตัวเพลง
โดยเฉพาะฉากที่เซ็มบัตสึทั้ง 16 คน สวมชุดประจำภาคเหนือและแสดงการแสดงพื้นเมือง เช่น กลองสะบัดชัย, รำนกกิ่งกะหล่า ,ฟ้อนเล็บ และฟ้อนขันดอก ซึ่งพวกเธอต่างต้องฝึกซ้อมการแสดงพื้นเมืองควบคู่ไปกับการร้องและการเต้น เพื่อถ่ายทอดความงดงามของวัฒนธรรมภาคเหนือให้แฟนๆ ได้ชมผ่านมิวสิกวิดีโอ
แม้ว่า มะลิ จะอบอวลกลิ่นอายของวัฒนธรรมภาคเหนือ เพื่อถ่ายทอดเอกลักษณ์และมนต์เสน่ห์ของ CGM48 ให้ทุกคนได้รู้จัก แต่อีกหนึ่งสิ่งที่ชัดเจนยิ่งกว่าคือ ภาพของสมาชิกทุกคนที่เติบโตขึ้นจากวันแรกที่เราได้รู้จัก วันแรกที่พวกเธอเริ่มออกเดินทางบนถนนหมายเลข 106 ทั้งสีหน้า แววตา ทักษะการร้องและเต้น รวมถึงความสดใสที่เราสามารถสัมผัสได้อย่างชัดเจน ผ่านบทเพลงที่ถูกตีความและร้อยเรียงขึ้นมาจากเรื่องราวของพวกเธอทุกคน
มะลิ เพลงออริจินัลเพลงแรกของ CGM48 ได้แสดงให้เราเห็นแล้วว่า ตอนนี้พวกเธอทั้ง 25 คน ไม่ได้เป็นดอกมะลิที่เบ่งบานอยู่ภายใต้ ‘ดอกกล้วยไม้’ อีกต่อไปแล้ว
รับชมมิวสิกวิดีโอได้ที่นี่:
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล
อ้างอิง: