วานนี้ (21 มีนาคม) สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน (Human Rights Lawyers Association) เผยแพร่ข้อความชวนทนายความทั่วราชอาณาจักร และผู้ประกอบวิชาชีพทางกฎหมายทุกคน ร่วมยืนยันสิทธิในการประกันตัว ทนายอานนท์ นำภา และเพื่อนนักโทษทางความคิด
จากกรณีที่มีการดำเนินคดีกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง แกนนำราษฎร ในการชุมนุม #19กันยาทวงอำนาจคืนราษฎร ซึ่งมีการแยกฟ้องเป็นสองสำนวนคดีคือ คดีหมายเลขดำที่ อ.287/2564 มีจำเลย 4 คน ได้แก่ ทนายอานนท์ นำภา, พริษฐ์ ชิวารักษ์ หรือ เพนกวิน, ปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม หรือหมอลำแบงค์ และสมยศ พฤกษาเกษมสุข ซึ่งจำเลยทั้งหมดถูกฟ้องคดีต่อศาลตั้งแต่วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2564 ในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 ประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 ความผิดฐานฝ่าฝืนข้อกำหนดตาม พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ และข้อหาอื่นๆ และทั้งหมดถูกคุมขังระหว่างการพิจารณาคดี
ส่วนอีกสำนวนคดีหนึ่งคือคดีหมายเลขดำที่ อ.539/2564 ซึ่งมีจำเลยถูกฟ้องรวม 18 คน ในจำนวนนี้มี 3 คนคือ ปนัสยา สิทธิจิรวัฒนกุลหรือรุ้ง, จตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือไผ่ และ ภาณุพงศ์ จาดนอก หรือไมค์ ที่ถูกตั้งข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112 และถูกคุมขังระหว่างการพิจารณาคดีตั้งแต่วันที่ 8 มีนาคม 2564 ขณะที่จำเลยคนอื่นๆอีก 14 คน ซึ่งถูกตั้งข้อกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 และข้อหาฝ่าฝืนข้อกำหนดห้ามชุมนุมตาม พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ ได้รับการประกันตัวในชั้นพิจารณา ขณะที่ ไชยอมร แก้ววิบูลย์พันธุ์ หรือแอมมี่ The Bottom Blues ซึ่งเป็นหนึ่งในจำเลยที่ไม่ถูกฟ้องข้อหาตามมาตรา 112 ถูกฝากขังในชั้นสอบสวนจากคดีวางเพลิงพระบรมฉายาลักษณ์พระเจ้าอยู่หัวที่หน้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพมหานคร ตั้งแต่วันที่ 4 มีนาคม 2564 โดยต่อมาหลังจำเลยคดีการชุมนุม 19 กันยา ทวงอำนาจคืนราษฎรเริ่มถูกคุมขังระหว่างพิจารณาคดี ก็มีผู้ต้องหาคดีมาตรา 112 บางส่วนที่ถูกนำตัวไปขออำนาจศาลฝากขังในทันที
จนกว่าจะมีคำพิพากษาถึงที่สุดว่าจำเลยมีความผิด จำเลยย่อมต้องได้รับสิทธิที่จะถูกสันนิษฐานไว้ก่อนว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ และต้องได้รับสิทธิในการปล่อยตัวชั่วคราว เพื่อจำเลยจะได้สามารถต่อสู้คดีได้อย่างเต็มที่ และเป็นการปกป้องสิทธิของจำเลยที่ไม่ได้มีพฤติการณ์ที่จะหลบหนี หรือไม่มีความสามารถที่จะทำลายพยานหลักฐานอันใด ซึ่งที่ผ่านมา ได้มีการยื่นคำร้องขอประกันตัวจำเลยทั้งหมดหลายครั้ง แต่ศาลมีคำสั่งยกคำร้องขอประกันตัว โดยอ้างเหตุประการหนึ่งว่า หากได้รับการปล่อยตัว อาจไปกระทำการในทำนองเดียวกันกับที่ถูกฟ้องหรือก่อเหตุอันตรายประการอื่นอีก จึงไม่มีเหตุสมควรที่จะเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม
ถึงแม้ว่าเมื่อวันที่ 15 มีนาคม 2564 ได้มีความพยายามที่จะนำตัวผู้ต้องหาแกนนำราษฎรออกไปควบคุมนอกแดน โดยมีการพยายามมานำตัวถึง 4 ครั้งในช่วงกลางดึก และมีการอ้างเพียงว่าจะเอาตัวไปตรวจโควิด ซึ่งผิดวิสัยโดยปกติในการนำผู้ต้องขังออกนอกแดนในเวลาหลังเที่ยงคืน และกลุ่มเจ้าหน้าที่ที่มากลางดึกยังไม่ติดป้ายชื่อ ทำให้เขาเกรงว่าจะถูกนำตัวไปทำร้ายถึงชีวิต ซึ่งในวันถัดมาได้มีการยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราว โดยระบุเพิ่มเติมว่า ผู้ต้องหาอาจได้รับอันตรายถึงชีวิต หากไม่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว แต่ศาลก็มีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว โดยกล่าวว่าเหตุที่อ้างมา มิใช่เหตุผลที่ศาลมีคำสั่งไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว จึงยังไม่มีเหตุเปลี่ยนแปลงคำสั่งเดิม
ทั้งนี้ เพื่อยืนยันสิทธิขั้นพื้นฐานในกระบวนการยุติธรรม สมาคมนักกฎหมายสิทธิมนุษยชน จึงขอเชิญชวนทนายความร่วมลงชื่อเป็นส่วนหนึ่งในคำขอประกอบการประกันตัว ทนายอานนท์ นำภา และเพื่อนนักโทษทางความคิดได้ที่นี่ https://forms.gle/WKgngZerVcb9rgRG8 โดยจะปิดรับรายชื่อวันพฤหัสบดีที่ 25 มีนาคม 2564
ขณะที่ในวันจันทร์ที่ 29 มีนาคม 2564 ขอเชิญชวนผู้ประกอบวิชาชีพทางกฎหมาย นักศึกษากฎหมาย และผู้ที่สนใจมาร่วมกันอ่านแถลงการณ์ต่อกระบวนการยุติธรรม และเข้ายื่นคำขอประกันตัวเพื่อนนักโทษทางความคิด ยืนยันสิทธิขั้นพื้นฐาน และหลักการที่ร่ำเรียนมา ณ ศาลอาญา ถนนรัชดาภิเษก เวลา 11.12 น.
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์
อ้างอิง: