ทุกวันนี้เรากำลังอยู่ในโลกที่ถูกขับเคลื่อนด้วยข้อมูลหรือ Data ในการตัดสินใจต่างๆ ล้วนต้องอาศัยข้อมูลมาคิดวิเคราะห์ อย่างในสายงานที่หมอทำอยู่นั้น สายแรกคือการเป็นแพทย์ การตัดสินใจเลือกการรักษาล้วนอาศัยข้อมูลจากงานวิจัยต่างๆ ยาที่ใช้ในการรักษาโรคแต่ละประเภท มีประสิทธิภาพในการรักษาที่ต่างกันไป ต้องคิดวิเคราะห์ประกอบเข้ากับข้อมูลเฉพาะตัวของคนไข้ว่าเหมาะกับการรักษาด้วยวิธีนั้นๆ หรือไม่ จึงนำมาสู่การตัดสินใจด้วยข้อมูล
อีกสายงานหนึ่งที่หมอทำคือ งานบริหารโรงพยาบาล แน่นอนว่าต้องอาศัยข้อมูลต่างๆ ในการตัดสินใจไม่แพ้กัน ยิ่งในยุคปัจจุบันที่มีข้อมูลทั้งจากประวัติการรักษา งานวิจัย อุปกรณ์ Internet of Medical Things (IoMT) โซเชียลมีเดีย เสิร์ชเอนจิน และอีกหลายเส้นทางของข้อมูลที่หลั่งไหลมารวมกัน นำไปสู่การตัดสินใจทางธุรกิจ
หมอเชื่อว่าพวกเราหลายคนถนัดกับการนำข้อมูลมาวิเคราะห์และใช้ประโยชน์ในเรื่องงาน แต่ในด้านเรื่องส่วนตัวนั้น เรากลับไม่ค่อยให้ความสำคัญกับ Data Driven เท่าใดนัก โดยเฉพาะในเรื่องที่สำคัญกับชีวิตของเราอย่าง ‘ความรัก’ ที่เรามักปล่อย ให้สมองส่วนอารมณ์อยู่เหนือสมองส่วนเหตุผล
งานวิจัยหลายชิ้นพบว่า การมีความรักที่ดี มีความสัมพันธ์ที่มั่นคง ส่งผลดีต่อสุขภาพใจ สุขภาพกาย ประสิทธิภาพการทำงาน รวมไปถึงลดความเสี่ยงต่อการเสียชีวิต ในทางตรงข้าม ความรักที่เปราะบางในความสัมพันธ์ที่มีปัญหาเรื้อรัง ส่งผลลบต่อชีวิตในหลายด้าน เมื่อความรักมีความสำคัญไม่น้อย จึงมีนักวิจัยกลุ่มหนึ่งพยายามหาคำตอบถึง Secret Sauce (เคล็ดลับ) ของความรักที่ประสบความสำเร็จ โดยนำข้อมูลมาวิเคราะห์ได้อย่างน่าสนใจ เป็นชุดข้อมูล 43 ชุดจากการสัมภาษณ์คู่รัก 11,196 คู่ ซึ่งถูกนำมาวิเคราะห์ด้วย Machine Learning โดยใช้เทคนิค Random Forest Algorithm เพื่อหาว่าตัวแปรใดจะทำนายความสัมพันธ์ได้อย่างแม่นยำ
ผลการวิเคราะห์จาก AI พบว่า ตัวแปรที่สำคัญสุดในความสัมพันธ์ระหว่างคู่รักคือ Perceived Partner Commitment หรือความเชื่อว่าคู่รักของเรามีความจริงจังทุ่มเทให้กับความสัมพันธ์ ความรู้สึกว่าอีกฝ่ายพร้อมจะลงเรือลำเดียวกันและฟันฝ่าไปด้วยกันไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น
ตัวแปรที่มีความสำคัญรองลงมาคือ Appreciation การเห็นคุณค่าของอีกฝ่าย ดีใจที่มีคนคนนี้อยู่ในชีวิตของเรา ตัวแปรลำดับต่อมาคือ Sexual Satisfaction หรือความพึงพอใจในความสัมพันธ์บนเตียงระหว่างกัน และ Perceived Partner Satisfaction การรับรู้ว่าคู่ของเรามีความพึงพอใจในความสัมพันธ์นี้
ส่วนตัวแปรที่เป็นข้อมูลส่วนบุคคล เช่น บุคลิกภาพ ความพึงพอใจในชีวิต รายได้ อายุกลับไม่ได้มีผลมากเท่ากับตัวแปรที่เป็นความเชื่อมั่นหรือการเห็นคุณค่าระหว่างกัน นั่นหมายความว่าลักษณะภายนอก บุคลิกภาพ หรือคุณสมบัติภายนอกต่างๆ อาจเป็นตัวแปรที่นำไปสู่การเริ่มต้นความสัมพันธ์ แต่การยั่งยืนและประสบความสำเร็จในความสัมพันธ์ระยะยาวนั้นขึ้นกับความรู้สึกที่มีระหว่างกัน และการแสดงออกให้อีกฝ่ายได้รับรู้มากกว่า
เมื่ออ่านงานวิจัยชิ้นนี้จบลง หมอนึกไปถึงครั้งหนึ่งที่เคยมีปัญหาเรื่องความรัก และได้ปรึกษาเพื่อนสนิทที่แต่งงานและมีความสัมพันธ์ที่ดีมากมายาวนานเกินสิบปี เพื่อนแชร์ว่า สำหรับเขานั้น Mindset ที่สำคัญมากในเรื่องชีวิตคู่คือ “ความเชื่อระหว่างกันว่าไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ไม่ว่าอะไรจะเปลี่ยนแปลงก็จะไม่ทิ้งกันไป” ซึ่งตรงกับตัวแปร Perceived Partner Commitment จากงานวิจัยเป๊ะ!
สรุปแล้วงานวิจัยที่พยายามใช้ข้อมูลมาวิเคราะห์ด้วย AI เพื่อหาตัวแปรสำคัญในเรื่องความรักกลับได้คำตอบว่า เมื่อตัดสินใจแล้วว่าจะรักใครสักคนและสร้างความสัมพันธ์ให้ยั่งยืน ตัวเราเป็นใคร มีนิสัยอย่างไร ไม่สำคัญเท่าเรารู้สึกกับอีกฝ่ายอย่างไร เชื่อมั่นและเห็นคุณค่าในกันและกันมากแค่ไหน Commitment และ Appreciation คือตัวแปรสำคัญของความสัมพันธ์ที่ประสบความสำเร็จ
ภาพ: shutterstock
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า
อ้างอิง:
- Joel, Samantha et al. “Machine learning uncovers the most robust self-report predictors of relationship quality across 43 longitudinal couples studies.”
- Proceedings of the National Academy of Sciences of the United States of America vol. 117,32 (2020): 19061-19071. doi:10.1073/pnas.1917036117