วัคซีน AstraZeneca มีประสิทธิภาพต่อเชื้อโควิด-19 สายพันธ์ุแอฟริกาใต้ (B.1.351) เพียง ‘10.4%’ เมื่อนักวิจัยพบว่าวัคซีน ‘ไม่มีประสิทธิภาพ’ ต่อเชื้อที่กลายพันธ์ุ ก็ยอมรับอย่างตรงไปตรงมาผ่านการเผยแพร่ในวารสารวิชาการแพทย์เมื่อวันที่ 18 มีนาคม 2564 ที่ผ่านมา
ถึงแม้ว่าก่อนหน้านี้จะมีข่าวประเทศแอฟริกาใต้ระงับการฉีดวัคซีนของบริษัทนี้ออกมา ซึ่งเพียงพอที่จะบอกถึงประสิทธิภาพของวัคซีนแล้ว แต่ข่าวก็ไม่น่าเชื่อถือเท่ากับการตีพิมพ์
‘วัคซีนเป็นวิทยาศาสตร์ แต่การจัดหาวัคซีนเป็นการเมือง’ ประสิทธิภาพของวัคซีนสามารถพิสูจน์ได้ แต่เมื่อผลการศึกษาเป็นเช่นนี้ และการหยุดทบทวนอาการรุนแรงหลังจากไดัรับวัคซีน ทำให้ต้องเลื่อนฉีดวัคซีนมาแล้วครั้งหนึ่ง ความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในประเทศไทยต่อจากนี้มีอะไรบ้าง
ประสิทธิภาพต่อเชื้อที่กลายพันธุ์
ผลการศึกษาประสิทธิภาพของวัคซีน AstraZeneca ที่กล่าวถึงมาจากทดลองในอาสาสมัครอายุ 18-65 ปี ที่แอฟริกาใต้ ระหว่าง 24 กรกฎาคม – 9 พฤศจิกายน 2563 วัดผลการติดเชื้อโควิด-19 ที่มีอาการหลังจากได้รับวัคซีนครบเกิน 2 สัปดาห์ (วัคซีนฉีด 2 โดส ห่างกัน 3-5 สัปดาห์)
พบว่าโดยภาพรวมวัคซีนมีประสิทธิภาพ 10.6% และแยกตามประเภทของผู้รับวัคซีน และสายพันธ์ุ ดังนี้
- 21.9% ในผู้ที่ไม่เคยติดเชื้อมาก่อน
- 10.4% ต่อสายพันธ์ุแอฟริกาใต้ ในผู้ที่ไม่เคยติดเชื้อมาก่อน*
- 75.4% ก่อนที่สายพันธ์ุแอฟริกาใต้จะระบาด (วิเคราะห์ในผู้ที่ได้รับวัคซีน 1 โดส จนถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2563)
- *แต่สรุปไม่ได้ว่าป้องกันอาการรุนแรงหรือไม่ เพราะไม่พบผู้ป่วยอาการรุนแรง ทั้งในกลุ่มที่ได้วัคซีนและกลุ่มทดลอง
เทียบกับประสิทธิภาพของวัคซีนที่เคยตีพิมพ์เมื่อ 4 เดือนก่อนคือ 70.4% (62.1-90.0%) ก็ถือว่าต่างกันมากจนทำให้เกิดความกังวลว่า ‘แผนการฉีดวัคซีนให้ครอบคลุม 50% ภายในสิ้นปี 2564’ จะทำให้สามารถควบคุมการระบาด หรืออย่างน้อยจะสามารถเปิดประเทศได้อีกครั้งหรือไม่
แต่ถ้าเปรียบเทียบกับวัคซีนชนิดหรือ ‘แฟลตฟอร์ม’ ที่ใช้ไวรัสเป็นตัวพา (Viral Vector) เหมือนกัน แต่เป็นของบริษัทอื่น เช่น วัคซีน Johnson & Johnson มีประสิทธิภาพป้องกันอาการปานกลางถึงรุนแรงต่อสายพันธุ์แอฟริกาใต้ 57% และป้องกันอาการรุนแรง 89%
ส่วนแฟลตฟอร์มอื่น เช่น วัคซีน Novavax เป็นวัคซีนชนิดซับยูนิต (Subunit) มีประสิทธิภาพป้องกันอาการเล็กน้อยจนถึงรุนแรงในการทดลองเฟส 2 ที่แอฟริกาใต้ 60% (สื่อบางสำนักนำเสนอตัวเลข 49.4% เป็นการวิเคราะห์รวมประชากรที่ติดเชื้อไวรัสเอชไอวีด้วย) ลดลงจากประสิทธิภาพ 89.3% ในเฟส 3 ที่สหราชอาณาจักร
ในขณะที่วัคซีนชนิดเอ็มอาร์เอ็นเอ (mRNA) อย่าง Pfizer และ Moderna นักวิจัยทดลองนำตัวอย่างเลือดจากผู้ที่ได้รับวัคซีนมาทดสอบการต่อต้านสายพันธุ์แอฟริกาใต้ในหลอดทดลอง พบว่ามีประสิทธิภาพลดลง 6.5 และ 8.6 เท่าตามลำดับ ซึ่งยังไม่สามารถสรุปได้ว่าจะมีประสิทธิภาพในคนหรือไม่
อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้อย่างน้อย 3 บริษัทกำลังพัฒนาวัคซีนของตัวเองให้สามารถป้องกันสายพันธุ์แอฟริกาใต้ได้ ในอนาคตก็น่าจะเหมือนวัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่ต้องฉีดเป็นประจำทุกปี หรือแม้กระทั่งอาจรวมเป็นเข็มเดียวกัน ฉีดรอบเดียวป้องกันได้ทั้ง 2 โรคก็ได้ยินมาว่ากำลังมีผู้คิดค้นอยู่
โควิด-19 สายพันธุ์แอฟริกาใต้
ไวรัส SARS-CoV-2 ที่เป็นสาเหตุของโควิด-19 มีการกลายพันธุ์ตลอดเวลา สายพันธุ์แอฟริกาใต้ก็เป็นหนึ่งในนั้น นักวิทยาศาสตร์ได้จัดกลุ่มและตั้งรหัสให้ว่า B.1.351 (20H/501Y.V2) ค้นพบครั้งแรกในเขตเนลสัน มันเดลา เบย์ แอฟริกาใต้ในเดือนตุลาคม 2563
พบการกลายพันธุ์ 21 ตำแหน่ง เป็นตำแหน่งหนามของไวรัส (Spike) ซึ่งใช้ในการจับกับเซลล์ของร่างกาย จำนวน 9 ตำแหน่ง ทำให้มีความสามารถในการหลบภูมิคุ้มกันต่อสายพันธุ์เดิมได้ แต่ยัง ‘ไม่มี’ ข้อมูลสนับสนุนว่าสายพันธ์ุนี้แพร่ระบาดได้เร็วขึ้น หรือมีความรุนแรงมากขึ้น
ภาพการกระจายของสายพันธ์ุ B.1.351
(อ้างอิง: Pangolin)
ปัจจุบันพบสายพันธ์ุแอฟริกาใต้ กระจายใน 48 ประเทศทั่วโลก รวมถึงบังกลาเทศ สิงคโปร์ มาเลเซีย ส่วนไทย (ในแผนที่เป็นสีเขียวอ่อน) เคยมีรายงานผู้ป่วย 1 ราย ตรวจพบในสถานกักกันโรคของรัฐ (State Quarantine) เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์ แต่ยังไม่มีการระบาดในชุมชน
ความเสี่ยงของประเทศไทย
ในอนาคตมีการเปิดประเทศมากขึ้น (ไม่เฉพาะไทย) ย่อมทำให้มีโอกาสเกิดการแพร่กระจายของสายพันธ์ุนี้ไปทั่วโลกเหมือนการระบาดในช่วงแรก ไทยซึ่งต้องพึ่งพาการท่องเที่ยวก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่าต้องมีการระบาดของสายพันธ์ุแอฟริกาใต้เข้ามาอย่างแน่นอน เพียงแต่จะช้าหรือเร็วเท่านั้น
เป้าหมายในการควบคุมโรคจึงน่าจะเป็นการลดผลกระทบ (Mitigation) มากกว่าการลดความเสี่ยงให้เป็น 0% ซึ่งจากการแถลงข่าวของ ศบค. ในวันที่ 19 มีนาคม ก็ค่อนข้างชัดเจนว่าไทยเลือกเดินในแนวทางนี้ ไม่ว่าจะการผ่อนคลายมาตรการภายในประเทศ และการลดวันกักตัว
การลดวันกักตัวจาก 14 วันเหลือ 10 วันมีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์รองรับ โดยใช้แบบจำลองทางคณิตศาสตร์พบว่า หากกักตัว 10 วัน โดยไม่ตรวจหาเชื้อเลย จะมีความเสี่ยงที่จะแพร่เชื้อหลังจากพ้นกักตัว 1% แต่ถ้ามีการตรวจหาเชื้อร่วมด้วยก็น่าจะทำให้ความเสี่ยงลดลงอีก
สำหรับผู้เดินทางมาจากประเทศในทวีปแอฟริกาใต้ การคงจำนวนวันกักตัว 14 วันไว้เหมือนเดิมเป็นแนวคิดหนึ่งของกระทรวงสาธารณสุข แต่ในขณะนี้สายพันธุ์แอฟริกาใต้เริ่มกระจายนอกพื้นที่ระบาดแล้ว มาตรการนี้จึงช่วย ‘ชะลอ’ การระบาดของสายพันธ์ุใหม่ไปอีกระยะหนึ่ง
ปัจจัยสำคัญคือ ‘วัคซีน’ เพราะถึงแม้วัคซีนแต่ละชนิดจะมีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อต่างกัน แต่สิ่งที่เหมือนกันคือ การป้องกันอาการรุนแรงหรือเสียชีวิต ซึ่งเป็นสิ่งที่เรากลัวมาตั้งแต่แรกว่าจะมีผู้ป่วยล้นโรงพยาบาล ส่วนอาการป่วยเล็กน้อยในอนาคตก็น่าจะรักษาเหมือนไข้หวัดธรรมดา
ขณะนี้ไทยมีวัคซีนโควิด-19 อยู่ 2 ชนิด คือวัคซีน Sinovac ซึ่งมีประสิทธิภาพป้องกันการติดเชื้อในบราซิล 50.4% (สายพันธ์ุที่ระบาดในบราซิลคือ P.1 มีความใกล้เคียงกับสายพันธุ์แอฟริกาใต้) แต่ยังไม่ตีพิมพ์ผลการศึกษา และวัคซีน AstraZeneca ที่กล่าวถึงมาตั้งแต่ต้น
ความเสี่ยงจากการไม่กระจายจองวัคซีน หรือขาด ‘ความหลากหลาย’ ของชนิดและแหล่งผลิตเริ่มเห็นภาพชัดขึ้น แต่ในระยะสั้นความเสี่ยงนี้ยังน้อยอยู่ เพราะสายพันธ์ุที่ระบาดในไทยตอนนี้เป็นสายพันธ์ุที่เริ่มต้นมาจากอินเดียและเมียนมา วัคซีนที่จองไว้น่าจะยังมีประสิทธิภาพอยู่
นอกจากนี้ ‘ความครอบคลุม’ ของวัคซีน ซึ่ง สธ. กำหนดไว้เพียง 50% ของประชากรทั้งหมด ก็ไม่ได้มีการอธิบายประชาชนว่าทำไมถึงต้องเป็นสัดส่วนเท่านี้ (ผมคิดว่าน่าจะอ้างอิงจากระดับภูมิคุ้มกันหมู่ของโควิด-19 คือ 50-67% แต่ยังต้องคำนึงถึงประสิทธิภาพของวัคซีนด้วย)
ส่วน ‘ไทม์ไลน์’ ในการฉีดวัคซีน 63 ล้านโดส สธ. กำหนดไว้ว่าจะเสร็จภายในสิ้นปี 2564 ด้วยอัตราแห่งละ 500 โดสต่อวัน x โรงพยาบาล 1,000 แห่ง ซึ่งขณะนี้ (ณ 18 มีนาคม 2564) ดำเนินการฉีดไปแล้วประมาณ 63,000 คน เฉลี่ย 3,300 โดสต่อวัน แต่ถือว่ายังต่ำกว่าเป้าหมาย
และในกรุงเทพฯ ถึงแม้จะจัดสรรให้พื้นที่ฝั่งตะวันตกตั้งแต่แรก (ก่อนจะมีการระบาดที่ตลาดในย่านบางแค เพราะมีพื้นที่ติดกับสมุทรสาคร) ยังฉีดไปไม่ถึง 1 ใน 5 ของวัคซีนที่ได้รับจัดสรร ซึ่งโฆษก ศบค. ยอมรับว่ามีปัญหาประชาชนกลุ่มเสี่ยงมีความลังเลที่จะรับการฉีดวัคซีน
ในขณะที่ถ้าภาคเอกชนต้องการเปิดประเทศเร็วขึ้นก็ต้องเร่งฉีดวัคซีนให้ครอบคลุม โดยเฉพาะในจังหวัดท่องเที่ยว และกลุ่มเป้าหมายน่าจะเป็นผู้ประกอบอาชีพใกล้ชิดนักท่องเที่ยวที่มีโรคประจำตัว เช่น พนักงานห้างสรรพสินค้า พนักงานสถานบันเทิง เพื่อป้องกันการติดเชื้อรุนแรง
ความท้าทายต่อผู้กำหนดนโยบาย
การกลายพันธุ์ของไวรัส และประสิทธิภาพของวัคซีนที่ลดลงเป็นสิ่งที่สามารถคาดการณ์ได้ และผลการศึกษาที่ตีพิมพ์เมื่อเร็วๆ นี้ก็ยืนยันสิ่งที่หลายคนคาดคิดไว้ ผมประเมินว่าในระยะสั้นไทยมีความเสี่ยง ‘ต่ำ’ ต่อสายพันธ์ุแอฟริกาใต้ แต่มีความเสี่ยง ‘สูง’ ในระยะยาว
การป้องกันการระบาดของสายพันธ์ุใหม่มีทั้งมาตรการที่ใช้มาตั้งแต่แรก ได้แก่ การเฝ้าระวังในผู้ที่เดินทางมาจากพื้นที่เสี่ยง การกักตัว การสอบสวนโรคและติดตามผู้สัมผัสเสี่ยงสูง และมาตรการใหม่อย่างการเฝ้าระวังสายพันธ์ุที่ระบาดภายในประเทศ และการฉีดวัคซีน
‘วัคซีนเป็นวิทยาศาสตร์ แต่การจัดหาวัคซีนเป็นการเมือง’ สิ่งที่เหมือนกันในวัคซีนทุกชนิดอีกอย่างหนึ่งคือ ประสิทธิภาพต่อสายพันธุ์แอฟริกาใต้ที่ลดลง ขณะนี้ทุกบริษัทน่าจะกำลังปรับปรุงวัคซีนต่อสายพันธ์ุใหม่ ผู้ที่เคยได้รับวัคซีนไปแล้วในช่วงแรกก็น่าจะต้องได้รับการฉีดซ้ำอีกรอบ
การจัดหาวัคซีนมีปัจจัยหลายอย่างที่ต้องคำนึงถึง ตั้งแต่ความปลอดภัย ประสิทธิภาพ การเก็บรักษาและการขนส่ง กลุ่มเสี่ยง พื้นที่เป้าหมาย งบประมาณ รวมถึงประโยชน์ที่จะได้รับนอกเหนือจากด้านการแพทย์ด้วย สิ่งที่ประชาชนจับตาดูอยู่คือ ‘แผนการจัดหาวัคซีน’ จะมีการปรับเปลี่ยนหรือไม่?
พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล
อ้างอิง:
- เพจศูนย์ข้อมูล COVID-19
- Safety and efficacy of the ChAdOx1 nCoV-19 vaccine (AZD1222) against SARS-CoV-2: an interim analysis of four randomised controlled trials in Brazil, South Africa, and the UK https://www.thelancet.com/journals/lancet/article/PIIS0140-6736(20)32661-1/fulltext
- Efficacy of the ChAdOx1 nCoV-19 Covid-19 Vaccine against the B.1.351 Variant https://www.nejm.org/doi/full/10.1056/NEJMoa2102214
- Novavax COVID-19 Vaccine Demonstrates 89.3% Efficacy in UK Phase 3 Trial https://ir.novavax.com/news-releases/news-release-details/novavax-covid-19-vaccine-demonstrates-893-efficacy-uk-phase-3
- Pfizer says South African variant could significantly reduce protective antibodies https://www.reuters.com/article/us-health-coronavirus-vaccines-variants-idUSKBN2AH2VG
- Emerging SARS-CoV-2 Variants https://www.cdc.gov/coronavirus/2019-ncov/more/science-and-research/scientific-brief-emerging-variants.html
- B.1.351 https://cov-lineages.org/global_report_B.1.351.html
- Investigation of SARS-CoV-2 variants of concern in England https://assets.publishing.service.gov.uk/government/uploads/system/uploads/attachment_data/file/961299/Variants_of_Concern_VOC_Technical_Briefing_6_England-1.pdf
- Herd Immunity and Implications for SARS-CoV-2 Control https://jamanetwork.com/journals/jama/fullarticle/2772167