กลับจากที่ทำงานมาเหนื่อยๆ เมื่อยล้าไปหมดทั้งตัว แต่เมื่อตกกลางคืนกลับตาสว่าง ทำโน่นทำนี่หลายอย่างจนไม่หลับไม่นอน ตัดภาพมาอีกทีก็เช้าแล้ว จริงๆ เราอาจไม่ได้เป็นโรคนอนไม่หลับ แต่พยายามจะ ‘แก้แค้น’ ให้กับช่วงกลางวันที่ไม่มีเวลาทำอะไรที่อยากทำเลยต่างหาก
เพราะกลางวันไม่มีเวลา จึงต้องขโมยมันกลับมาในตอนกลางคืน
ชวนคนนอนดึกมารวมตัวกันตรงนี้ เคยถามตัวเองไหมว่าทำไมกิจกรรมหลายๆ อย่างที่เราทำตอนดึกๆ เราถึงไม่ทำในตอนกลางวันแทน?
หลายคนคงจะบอกว่า ก็เพราะในตอนกลางวันเรายุ่งเกินกว่าจะทำกิจกรรมเหล่านั้นยังไงล่ะ ด้วยภาระหน้าที่ที่อาจจะกินเวลายาวนานจนถึงเวลากลางคืน ทำให้เราอดดูซีรีส์ อ่านหนังสือ หรือเล่นเกมที่เราชอบ จึงต้องยกสิ่งเหล่านี้มาทำตอนดึกแทน
นักจิตวิทยาเรียกมันว่า Revenge Bedtime Procrastination หรือ ‘การผัดเวลานอนเพื่อล้างแค้น’ หรือเรียกสั้นๆ ว่า Bedtime Procrastination ก็ได้
การผัดเวลานอน จริงๆ ไม่ใช่การนอนไม่หลับ แต่เป็นการที่เรา ‘เลือกที่จะไม่นอน’ เองแต่แรก เพราะอยากทำหลายสิ่งหลายอย่างเต็มไปหมด โดยปรากฏการณ์นี้มักจะเกิดขึ้นกับคนที่ไม่สามารถควบคุมเวลาในช่วงกลางวันได้ พวกเขาต้องเผชิญกับเหตุการณ์ที่คาดเดายาก เช่น จู่ๆ ก็มีงานงอก ทำให้เลิกงานไม่ตรงเวลา หรือรถติดหลายชั่วโมง ทำให้กลับบ้านดึก จึงเป็นอีกเหตุผลที่หลายคนใช้เวลาช่วงกลางคืนกันอย่างบ้าคลั่ง เพราะพวกเขาต้องการทวงเวลาที่เสียไปคืนมานั่นเอง
นักจิตวิทยาได้อธิบายเพิ่มเติมว่า การผัดเวลานอนคือการชดเชยประเภทหนึ่ง เป็นกลยุทธ์จากจิตวิทยาที่ช่วยให้ผู้คนเปลี่ยนทิศทางความผิดหวัง และความไม่มั่นคงในชีวิตของตัวเองได้
โดยเฉพาะในช่วงโรคระบาดโควิด-19 บางคนอาจต้องทำงานที่บ้าน ทำให้เส้นแบ่งเวลาทำงานและเวลาส่วนตัวจางลง จนไม่รู้ว่าควรทำงานถึงกี่โมงกันแน่ และเสียเวลาช่วงกลางวันไปโดยไม่ได้ทำอะไร เกิดเป็นความล้มเหลวในการควบคุมตัวเอง (Self-Control) ซึ่งปัจจัยนี้ก็ทำให้ผู้คนเกิดความเครียด โดยจากการเก็บข้อมูลของ American Psychological Association พบว่า ผู้คนกว่า 40% จาก 13 ประเทศ เผชิญกับปัญหาการหลับนอนในช่วงโรคระบาด
ผลของการแก้แค้นที่วกกลับมาทำร้ายตัวเอง
แม้ว่าการอดหลับอดนอนจะทำให้เรามีเวลาเหลือเฟือที่จะดูซีรีส์จนสะใจ หรือได้อ่านหนังสือที่ดองไว้จนครบทุกเล่มก็จริง แต่อย่าลืมว่าเวลาส่วนที่เราหยิบยืมมานั้น มันคือเวลาพักผ่อนที่มนุษย์ทุกคนควรได้รับ เพื่อที่จะปรับร่างกายและจิตใจให้มีความสมดุลอยู่ตลอดเวลา
แต่เมื่อจำนวนชั่วโมงในการพักผ่อนหายไป ร่ายกายและจิตใจไม่สามารถฟื้นฟูได้อย่างเต็มที่ จึงส่งผลให้เกิดโรคทางสุขภาพตามมา และส่งผลกระทบเชิงลบต่อการรับรู้ ความคิด ความทรงจำ และการตัดสินใจในชีวิตประจำวันด้วย เช่น ภูมิคุ้มกันในร่างกายอ่อนแอลง รู้สึกเหนื่อยล้าระหว่างวัน หรืออารมณ์แปรปรวน
โดยเฉพาะอย่างยิ่งการอดนอนเพื่อจ้องมือถือ จ้องคอมพิวเตอร์ หรือเล่นโซเชียลมีเดีย เพราะอย่างที่รู้กันว่าแสงสีฟ้า (Blue Light) จากหน้าจอ มีส่วนในการยับยั้งการผลิตฮอร์โมนเมลาโทนิน (Melatonin) ซึ่งเป็นฮอร์โมนที่มีหน้าที่ควบคุมการหลับและการตื่นของเรา และเมื่อฮอร์โมนนี้ลดลง จะทำให้เราเกิดเป็นวงจรการนอนไม่หลับไปเรื่อยๆ จนยากจะแก้ไข
และถ้าใครคิดว่าตัวเองกำลังเผชิญหน้ากับการผัดเวลานอนอยู่ เว็บไซต์ Sleep Foundation แนะนำว่า ให้รักษาเวลาเข้านอนและเวลาตื่นให้สม่ำเสมอ (แม้จะเป็นวันที่ไม่ต้องออกไปทำงาน) หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์หรือคาเฟอีนในช่วงบ่ายหรือเย็น หยุดใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ก่อนนอนอย่างน้อยครึ่งชั่วโมงหรือนานกว่านั้น และพยายามควบคุมกิจวัตรประจำวันให้มั่นคงมากที่สุดเท่าที่จะทำได้
หรือถ้าอยากทำกิจกรรมอะไรสักอย่าง ลองเลือกกิจกรรมที่ผ่อนคลาย เช่น อ่านหนังสือ นั่งสมาธิ หรือยืดกล้ามเนื้อเบาๆ จะทำให้นอนหลับง่ายขึ้น เป็นกิจกรรมที่ช่วยลดความเครียดได้อีกด้วย และสภาพแวดล้อมในห้องนอนก็มีส่วนสำคัญ พยายามให้ห้องมืดและเงียบที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ รวมถึงใส่เสื้อผ้าที่โปร่งสบาย ไม่อึดอัด ก็จะช่วยให้นอนหลับง่ายยิ่งขึ้น
แต่ถ้าใครรู้สึกว่าเป็นเรื่องยากที่จะกลับมานอนตามเวลาปกติ ลองปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญดูก็ไม่เสียหาย เพราะสุดท้ายแล้วการนอนหลับอย่างเพียงพอ อย่างไรก็ดีต่อสุขภาพใจและสุขภาพกายมากกว่าอยู่แล้ว
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์
อ้างอิง: