ผลการศึกษาล่าสุดที่ผ่านกระบวนการพิจารณาตรวจสอบ (Peer Review) และตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ New England Journal of Medicine ชี้ว่า วัคซีนของ Oxford-AstraZeneca ช่วยป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ B.1.351 แบบที่มีอาการอ่อนถึงปานกลางได้เพียงร้อยละ 10.4 เท่านั้น ซึ่งไวรัสสายพันธุ์ดังกล่าวก็คือสายพันธุ์ที่พบครั้งแรกในแอฟริกาใต้
คณะผู้ศึกษาได้ทดสอบกับผู้ที่มีผลตรวจเชื้อ HIV เป็นลบจำนวน 2,026 ราย กลุ่มตัวอย่างมีอายุระหว่าง 18 ถึงน้อยกว่า 65 ปี และค่าอายุมัธยฐานอยู่ที่ 30 ปี ครึ่งหนึ่งของกลุ่มตัวอย่างจะได้รับยาหลอกอย่างน้อยหนึ่งโดส และอีกครึ่งหนึ่งจะได้รับวัคซีนอย่างน้อยหนึ่งโดส จากนั้นจะทำการวิเคราะห์ผลจากกลุ่มตัวอย่างที่เข้าเกณฑ์ที่กำหนด
อย่างไรก็ตาม ไม่พบว่ามีกลุ่มตัวอย่างที่ติดเชื้อรุนแรงหรือต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มที่ได้รับวัคซีนสองโดสหรือกลุ่มที่ได้รับยาหลอกก็ตาม และหากพิจารณาประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 แบบที่มีอาการอ่อนถึงปานกลางแบบที่ไม่จำเป็นต้องเป็นสายพันธุ์ B.1.351 เท่านั้น ผลก็คือวัคซีน Oxford-AstraZeneca จะมีประสิทธิภาพอยู่ที่ร้อยละ 21.9
สำนักข่าว Bloomberg ชี้ว่า การศึกษาดังกล่าวยังไม่ได้ตอบคำถามที่สำคัญถึงการป้องกันการติดเชื้อขั้นรุนแรงหรือการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล ส่วนหนึ่งก็มาจากการที่ผู้เข้าร่วมในการศึกษาครั้งนี้มีอายุค่อนข้างน้อย ทำให้มีแนวโน้มที่จะได้รับผลกระทบน้อยกว่าจากติดเชื้อนั่นเอง
ด้านอาการไม่พึงประสงค์นั้น ผลการศึกษาระบุว่า พบเพียงอย่างเดียวคือการมีไข้สูงหลังจากการได้รับวัคซีนโดสแรก ซึ่งเป็นอาการนอกเหนือไปจากที่มีการพบภาวะลิ่มเลือดอุดตันที่เริ่มมีคำยืนยันจากผู้ที่เกี่ยวข้องว่าไม่เกี่ยวกับการให้วัคซีนดังกล่าว
ทั้งนี้แอฟริกาใต้หยุดการแจกจ่ายวัคซีนของ Oxford-AstraZeneca ไว้ชั่วคราว หลังจากมีการเปิดเผยข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับการศึกษานี้ออกมาเมื่อเดือนที่แล้ว ก่อนที่ผลการศึกษาอย่างละเอียดจะได้รับการเผยแพร่เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา
ส่วน Moderna ผู้ผลิตวัคซีนอีกรายก็ระบุเมื่อเดือนที่แล้วว่ากำลังอยู่ระหว่างศึกษาแนวทางในการให้วัคซีนโดสกระตุ้นเพื่อรับมือกับเชื้อก่อโรคโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ๆ เช่นกัน
ภาพ: Jean-Christophe Guillaume / Getty Images
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า
อ้างอิง: