×

เจาะคลัสเตอร์ตลาดบางแค จุดเริ่มต้นอยู่ตรงไหน กระทบกับสงกรานต์หรือไม่

16.03.2021
  • LOADING...
เจาะคลัสเตอร์ตลาดบางแค จุดเริ่มต้นอยู่ตรงไหน กระทบกับสงกรานต์หรือไม่

HIGHLIGHTS

4 mins. read
  • สำหรับคลัสเตอร์นี้ ผู้ป่วยรายแรกที่ได้รับรายงาน (Index Case) เป็นผู้ชาย อายุ 21 ปี เจ้าของแผงไข่ไก่ และเป็นเจ้ามือแชร์ ต้องเดินไปรอบตลาดเพื่อเก็บเงิน เริ่มป่วยวันที่ 1 มีนาคม ด้วยอาการไข้ ไอ จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส ไปตรวจที่โรงพยาบาลวันที่ 5 มีนาคม ผลพบเชื้อโควิด-19
  • ภาพเก่าของคลัสเตอร์ตลาดไม่ว่าจะที่สมุทรสาคร หรือปทุมธานี ย้อนกลับมาอีกครั้ง ปัจจัยเสี่ยงที่ ศบค. แถลงไม่แตกต่างจากครั้งก่อน กล่าวคือ การไม่สวมหน้ากากอนามัยหรือสวมไม่เหมาะสม เช่น สวมไว้ใต้คาง แต่ที่สำคัญคืออากาศไม่ถ่ายเท และอยู่ในพื้นที่นั้นเป็นระยะเวลานาน
  • วันที่ 13 มีนาคม วันเดียวกันกับข่าวคลัสเตอร์นี้ แต่เมื่อปีที่แล้ว แมทธิว ดีนประกาศว่าตนเองติดโควิด-19 จนทำให้ตรวจเจอ ‘คลัสเตอร์สนามมวย’ หลายคนกังวลว่าสงกรานต์ปีนี้ที่มีข่าวว่าจะผ่อนคลายจะกลายเป็นถูกยกเลิกอีกหรือไม่ แต่สิ่งที่ต่างกันคือ ความสามารถในการตรวจคัดกรองเชิงรุก

ก่อนจะมีข่าวคลัสเตอร์ตลาดในย่านบางแค เรารู้ว่ากรุงเทพฯ ยังพบผู้ป่วยโควิด-19 อยู่อย่างต่อเนื่อง แต่รู้แค่ ‘จำนวน’ ผู้ป่วยรายใหม่รายวัน เช่น เพจ ‘ศูนย์ข้อมูล COVID-19’ รายงานเมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2564 ว่ากรุงเทพฯ พบผู้ป่วย 13 ราย แบ่งเป็นสัญชาติไทย 12 ราย และเมียนมา 1 ราย

 

ทว่าเรากลับไม่รู้ ‘ความเชื่อมโยง’ เลยว่าผู้ป่วยแต่ละรายเกี่ยวข้องกันอย่างไร เชื่อมโยงกับคลัสเตอร์ก่อนหน้าหรือไม่ (อาจอยู่ระหว่างการสอบสวน) หรืออย่างน้อยเราก็ควรรู้ว่า ‘พื้นที่เสี่ยง’ ที่ผู้ป่วยเดินทางไปคือที่ไหนบ้าง แต่เรากลับไม่รู้เลยว่าผู้ป่วยอาศัยหรือทำงานอยู่ในเขตใด 

 

นี่เป็นปัญหาแรกที่ทำให้เราตื่นตระหนกเมื่อทราบข่าวคลัสเตอร์ตลาดในย่านบางแค พื้นที่ฝั่งตะวันตกของกรุงเทพฯ 

 

 

‘เรารู้อะไรบ้าง’ เกี่ยวกับคลัสเตอร์นี้

ช่วงบ่ายของวันที่ 13 มีนาคม 2564 เพจ ‘กรุงเทพมหานคร โดยสำนักงานประชาสัมพันธ์’ รายงานข่าวภารกิจตอนเช้าของผู้ว่าราชการกรุงเทพฯ ลงพื้นที่ตรวจความเรียบร้อยการตรวจคัดกรองเชิงรุกเพื่อค้นหาผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในพื้นที่เขตบางแค ราวกับว่าไม่มีอะไรเกิดขึ้น เป็นการตรวจตามปกติ

 

แต่ในเวลาไล่เลี่ยกันเพจ ‘PR Covid-19 นครปฐม’ ก็ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนในจังหวัดที่มีประวัติเดินทางไปตลาดบางแคเข้ารับการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ที่โรงพยาบาลของรัฐใกล้บ้าน และยังแจ้งอีกว่าตลาดบางแคขณะนี้เกิดการระบาดของโควิด-19 โดยพบผู้ป่วยไม่มีอาการ 80 ราย

 

เมื่อมีการแชร์ต่อกันในสังคมออนไลน์ ทุกคนจึงรู้ว่าเกิดคลัสเตอร์ใหม่ขึ้นในกรุงเทพฯ จนกระทั่งช่วงค่ำผู้อำนวยการสำนักอนามัย กรุงเทพฯ ก็ออกมายืนยันว่าเป็นข่าวจริง และเพจของสำนักงานประชาสัมพันธ์ก็ประกาศข้อความคล้ายกับของนครปฐมว่า ‘ขอให้ประชาชนที่เดินทางไปตลาดในพื้นที่บางแค

 

  • ตลาดสิริเศรษฐนนท์ (แสงฟ้าเก่า)
  • ตลาดศูนย์การค้าบางแค
  • ตลาดกิตติ
  • ตลาดภาสม
  • ตลาดใหม่บางแค
  • ตลาดวันเดอร์

 

ตั้งแต่วันที่ 20 กุมภาพันธ์ ถึง 13 มีนาคม 2564’ ทำแบบประเมินความเสี่ยงผ่านระบบ BKKcovid19 หากเป็นกลุ่มเสี่ยงสูง จะมีเจ้าหน้าที่ติดต่อกลับไป กลายเป็นปัญหาที่สองเรื่องการสื่อสารความเสี่ยง แทนที่จะสร้างความเชื่อมั่นด้วยการเป็นฝ่ายแรก ในการให้ข้อมูล (Be First) กลับถูกมองว่า ‘ปิดข่าว’

 

สำหรับคลัสเตอร์นี้ ผู้ป่วยรายแรกที่ได้รับรายงาน (Index Case) เป็นผู้ชาย อายุ 21 ปี เจ้าของแผงไข่ไก่ และเป็นเจ้ามือแชร์ ต้องเดินไปรอบตลาดเพื่อเก็บเงิน เริ่มป่วยวันที่ 1 มีนาคม ด้วยอาการไข้ ไอ จมูกไม่ได้กลิ่น ลิ้นไม่รับรส ไปตรวจที่โรงพยาบาลวันที่ 5 มีนาคม ผลพบเชื้อโควิด-19

 

ต่อมาเจ้าหน้าที่สอบสวนโรคในสมาชิกร่วมบ้าน และแผงค้าใกล้กันในตลาด ผลพบเชื้อ 11 ราย วันที่ 7 มีนาคม ปิดตลาดเพื่อทำความสะอาด ส่วนวันที่ 9 มีนาคม สำนักอนามัยและกรมควบคุมโรคลงพื้นที่ค้นหาผู้ป่วยเชิงรุก (จากนั้นอีก 4 วันถึงเป็นข่าวใหญ่ และเป็นข่าวจากต่างจังหวัดด้วย)

 

ถ้าลำดับเหตุการณ์เป็นไปตามที่ผู้ช่วยโฆษก ศบค. แถลงเมื่อวันที่ 15 มีนาคม ก็ถือว่ามีปัญหาที่สามคือความล่าช้า ซึ่งต้องค้นหาต่อว่าเกิดจากขั้นตอนใด

 

รายละเอียดของผู้ป่วย 85 รายแรกจากการตรวจคัดกรองเชิงรุกเมื่อวันที่ 11 มีนาคม แบ่งเป็นสัญชาติไทย 46 ราย และเมียนมา 39 ราย ส่วนใหญ่เป็นวัยผู้ใหญ่ 20-59 ปี มีภูมิลำเนาอยู่ต่างจังหวัด 15 ราย ได้แก่ เพชรบุรี 6 ราย, สุพรรณบุรี 5 ราย, นครปฐม 3 ราย และสมุทรสาคร 1 ราย

 

 

ข้อมูลล่าสุดจากสำนักอนามัย ณ วันที่ 16 มีนาคม 2564 ระบุว่า จากการตรวจคัดกรองเชิงรุกในพื้นที่เขตบางแคตั้งแต่วันที่ 11 มีนาคม 2564 ทั้งหมด 6,281 ราย พบผู้ป่วย 293 ราย (คิดเป็น 5.1%) เพิ่มขึ้นจากเมื่อวาน 69 ราย และยังรอผลอีก 493 คน ส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับตลาดวันเดอร์ ส่วนชุมชนใกล้เคียงยังพบผู้ป่วยไม่มาก

 

ปัจจัยเสี่ยงของการระบาดเป็น ‘คลัสเตอร์’

ภาพเก่าของคลัสเตอร์ตลาดไม่ว่าจะที่สมุทรสาคร หรือปทุมธานี ย้อนกลับมาอีกครั้ง ปัจจัยเสี่ยงที่ ศบค. แถลงไม่แตกต่างจากครั้งก่อน กล่าวคือ การไม่สวมหน้ากากอนามัยหรือสวมไม่เหมาะสม เช่น สวมไว้ใต้คาง แต่ที่สำคัญคืออากาศไม่ถ่ายเท และอยู่ในพื้นที่นั้นเป็นระยะเวลานาน

 

พื้นที่ตลาดบางส่วนอยู่ใต้ถุนตึกของห้างสรรพสินค้า หลังคาต่ำ ไม่มีพัดลมระบายอากาศ นอกจากเรื่องการควบคุมทางเข้าออก เพื่อคัดกรองไข้และสแกนไทยชนะแล้ว (ซึ่งผมคิดว่ามีประโยชน์น้อย) ทุกตลาดที่มีลักษณะคล้ายกันนี้ควรปรับปรุงสภาพแวดล้อมเพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่กระจายเชื้อ

 

ศบค. ไม่ได้พูดถึงห้องน้ำ แต่ห้องน้ำเป็นอีกหนึ่งจุดเสี่ยง (การระบาดในตลาดที่อำเภอแม่สอด คาดว่าเกิดจากการใช้ห้องน้ำ) ควรมีการทำความสะอาดห้องน้ำและพื้นผิวที่สัมผัสร่วมกันเป็นประจำ และจัดเตรียมสบู่ไว้ที่อ่างล้างมือ ส่วนการสวมถุงมือน่าจะมีประโยชน์น้อยกว่าการล้างมือบ่อยๆ

 

สำหรับการควบคุมโรค ผู้ที่ทำงานในตลาด รวมถึงลูกค้าประจำควรได้รับการตรวจหาเชื้อโควิด-19 ครั้งแรก ผู้สัมผัสเสี่ยงสูงควรกักตัวจนครบ 14 วัน แต่ปัญหาก็คือ (ไม่ใช่ปัญหาที่ 4 นะครับ) ไม่มีการทำทะเบียนผู้เช่า ผู้ค้า และลูกจ้างแผงทำให้ไม่สามารถติดตามมาตรวจได้ครบทุกคน

 

นอกจากนี้ผู้ค้ายังเดินทางมาจากต่างจังหวัด หรือเป็นพ่อค้าแม่ค้าคนกลางรับของจากตลาดหนึ่งมาขายยังอีกตลาดหนึ่ง ดังนั้นการเฝ้าระวังจะต้องขยายไปยังจังหวัดอื่นๆ ด้วย อย่างที่นครปฐมค่อนข้างตื่นตัว ส่วนลูกจ้างต้องระวังว่าจะมีการรับจ้างทำงานในตลาดอื่น หรือในโรงงานด้วยเช่นกัน

 

คลัสเตอร์นี้จะส่งผลกระทบต่อ ‘สงกรานต์’ หรือไม่

การควบคุมโรคในตลาดที่ผ่านมาใช้เวลาประมาณ 3-4 สัปดาห์ นับตั้งแต่ตรวจพบผู้ป่วยรายแรก จากนั้นก็นำไปสู่การคัดกรองเชิงรุก พบผู้ป่วยจำนวนมากและการระบาดในบ้านเดียวกัน ตลาดปิดทำความสะอาด ในขณะที่ผู้ค้าบางส่วนต้องกักตัว 2 สัปดาห์เพราะเป็นผู้สัมผัสเสี่ยงสูง

 

วันที่ 13 มีนาคม วันเดียวกันกับข่าวคลัสเตอร์นี้ แต่เมื่อปีที่แล้ว แมทธิว ดีนประกาศว่าตนเองติดโควิด-19 จนทำให้ตรวจเจอ ‘คลัสเตอร์สนามมวย’ หลายคนกังวลว่าสงกรานต์ปีนี้ที่มีข่าวว่าจะผ่อนคลายจะกลายเป็นถูกยกเลิกอีกหรือไม่ แต่สิ่งที่ต่างกันคือ ความสามารถในการตรวจคัดกรองเชิงรุก

 

ซึ่งปีนี้สามารถตรวจได้มากขึ้น ก็จะสามารถตีวงการระบาดได้ เหมือนกับที่ตลาดกลางกุ้ง (แต่ต้องทำหลายจุด ทั้งตลาดและชุมชนใกล้เคียง) และอีกอย่างคือนโยบายควบคุมโรคของรัฐบาลที่ให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจมากขึ้น ผมคิดว่าหลายจังหวัดน่าจะได้จัดเทศกาลสงกรานต์

 

แต่การที่จะไปถึงเป้าหมายนี้ได้ ต้องอาศัยความร่วมมือของประชาชนในการตัดวงจรการระบาดด้วยการสวมหน้ากากอนามัยในที่สาธารณะ และการล้างมือบ่อยๆ ส่วนภาครัฐก็ต้องมีแผนการว่า จะทำอย่างไรให้มั่นใจว่าจังหวัดนั้นที่ไม่พบผู้ป่วยแล้วจะไม่ทีไม่มีการระบาดเป็น ‘คลื่นใต้น้ำ’ อยู่

 

ส่วนปัญหาเดิมของกรุงเทพฯ คือ การรายงานพื้นที่เสี่ยงระดับเขต เพิ่มจากแค่จำนวนผู้ป่วย การสื่อสารความเสี่ยงที่ผู้รับผิดชอบหลักต้องเป็นฝ่ายแรกในการสื่อสารอย่างถูกต้องถึงจะเรียกความเชื่อมั่นจากประชาชน และความล่าช้าในการคัดกรองเชิงรุก ก็ต้องแก้ไขควบคู่กันไปด้วย

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X