ด้วยสภาพคล่องที่ล้นตลาด สินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลกจึงเป็นพิกัดหลักในการเข้าลงทุนเพื่อแสวงหาผลตอบแทนที่น่าพอใจ และมีแนวโน้มที่จะให้ผลตอบแทนที่สูงกว่าสินทรัพย์ประเภทอื่นๆ
ธนาวุฒิ พรโรจนางกูร รองกรรมการผู้จัดการและหัวหน้าสายงานบริหารการลงทุน บลจ.บีแคป ยืนยันว่าปีนี้ ยังคงเป็นปีของสินทรัพย์เสี่ยงหรือตลาดหุ้น โดยเฉพาะหุ้นทั่วโลก เหตุผลสนับสนุนหลักมาจาก 1. สภาพคล่องที่มีล้นตลาด ทั้งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่มูลค่ามหาศาล 2. ภาคประชาชนส่วนมากมีเงินสดในมือสัดส่วนที่สูง และต่างก็มุ่งเน้นนำมาลงทุนเพื่อแสวงหาผลตอบแทนที่สูงกว่าเงินฝาก และ 3. การกลับมาฟื้นตัวของภาวะเศรษฐกิจทั่วโลก
อย่างไรก็ตาม ตลาดหุ้นได้ปรับตัวขึ้นไปมากพอสมควร จึงควรลงทุนแบบ Selected โดยรอให้ดัชนีปรับฐานหรือราคาย่อตัว และเลือกลงทุนในหุ้น Laggard โดยเฉพาะหุ้นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ค่อนข้างมาก อาทิ กลุ่มท่องเที่ยว และกลุ่มที่ได้ประโยชน์จากเงินเฟ้อที่กำลังปรับตัวขึ้น อาทิ กลุ่มเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐาน
ส่วนหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี ประเมินว่าแม้ราคาปรับขึ้นไปค่อนข้างมาก แต่ในช่วงนี้ที่ราคาปรับตัวลดลงก็เป็นจังหวะสะสม เพราะมองการลงทุนกลุ่มเทคโนโลยีเป็นการลงทุนตามเมกะเทรนด์เช่นกัน
สำหรับคำแนะนำในการลงทุนระยะยาว การเลือกทุนตามเมกะเทรนด์จะน่าสนใจและสามารถสร้างผลตอบแทนที่น่าพอใจ โดยเฉพาะเทรนด์ Climate Change-Ageing Society-Digital Everywhere’ ซึ่งเป็นเทรนด์หลักๆ ที่จะเกิดขึ้นทั่วโลกในระยะ 10 ปีจากนี้ และบางเทรนด์ก็เกิดขึ้นแล้วในบางประเทศ
สำหรับมุมมองต่อหุ้นไทย มองว่าระยะสั้นน่าสนใจ เหมาะที่จะเข้าสะสมหุ้นโดยเฉพาะกลุ่มที่ได้รับอานิสงส์จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศ กลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ค่อนข้างมาก อาทิ กลุ่มโรงแรม และหุ้นที่อิงกับราคาโภคภัณฑ์ โดยแนะลงทุนหุ้น Laggard ในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์ กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐาน
ขณะที่ เมธ์วดี ประเสริฐสินธนา กรรมการผู้จัดการ บลจ.บีแคป (BCAP) กล่าวถึงแผนการดำเนินงานของ บลจ.บีแคป ว่า ปี 2654 ตั้งเป้ามูลค่าสินทรัพย์สุทธิที่อยู่ภายใต้การบริหาร (AUM) ในอีก 3 ปีข้างหน้า (ปี 2565-2567) จะเติบโตเฉลี่ยปีละ 20% AUM และแตะระดับ 1 แสนล้านบาท จากปี 2564 ที่คาดว่า AUM น่าจะเติบโตขึ้นเป็น 6.2 หมื่นล้านบาท โดยเติบโตจากธุรกิจกองทุนรวม (Mutual Fund) ที่คาดจะระดมเงินได้ 5 พันล้านบาท รวมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพและกองทุนส่วนบุคคล
ทั้งนี้ ปี 2563 บลจ.บีแคป มี AUM 5.2 หมื่นล้านบาทเติบโตจากปี 2562 ที่มี AUM 4 หมื่นล้านบาท โดย Mutual Fund ณ ปี 2563 มีมูลค่า 1.3 หมื่นล้านบาท โตขึ้น 95% เทียบกับสิ้นปี 2562 ซึ่งหากเทียบกับภาพรวมตลาดกองทุนรวมที่ลดลง 7% ถือว่าบลจ.บีแคป มีการเติบโตที่สวนทางกับภาพรวมอุตสาหกรรม
ในส่วนของกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ทางกองทุนสำรองเลี้ยงชีพบัวหลวงทรัพย์มั่งคั่ง AUM ปี 2563 อยู่ที่ 1.8 หมื่นล้านบาท เติบโต 15% เทียบกับภาพรวมอุตสาหกรรมกองทุนสำรองเลี้ยงชีพที่โต เพียง 2%
ขณะที่ Private Fund มี AUM ณ สิ้นปี 2563 ประมาณ 2.08 หมื่นล้าน โตขึ้น 19% เทียบกับปีก่อน โดยก่อนทุนส่วนบุคคลของบีแคปมีจุดเด่นคือนโยบายการลงทุนที่ครอบคลุมสินทรัพย์หลากหลายประเภทและทั่วโลก บริหารด้วยรูปแบบการลงทุนระดับโลก รวมทั้งหมด ณ สิ้นปี 2563 BCAP Asset มีสินทรัพย์ภายใต้การบริหารทั้งหมด ประมาณ 5.2 หมื่นล้านบาท
ในปี 2564 บลจ.บีแคป มีแผนเปิดกองทุนใหม่ราว 10 กองทุน เน้นกองทุนหุ้นในต่างประเทศ คาดว่าจะทยอยเสนอขายในเดือนพฤษภาคมเป็นต้นไป อีกทั้งมีแผนจะเพิ่ม Selling Agent อีก 4-5 ราย จากปัจจุบันมีอยู่ 4 ราย ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ (BBL), บล.บัวหลวง, บมจ.กรุงเทพประกันชีวิต (BLA) และ บลน.ฟินโนมีนา จำกัด (บลน.ฟินโนมีนา)
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์