วันนี้ (12 มีนาคม) พรรคก้าวไกลออกแถลงการณ์ต่อกรณีคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2564 โดยที่ศาลรัฐธรรมนูญมีมติเสียงข้างมากว่า รัฐสภามีหน้าที่และอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ โดยต้องให้ประชาชนผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญได้ลงประชามติเสียก่อนว่าประชาชนประสงค์จะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ และเมื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จแล้ว ต้องให้ประชาชนลงประชามติเห็นชอบหรือไม่กับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อีกครั้งหนึ่ง
พรรคก้าวไกลขอยืนยันว่า กระบวนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นอำนาจเต็มของรัฐสภา ที่ได้ดำเนินการมาโดยตลอดจนถึงขณะนี้ ตั้งแต่การเสนอร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่…) พุทธศักราช… (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1) ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 (1) การออกเสียงลงคะแนนในวาระที่หนึ่งขั้นรับหลักการ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 (3) และการพิจารณาในวาระที่ 2 ขั้นพิจารณาเรียงลำดับมาตรา ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 (4) และกำลังจะมีการออกเสียงลงคะแนนในวาระที่ 3 ต่อไป ตั้งแต่วันที่ 17 มีนาคม พ.ศ. 2564 เป็นต้นไป ทั้งหมดนี้เป็นกระบวนการที่ถูกต้อง ชอบด้วยรัฐธรรมนูญทุกประการ
ทั้งนี้ แถลงการณ์พรรคก้าวไกลระบุว่า กระบวนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่ได้ดำเนินการมาจนถึงขณะนี้ยังอยู่ในชั้นของการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเป็นรายมาตรา เพื่อเปิดให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เท่านั้น ยังมิได้เข้าสู่ชั้นของการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งจะเริ่มต้นขึ้นก็ต่อเมื่อรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่…) พุทธศักราช… (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1) ใช้บังคับแล้ว
“การที่ในขณะนี้ยังไม่มีการออกเสียงประชามติเสียก่อนว่าประชาชนประสงค์จะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ จึงมิได้เป็นเหตุให้กระบวนการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่ได้ดำเนินการมาก่อนหน้านี้ต้องสิ้นผลไป การออกเสียงประชามติดังกล่าวยังคงเกิดขึ้นได้ภายหลังการการออกเสียงลงคะแนนในวาระที่ 3 ตราบที่รัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมยังไม่ประกาศใช้ ดังนั้นการลงมติในวาระ 3 จะต้องเกิดขึ้น ไม่มีทางถูกตีความเป็นอย่างอื่นได้ และไม่มีทางถูกขวางกั้นโดยกระบวนการอื่นใดได้อีก” แถลงการณ์ระบุ
รวมทั้งการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญที่กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้มีการแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 ซึ่งอยู่ในหมวด 15 การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญด้วย ซึ่งรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 (8) กำหนดเมื่อร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมที่มีการแก้ไขเพิ่มเติมในหมวดดังกล่าวผ่านการลงมติเห็นชอบในวาระที่ 3 แล้ว ให้นำไปออกเสียงประชามติก่อน แล้วจึงนำขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเพื่อพระมหากษัตริย์ทรงลงพระปรมาภิไธย และประกาศใช้ต่อไป ดังนั้นแม้ไม่ได้มีคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญข้างต้นออกมา การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญดังกล่าวก็ต้องมีการออกเสียงประชามติอยู่แล้วตามความของรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 (8) และในเมื่อการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญดังกล่าวมีการเพิ่มหมวด 15/1 ว่าด้วยการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่รวมอยู่ด้วย หากผลการออกเสียงประชามติปรากฏว่า ประชาชนเห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมแล้ว ก็ย่อมหมายความว่าประชาชนประสงค์จะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ผ่านกระบวนการจัดทำตามหมวด 15/1 ด้วย
พรรคก้าวไกลขอยืนยันว่า กระบวนการทั้งหมดที่ผ่านมาแล้ว และที่จะเดินหน้ากันต่อไปเพื่อให้มีร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่…) พุทธศักราช… (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1) เป็นกระบวนการให้รัฐสภาและประชาชนร่วมกันใช้อำนาจตามที่รัฐธรรมนูญให้ไว้ เพื่อเข้าแก้ไขรัฐธรรมนูญตามกรอบเงื่อนไขที่กำหนดทั้งสิ้น
จากที่กล่าวมา พรรคก้าวไกลจึงขอให้สมาชิกรัฐสภาทุกคนยืนยันในอำนาจของสมาชิกรัฐสภาตามที่รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ได้กำหนดไว้ โดยร่วมกันผลักดันให้มีกระบวนการลงมติในวาระที่ 3 นี้ เพื่อให้ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่…) พุทธศักราช… (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 256 และเพิ่มหมวด 15/1) ได้ผ่านกระบวนการขั้นตอนตามรัฐธรรมนูญในส่วนของรัฐสภา และเข้าสู่ขั้นตอนการออกเสียงประชามติของประชาชน และเมื่อถึงเวลานั้น หากการออกเสียงประชามติเป็นไปโดยเสรีและเป็นธรรม ซึ่งเป็นการออกเสียงประชามติตามกระบวนการที่ถูกกำหนดในร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ…. ที่สมาชิกรัฐสภาจะได้พิจารณาลงมติกันในการประชุมสมัยวิสามัญแห่งรัฐสภานี้เช่นกันแล้ว ไม่ว่าผลการออกเสียงประชามติจะเป็นอย่างไรนั้น สมาชิกรัฐสภาทุกคนย่อมยอมรับผลของกระบวนการประชามติที่เกิดขึ้น
พรรคก้าวไกลหวังว่าสมาชิกรัฐสภาทุกท่านจะร่วมกันลงมติเห็นชอบต่อการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญครั้งนี้ เพื่อส่งต่ออำนาจไปให้ประชาชนได้ลงประชามติเห็นชอบให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ส่งต่ออนาคตให้ประชาชนได้กำหนดด้วยมือของพวกเขาเอง
ในท้ายแถลงการณ์ พรรคก้าวไกลแสดงจุดยืนว่า เพื่อให้การออกเสียงประชามติเป็นการแสดงถึงเจตจำนงของประชาชนผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง ซึ่งอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญเป็นอำนาจขั้นปฐมภูมิที่ไม่อาจถูกทัดทานด้วยเงื่อนไขใดๆ หรือโดยองค์กรใดๆ ที่มีศักดิ์ต่ำกว่าได้ หากการลงมติในวาระที่ 3 ถูกคว่ำลงโดยเจตนาของสมาชิกรัฐสภาที่ไม่ต้องการให้ใช้กระบวนการทางรัฐสภาในการหาทางออกให้ประเทศ คณะรัฐมนตรีจะต้องผลักดันให้มีการจัดทำประชามติโดยเร็วที่สุด โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา 166 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 เพื่อถามประชาชนผู้ทรงอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญว่าประชาชนประสงค์จะให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับผ่านสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนหรือไม่ โดยที่การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ในครั้งนี้จะต้องไม่ถูกจำกัดมิให้จัดทำในเนื้อหาสาระใดๆ ทั้งสิ้น หากไม่ดำเนินการเช่นนี้แล้วย่อมจะไม่เหลือทางออกให้กับประเทศผ่านกระบวนการการใช้อำนาจในวิถีทางแห่งรัฐธรรมนูญอีกเลย และหากรัฐสภาและสถาบันการเมืองในระบบทั้งหมด ยังคงประพฤติตนเป็นปฏิปักษ์ต่อการแสดงเจตจำนงทางการเมืองของประชาชนอยู่เช่นนี้ อีกไม่นานประชาชนย่อมต้องเรียกร้องหาทางออกด้วยวิถีทางอื่นที่พ้นไปจากโซ่ตรวนของข้อจำกัดตามรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล