ราคาหุ้น บมจ. เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (CPF) ปรับตัวขึ้นอย่างโดดเด่นในเช้าวันนี้(11 มีนาคม) หลังจากผู้บริหารของ CPF ให้ข้อมูลกับนักลงทุนภายในงาน บริษัทจดทะเบียนพบนักลงทุน (Opportunity Day) ว่า บริษัทอยู่ระหว่างศึกษาการออกผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนผสมของกัญชง ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญและองค์กรต่างๆ ในการศึกษา
นอกจากนี้บริษัทยังอยู่ระหว่างศึกษาแผนการออกผลิตภัณฑ์ที่เป็นโปรตีนจากพืช(Plant Base) ด้วย โดยทั้ง 2 ผลิตภัณฑ์นี้คาดว่าจะเปิดตัวได้ภายในปี 2564
เช้าวันนี้ราคาหุ้น CPF ปรับตัวขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 30.75 บาท เพิ่มขึ้น 1.25 บาท หรือ 4.25% โดยมีมูลค่าการซื้อขายสูงสุดเป็นอันดับหนึ่งของการซื้อขาย
ฝ่ายวิจัยบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) หยวนต้า ระบุว่า ฝ่ายวิจัยยังมองบวกต่อธุรกิจของ CPF ในไตรมาสแรกปีนี้ จากราคาหมูในไทยและเวียดนามที่ฟื้นตัวแรงเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า (QoQ) และทรงตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน (YoY) ทำให้อาจเห็นกำไรปกติกลับมาที่ระดับ 7,000 ล้านบาทขึ้นไป
อย่างไรก็ตาม จะสามารถทำนิวไฮได้หรือไม่ขึ้นอยู่กับส่วนแบ่งกำไรจากบริษัทร่วมคือ CTI ซึ่งเป็นธุรกิจฟาร์มและอาหารสัตว์ในจีน และส่วนแบ่งกำไรจากโลตัสที่จะเข้ามาเต็มไตรมาสครั้งแรก
นอกจากนี้บริษัทจะเริ่มส่งออกสินค้าแพลนต์เบสไปยังประเทศเอเชีย จากการทดลองกับลูกค้าได้ผลตอบรับดี เริ่มจากประเทศเอเชียก่อนคือ ไทย สิงคโปร์ ฮ่องกง จีน เกาหลีใต้ เริ่มส่งออกเดือนเมษายนนี้ ลดความเสี่ยงเรื่อง Disruption ต่อธุรกิจปศุสัตว์
ส่วนธุรกิจพืชเกษตรกัญชงมีการตั้งทีมพิเศษศึกษาเรื่องนี้โดยเฉพาะ อาจลงทุนตั้งแต่การปลูก สกัด และแปรรูปผลิตภัณฑ์ ส่วนยอดขายในโลตัสคาดว่าจะเพิ่มขึ้นจาก 700 ล้านบาทต่อปีเป็นไม่น้อยกว่า 10,000 ล้านบาทในปี 2564 เนื่องจากกลุ่มบริษัทตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนเนื้อสดในโลตัสจาก 18% ของรายได้ของโลตัสทั้งหมดเป็น 40% ให้ได้ภายในปี 2564
โดยฝ่ายวิจัย บล. หยวนต้า ยังได้ให้ราคาเป้าหมายของ CPF ไว้ที่ 49.50 บาท
ด้านฝ่ายวิจัยบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) เอเชียเวลท์ ประเมินว่า แนวโน้มผลดำเนินงานของ CPF ยังน่าจะเติบโตได้ต่อเนื่อง โดยได้กแรงหนุนจากธุรกิจกุ้งที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้มีอัตรากำไรที่ดีขึ้น
ส่วนผลิตภัณฑ์แพลนต์เบสที่จะเปิดตัวในปีนี้เป็นอีกตัวที่เข้ามาช่วยหนุนผลดำเนินงาน ขณะที่ราคาหมูในภูมิภาคยังทรงตัวในระดับสูง และสถานการณ์โควิด-19 ที่เริ่มคลี่คลายมีส่วนช่วยให้การบริโภคปรับตัวดีขึ้น
ฝ่ายวิจัย บล. เอเชียเวลท์ ได้ปรับประมาณการรายได้ปี 2564 ลง 22% เป็น 468,322 ล้านบาท เนื่องจากบริษัทเปลี่ยนการรับรู้รายได้จาก CTI ซึ่งเป็นธุรกิจฟาร์มและอาหารสัตว์ในจีนส่งผลให้รายได้ในส่วนนี้หายไป แต่อย่างไรก็ตาม ฝ่ายวิจัยได้ปรับเพิ่มกำไรสุทธิปี 2564 เป็น 11% มาอยู่ที่ 27,058 ล้านบาท เนื่องจากรายได้ที่หายไปจะถูกชดเชยด้วยส่วนแบ่งกำไรจาก CTI และโลตัส ซึ่งคาดว่าจะมีส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนอยู่ที่ 13,000 ล้านบาท
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า