ช่วงหนึ่งเดือนก่อนหน้านี้หุ้นกลุ่มเทคโนโลยีปรับฐานลงมาต่อเนื่องในระดับ 30-40% แต่ล่าสุดหุ้นในกลุ่มเทคโนโลยีรวมถึงกองทุนที่เน้นลงทุนในด้านนี้ สามารถฟื้นตัวกลับขึ้นมาอย่างโดดเด่น โดยเฉพาะหุ้นในกลุ่ม NASDAQ100 ซึ่งดัชนีภาพรวมปรับขึ้นถึง 4.03% เมื่อวานนี้ (10 มีนาคม)
ขณะที่หุ้นอย่าง TESLA ซึ่งปรับตัวลดลงแรงก่อนหน้านี้ ฟื้นตัวกลับขึ้นมาได้ถึง 20% เช่นเดียวกับกองทุนอย่าง ARK Innovation (ARKK) ที่ลงทุนใน TESLA มากสุดของพอร์ตก็ปรับตัวขึ้นมาถึง 10.4% ทำให้ต้นปีจนถึงปัจจุบันผลตอบแทนของกองทุน ARKK ติดลบน้อยลงเหลือเพียง -2.2%
อย่างไรก็ตาม สรพล วีระเมธีกุล ผู้อำนวยการอาวุโส บล.กสิกรไทย มองว่า การรีบาวด์ของหุ้นเทคโนโลยีมีโอกาสน้อยที่จะขึ้นไปทำจุดสูงสุดใหม่ได้อีกครั้งในช่วงที่เหลือของปีนี้ เนื่องจากยังมีปัจจัยกดดันหลายๆ ส่วนที่รออยู่หลังจากนี้
ทั้งในส่วนของบอนด์ยีลด์ที่ยังอยู่ในแนวโน้มขาขึ้น รวมถึงเรื่องของการขึ้นภาษีธุรกิจในสหรัฐฯ จาก 21% เป็น 28% รวมถึงความเสี่ยงเรื่องนโยบายต่างๆ เช่น การควบคุมในเรื่องของนโยบายความเป็นส่วนตัว ซึ่งอาจจะกระทบต่อการซื้อขายข้อมูลของบริษัทเทคโนโลยี
“ปัจจุบัน Valuation ของหุ้นกลุ่มเทคฯ ค่อนข้างสูงเกินไป อย่างดัชนี NASDAQ ปัจจุบัน P/E สูงถึง 50 เท่า ขณะที่ในช่วงกลางปีถึงครึ่งปีหลัง หุ้นกลุ่มเทคฯ ยังมีความเสี่ยงจากเรื่องของ Policy Risk อีกด้วย”
แม้ว่าหุ้นกลุ่มเทคโนโลยียังมีปัจจัยเสี่ยงรออยู่ แต่สำหรับนักลงทุนที่ถืออยู่ อาจไม่จำเป็นต้องขายออกไปหากซื้อลงทุนมาตั้งแต่เมื่อปีก่อน ซึ่งยังคงให้ผลตอบแทนเป็นบวก แต่สำหรับผู้ที่รอจังหวะซื้อ อาจจะพิจารณาในช่วงครึ่งปีหลัง ซึ่งน่าจะเป็นโอกาสสำหรับการเข้าลงทุนในระดับที่ต่ำกว่านี้ได้
ราคาของหุ้น TESLA และกองทุน ARKK ช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา
แต่สำหรับภาพในระยะกลางถึงระยะยาว มณฑล จุนชยะ ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน บลจ.วรรณ มองว่า หุ้นเทคโนโลยีจะยังเป็นธุรกิจที่โดดเด่นต่อไปในยุค New Normal แต่ปัจจุบันต้องยอมรับว่าราคาหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีสูงเกินกว่าคาดการณ์การเติบโตของกำไรไปแล้ว ทำให้ราคามีโอกาสพักฐานได้เป็นระยะๆ
“ส่วนตัวมองว่าการพักฐานที่ผ่านมาค่อนข้างเป็นการพักฐานในระดับที่เหมาะสม เพราะเศรษฐกิจโดยรวมค่อยๆ ฟื้นตัว ในขณะที่หุ้นเทคฯ ยังคงสามารถทำกำไรได้ต่อเนื่อง ทำให้การปรับฐานในแต่ละครั้งจะเป็นโอกาสสำหรับเข้าสะสมมากกว่า”
อย่างไรก็ดี นักลงทุนต้องติดตามปัจจัยสำคัญ 2 ส่วน คือ 1. หุ้นเทคโนโลยีเหล่านี้จะสามารถรักษาโมเมนตัมการเติบโตของกำไรได้ดีมากน้อยเพียงใด โดยติดตามว่าผลการดำเนินงานสามารถทำได้ตามที่คาดการณ์ไว้หรือไม่ และ 2. การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกเป็นไปตามที่ประเมินกันไว้หรือไม่
ส่วนความกังวลในเรื่องของบอนด์ยีลด์ ที่ผ่านมากดดันหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีค่อนข้างมาก เนื่องจากการปรับตัวขึ้นค่อนข้างเร็วกว่าปกติ แต่โดยหลักการแล้วบอนด์ยีลด์ก็ควรจะปรับขึ้นอยู่แล้ว ทำให้ในช่วงที่บอนด์ยีลด์กำลังปรับขึ้นจะเกิดการเปรียบเทียบระหว่างผลตอบแทนของหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีกับหุ้นกลุ่ม Value
สำหรับกลยุทธ์การลงทุน หากเป็นนักลงทุนที่ไม่ได้ถือครองหุ้นกลุ่มเทคโนโลยี ควรรอจังหวะปรับฐานเพื่อเข้าสะสม ส่วนนักลงทุนที่ถือครองอยู่แล้ว ยังสามารถถือครองต่อไปได้ และรอจังหวะในการปรับฐานเพื่อทยอยสะสม
ทั้งนี้ มณฑณแนะนำว่าการทยอยสะสมหุ้นเทคโนโลยีควรจะกระจายทั่วโลก ขณะเดียวกันก็อาจจะกระจายพอร์ตโดยเน้นแต่ละประเทศด้วย ซึ่งส่วนตัวมองว่ากลุ่มที่น่าสนใจคือ ‘จีน’ หลังจากปรับฐานแรง ‘ญี่ปุ่น’ ซึ่งราคาเพิ่งจะเริ่มปรับตัวขึ้น และ ‘ยุโรป’ ซึ่งราคาหุ้นยัง Laggard
นอกจากนี้ นักลงทุนควรจะกระจายความเสี่ยงพอร์ตลงทุนไปยังหุ้นในกลุ่ม Value ด้วยเช่นกัน ด้วยภาพใหญ่ที่ยังเป็นช่วงเปลี่ยนธีมลงทุน ทำให้นักลงทุนขายปรับพอร์ตในหลายๆ ตลาด
“ความผันผวนที่เพิ่มขึ้นในช่วงที่ผ่านมาเกิดจากการ Sell off ในหลายสินทรัพย์ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นการปรับพอร์ตของ Smart Money จากฝั่งธุรกิจ เพราะที่ผ่านมาธุรกิจอาจจะชะลอ จึงเห็นคนกลุ่มนี้นำเงินเข้ามาในฝั่งลงทุนก่อน และเมื่อภาพรวมเปลี่ยนไป คนกลุ่มนี้ก็มักจะปรับเปลี่ยนทันที”
ศรชัย สุเนต์ตา กรรมการผู้จัดการ SCB-CIO บล.ไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า ที่ผ่านมาหุ้นเทคโนโลยีถูกกดดันด้วยการพุ่งขึ้นของบอนด์ยีลด์ ซึ่งหลังจากนี้บอนด์ยีลด์อาจจะไม่ได้พุ่งขึ้นเร็วอย่างช่วงที่ผ่านมาอีกแล้ว ทำให้การปรับฐานของหุ้นเทคโนโลยีในช่วงที่ผ่านมา อาจจะถึงจุดที่เริ่มเข้าสะสมได้
ทั้งนี้ จุดที่ต้องจับตาดูและอาจหาจังหวะในการเข้าสะสมมี 2 จุด คือ 1. การประมูลพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ อายุ 10 ปี ในคืนนี้ (10 มีนาคม) หากมีดีมานด์เข้ามามาก จะสะท้อนว่าบอนด์ยีลด์ในระดับปัจจุบันเริ่มจูงใจให้คนกลับเข้ามาลงทุนแล้ว หลังจากที่ก่อนหน้านี้การประมูลสำหรับพันธบัตรอายุ 3 ปี มีดีมานด์ค่อนข้างสูง
ประกอบกับส่วนต่างระหว่างบอนด์ยีลด์ 10 ปี ของสหรัฐฯ กับบอนด์ยีลด์ของเยอรมนีและบอนด์ยีลด์ของญี่ปุ่น ซึ่งล่าสุดอยู่ในจุดที่ค่อนข้างกว้างมากแล้ว ทำให้คนเริ่มเห็นกลับมาสนใจพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ กันมากขึ้น ซึ่งจะช่วยให้นักลงทุนกังวลกับเรื่องบอนด์ยีลด์น้อยลง
“สถานการณ์เกี่ยวกับบอนด์ที่เกิดขึ้นสะท้อนว่า ตลาดปรับฐานลงมาระยะหนึ่งแล้ว และเริ่มน่าสนใจสำหรับการเข้าลงทุนระยะยาว”
- การประชุมเฟด วันที่ 16-17 มีนาคม หากเฟดมีนโยบายที่จะควบคุมบอนด์ยีลด์ออกมา เช่น การทำ Operation Twist น่าจะช่วยให้ตลาดผ่อนคลายความกังวลในเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน
“ทั้งสองจุดนี้น่าจะเป็นจุดทยอยเข้าสะสมหุ้นเทคฯ สำหรับการลงทุนยาวได้ โดยส่วนตัวมองว่าหุ้นเทคฯ ไม่ได้เปลี่ยนเทรนด์เป็น Bearish และยังคงเป็น Bullish ในระยะยาว เพียงแต่การปรับขึ้นคงไม่ได้เกิดขึ้นตลอด และระหว่างทางคงต้องมีการปรับฐานอยู่บ้าง”
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์