สถานการณ์โควิด-19 และการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีส่งผลให้พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว ภาคธุรกิจต่างๆ ล้วนพยายามปรับตัวเพื่อให้เท่าทันกับปัจจัยที่เกิดขึ้น ธุรกิจโรงพยาบาลก็เช่นกัน
ชัยรัตน์ ปัณฑุรอัมพร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มโรงพยาบาลสมิติเวชและโรงพยาบาลบีเอ็นเอช กล่าวว่าเครือสมิติเวชทรานส์ฟอร์มองค์กรมาตั้งแต่ปี 2016 เนื่องจากมองเห็นการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภคที่แปรผันไปตามวิวัฒนาการของเทคโนโลยี ซึ่งจัดได้ว่าเป็นความเสี่ยง
เรื่องหลักที่เครือสมิติเวชให้ความสำคัญในการทรานส์ฟอร์มองค์กรคือเรื่องคน เงิน และนวัตกรรม โดยสองเรื่องแรก แก่นของการทรานส์ฟอร์มคือการปรับมายด์เซ็ต ส่วนเรื่องนวัตกรรมนั้นมุ่งเน้นไปที่การสร้างใหม่ให้ตรงตามความต้องการผู้บริโภค
โดยในเรื่องของคนได้มุ่งเน้นการปรับวิธีคิดหรือมายด์เซ็ตของบุคลากรใหม่ เพื่อให้สามารถจัดทัพบุคลากรที่เหมาะและตรงกับความต้องการผู้บริโภค โดยเริ่มด้วยการรับอาสาสมัครบุคลากรที่พร้อมทำงานในวิถีใหม่ (New Norm) ซึ่งได้รับความร่วมมือจากบุคลากรเป็นอย่างดี และทีม New Norm จะรองรับผู้บริโภคที่มีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไปสู่ New Norm เช่นกัน อย่างไรก็ตาม ทีมงานต้องเสริมทักษะใหม่ๆ ให้เท่าทันความต้องการผู้บริโภคและบริบทในการทำงานด้วยเช่นกัน
“ส่วนคนที่ไม่พร้อมเปลี่ยนก็ทำงานแบบเดิมเพื่อรองรับผู้บริโภคที่ยังมีพฤติกรรมเดิมๆ เช่น เมื่อป่วยก็พร้อมจะเดินทางมาที่โรงพยาบาล แม้จะมีอุปสรรคเรื่องโควิด-19 หรือค่าใช้จ่ายด้านการเดินทางก็ตาม”
ส่วนเรื่องเงิน ได้ดำเนินการปรับมายด์เซ็ตคณะผู้บริหารและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องให้จัดสรรงบลงทุนอย่างชาญฉลาด เพื่อเท่าทันโอกาสและป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น โดยแต่เดิมการจัดสรรงบประมาณมักจะใช้วิธีคิดแบบ Statistic Financial Management ซึ่งเป็นการใช้งบลงทุนโดยอิงจากในอดีตที่ผ่านมา ก็ปรับวิธีคิดให้เป็นแบบ Dynamic Financial Management
นอกจากนี้ยังปรับสัดส่วนการจัดสรรงบลงทุน โดยให้โรงพยาบาลในเครือที่มีอยู่ 8 แห่งกันงบ 30% ของงบลงทุนรวมส่งมาที่ส่วนกลาง เพื่อนำไปลงทุนในเทคโนโลยีและนวัตกรรม และส่วนที่เหลือ 70% นั้นให้บริหารจัดการด้านการลงทุนต่างๆ รวมถึงการจัดซื้ออุปกรณ์และเครื่องมืออย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
ชัยรัตน์กล่าวว่า ต่อจากนี้ไปเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่จะเป็นเรือธงหลักที่สามารถสร้าง New S-Curve ให้กับองค์กรได้ในอนาคต ซึ่งเครือสมิติเวชอยู่ระหว่างดำเนินการและพัฒนาอยู่หลายโปรเจกต์
สาเหตุที่ต้องมีเรือธงใหม่ก็เพราะปัจจุบันนี้บริบททางธุรกิจเปลี่ยนไป คู่แข่งขันไม่ใช่ธุรกิจการแพทย์ด้วยกันเอง แต่เป็นธุรกิจอื่นๆ ที่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีด้านสุขภาพพื้นฐานและเข้าถึงผู้บริโภคได้ เช่น ประกัน ธนาคาร หรือแม้แต่อีคอมเมิร์ซ
“การที่เราจะเป็นธุรกิจการแพทย์ที่สามารถแข่งขันได้ในทุกสนามและเป็นผู้ชนะนั้น สิ่งสำคัญคือการสร้างความแข็งแกร่งให้กับ Core Business และเพิ่มศักยภาพให้ตรงกับที่ผู้บริโภคของเราต้องการ”
และล่าสุดโรงพยาบาลสมิติเวชได้เปิดตัวแคมเปญ #SaveLifeSavePrice เพื่อให้สอดรับกับความต้องการผู้บริโภคยุค New Normal โดยแคมเปญนี้จะช่วยแก้เพนพอยต์ผู้บริโภคทั้งเรื่องของการรับบริการด้านสุขภาพและค่าใช้จ่าย โดยได้นำนวัตกรรมทางการแพทย์ใหม่ๆ ที่เป็นที่ยอมรับและมีความแม่นยำสูงมาให้บริการแก่ผู้บริโภคที่ไม่ต้องการเดินทางมาโรงพยาบาล รวมถึงใช้อำนวยความสะดวกในการควบคุมค่าใช้จ่ายให้กับผู้บริโภค โดยจะเริ่มแคมเปญในวันที่ 15 มีนาคม ถึง 30 มิถุนายน 2564
“บริการหาหมอออนไลน์เป็นทางเลือกสำหรับคนไข้ตั้งแต่ช่วงก่อนโควิด-19 และในช่วงโควิด-19 ก็มีจำนวนผู้ใช้งานเพิ่มขึ้นราว 20-30 เท่า นอกจากเรื่องนำนวัตกรรมมาเสริมบริการที่ตรงโจทย์แล้ว เราต้องการให้เกิดการตระหนักรู้เรื่อง Self Care ซึ่งหากสร้างการรับรู้เรื่องนี้ได้ จะช่วยให้คนไทยสุขภาพแข็งแรงขึ้นและเจ็บป่วยด้วยโรคภัยต่างๆ ลดลง #SaveLifeSavePrice ก็เป็นหนึ่งในเครื่องมือสร้างการรับรู้”
ชัยรัตน์กล่าวถึงแนวโน้มผลการดำเนินงานปี 2564 ว่ารายได้รวมน่าจะเติบโตได้ราว 5-6% อย่างไรก็ตาม ตัวเลขประมาณการนี้ประเมินไว้ในช่วงก่อนเกิดโควิด-19 ระลอกใหม่ ขณะเดียวกันมองว่าภาพรวมเศรษฐกิจไทยปีนี้มีความไม่แน่นอนสูง และยังมีหลายปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจที่ต้องติดตาม
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์