ฟุตบอลไม่ใช่เกมของผู้หญิงหรอก!
คำกล่าวนี้เป็นเหมือนมีดกรีดหัวใจของผู้หญิงมากมายทั่วโลกที่ไม่ใช่แค่หลงรักในเกมลูกหนัง แต่ยังชื่นชอบการลงไปวาดลวดลายบนฟลอร์หญ้า
เพียงเพราะรูปร่างพวกเธอบอบบางกว่า ไม่ได้แปลว่าจะไม่มีสิทธิ์ลงไปกระชากบอล เปิดยาว หรือปั่นโค้งๆ เสียหน่อย
แม้ปัจจุบันจะมีความพยายามในการผลักดันและยกระดับให้ฟุตบอลหญิงเป็นที่ยอมรับในสากลมากขึ้น สื่อให้พื้นที่ มีการนำเรื่องราวของนักเตะสาวที่สามารถเป็นแรงบันดาลใจให้แก่ใครต่อใครได้อย่างมากมาย และมีดารานักเตะสาวที่ได้รับการยกย่องจากคนทั้งโลก ไม่ว่าจะเป็น มาร์ทา ราชินีลูกหนังอมตะชาวบราซิล, อาดา เฮเกอร์เบิร์ก แข้งบัลลงดอร์หญิงคนแรกของโลก หรือ อเล็กซ์ มอร์แกน นักเตะสาวสวยระดับดาราที่เป็นขวัญใจของทั้งแฟนบอลหญิงและชาย แต่กำแพงระหว่างฟุตบอลหญิงและชายก็ยังสูงมาก
แล้วลองจินตนาการถึงในอดีตที่ผู้หญิงไม่ได้มีสิทธิ์มีเสียงเหมือนในปัจจุบันว่ามันจะยากมากกว่าแค่ไหน?
ขออนุญาตหมุนเข็มนาฬิกาทวนเวลากลับไปเมื่อ 100 ปีที่แล้ว กลับไปในยุคที่โลกของเรากำลังอยู่ในช่วงของการก่อร่างสร้างตัวหลังการปฏิวัติอุตสาหกรรม ฟุตบอลเป็นเกมที่เริ่มได้รับความนิยมในทุกพื้นที่ของโลก เพราะความสนุกและความง่ายของการเล่นฟุตบอลที่ขอแค่มีเพียงลูกกลมๆ ใครก็เตะเล่นได้
แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะมีสิทธิ์ได้เล่น!
ลิลี พาร์ กุลธิดาลำดับที่ 4 ของครอบครัวชาวอังกฤษที่มีพี่น้องทั้งหมด 7 คน เธอเกิดเมื่อปี 1905 ในย่านเซนต์ เฮเลนส์ เป็นคนที่ชื่นชอบในการเล่นกีฬามาตั้งแต่เด็ก
สมัยนั้นกีฬาที่ได้รับความนิยมของชาวเมืองผู้ดีมีหลายอย่าง แต่ที่มาแรงมากคือฟุตบอลและรักบี้ ซึ่งลิลีก็เล่นทั้งสองอย่างกับพี่ชายของเธอตามประสาครอบครัวใหญ่ที่มีพี่น้องหลายคน พี่เล่นอะไรน้องก็เล่นแบบนั้น
แต่ถ้าถามว่าเธอชอบอะไรมากกว่า? ฟุตบอลคือกีฬาโปรดของเธอเลย
หากจะให้บรรยายถึงคุณสมบัตินักเตะของลิลี เธอเป็นนักเตะซ้ายธรรมชาติ ที่มีพรสวรรค์ในการเล่นติดตัวตั้งแต่เกิด เรียกได้ว่ามีมนตร์ที่ปลายเท้า และที่สำคัญลูกยิงของเธอนั้นหนักหน่วงรุนแรง
เคยมีคนเปรียบเทียบว่าเธอยิงได้หนักเหมือนล่อ (Kick like a mule) แต่ถ้าเป็นคนไทยก็น่าจะต้องบอกว่าเป็นคนที่มีลูกยิงพลังช้างสารเลยทีเดียว
ประสาเด็กสาวไม่ห่วงสวยมาก เธอก็เล่นฟุตบอลไปเรื่อย ซึ่งเกมลูกหนังในระดับโรงเรียนและระดับสมัครเล่นนั้นยังพอเล่นได้ โดยเธออยู่ในสังกัดของทีมฟุตบอลหญิงเซนต์ เฮเลนส์ เลดี้ส์
ต่อมาเมื่อเริ่มเกิดสงครามโลกครั้งที่ 1 ช่วงนั้นผู้ชายถูกเกณฑ์ไปรบ ทำให้ทีมฟุตบอลในโรงงานหลายๆ แห่งต้องแก้ปัญหาด้วยการชวนผู้หญิงมาทำงานแทนตำแหน่งที่ว่างอยู่ แต่จะได้ค่าจ้างน้อยกว่าที่ผู้ชายได้รับครึ่งหนึ่ง
เมื่อถึงช่วงพักกลางวัน ความมหัศจรรย์ก็เริ่มเกิดเมื่อผู้ชายเตะฟุตบอลกัน ผู้หญิงก็ขอเตะด้วย ผู้คุมโรงงานเห็นจึงปิ๊งไอเดียว่า นี่อาจจะช่วยทำให้การทำงานนั้นดีขึ้น ว่าแล้วจึงมีการก่อตั้งทีมฟุตบอลหญิงขึ้นมา
หนึ่งในทีมที่ก่อตั้งยุคนั้นคือ ดิค เคอร์ เลดี้ส์ ซึ่งเป็นตัวแทนของโรงงานย่านเปรสตัน ซึ่งทีมนี้ได้ลงแข่งกับทีมเซนต์ เฮเลน เลดี้ส์
เซนต์ เฮเลน เลดี้ส์แพ้ยับไป 1-6 แต่ผลงานของปีกสาวน้อยวัย 14 ปีที่มีส่วนสูง 5 ฟุต 10 นิ้วนั้นเข้าตาของ อาร์โนลด์ แฟรงก์แลนด์ ผู้จัดการทีมดิค เคอร์ เลดี้ส์ เข้าอย่างจังจึงรีบชักชัวนสาวน้อยลิลี พาร์ รวมถึงเพื่อนของเธอ อลิซ วูดส์ มาร่วมเล่นด้วยกัน
ข้อเสนอของแฟรงก์แลนด์นั้นน่าสนใจ เพราะนอกจากจะได้งานในโรงงานแล้ว เขาจะให้เงินพิเศษกับเธอ 10 ชิลลิง ทุกนัดที่ลงเล่นให้ทีม และมีโบนัสพิเศษเป็นซิกาแรตยี่ห้อวูดไบน์ให้ด้วย
ลิลี พาร์ (ขวาสุดถือลูกฟุตบอล) ดาวเด่นของทีมดิค เคอร์ เลดี้ส์ และเพื่อนร่วมทีมของเธอ
พาร์ ตอบรับข้อเสนอและเธอก็กลายเป็นดาวเด่นของทีมหญิงเลยทีเดียว โดยในฤดูกาลแรกเธอจัดการซัลโวไป 43 ประตูด้วยกัน จนหนังสือพิมพ์ท้องถิ่นถึงกับเขียนบรรยายว่า “ไม่น่าจะเคยมีนักเตะพรสวรรค์มากขนาดนี้ในประเทศนี้มาก่อน”
หนึ่งในตำนานคือการที่ลิลีเคย ‘หักแขน’ ผู้รักษาประตูที่เป็นผู้ชายคนหนึ่ง ซึ่งไม่ได้แปลว่าเธอไปต่อสู้กับเขา แต่แขนของเขาหักเพราะพยายามจะหยุดลูกยิงของเธอ!
ชื่อเสียงของลิลี และทีมดิค เคอร์ เลดี้ส์ ขจรขจายไปทั่ว ใครๆ ก็อยากมาดูความเก่งกาจของพวกเธอ จนครั้งหนึ่งในเกมวันบ๊อกซิ่งเดย์เมื่อปี 1920 มีแฟนบอลมากกว่า 53,000 คน (และอีก 12,000 คนที่ไม่สามารถจะเข้าสนามได้ต้องรออยู่ข้างนอก!) เดินทางมาที่สนามกูดิสัน พาร์ก ของทีมเอฟเวอร์ตัน เพื่อรอดูทีมดิค เคอร์ เลดี้ส์ ลงปะทะกับเซนต์ เฮเลนส์ เลดี้ส์ ทีมเก่าของสาวลิลี และเกมจบลงด้วยชัยชนะของดิค เคอร์ เลดี้ส์ 4-0
ในปี 1921 ดิค เคอร์ เลดี้ส์ ลงสนาม 67 นัด โดยที่นักเตะในทีมนั้นได้สัญญาว่าจ้างเป็นงานประจำ นักเตะบางคนได้โอกาสในการติดทีมชาติอังกฤษหญิงลงแข่งกับเวลส์และสกอตแลนด์ ซึ่งทีมสิงโตสาวก็เป็นฝ่ายชนะด้วย
เพียงแต่ชื่อเสียงที่โด่งดังนั้นทำให้พวกเธอถูกจับตามองจากสมาคมฟุตบอลอังกฤษ โดยปัญหาที่ไม่น่าเป็นปัญหาคือการที่ดิค เคอร์ เลดี้ส์ จัดการแข่งขันเพื่อระดมทุนช่วยเหลือคนงานท้องถิ่น โดยเฉพาะคนงานเหมืองที่ไม่มีงานทำ ซึ่งก็จะจัดแข่งในสนามขนาดใหญ่เพื่อให้มีคนมาดูเยอะๆ จะได้เงินไปช่วยเหลือผู้คนเยอะๆ
ตรงนี้กลายเป็นเรื่องใหญ่ เพราะตามกฎสมัยนั้นทีมฟุตบอลหญิงถูกห้ามไม่ให้ลงแข่งในสนามขนาดใหญ่ ให้ลงเล่นได้แค่สนามเล็กๆ เท่านั้น และเจ้าหน้าที่ของสมาคมฟุตบอลก็ไม่ได้รับอนุญาตให้ไปตัดสินเกมฟุตบอลหญิงด้วย
โดยลึกๆ แล้วสิ่งที่คนในสมาคมฟุตบอลเริ่มกังวลคือ การที่ฟุตบอลหญิงกำลังได้รับความนิยมสูงขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 ซึ่งอาจส่งผลต่อความนิยมของเกมฟุตบอลชาย
ว่าแล้วเอฟเอจึงประกาศว่า “ฟุตบอลไม่เหมาะกับผู้หญิง” เป็นการตัดตอนไม่ให้ฟุตบอลหญิงเกิด
ความฝันของ ลิลี พาร์ และเพื่อนที่จะได้เป็นนักฟุตบอลอาชีพอย่างถูกต้องจึงดับสูญตั้งแต่อายุแค่ 16 ปี
แต่แฟรงก์แลนด์ไม่ยอมให้ลูกทีมของเขาเลิกฝันง่ายๆ เขายังผลักดันให้ทีมเดินหน้าต่อโดยที่ดิค เคอร์ เลดี้ส์ ได้เดินทางไปทัวร์ที่สหรัฐอเมริกา ลงแข่งกับทีมผู้ชายถึง 9 นัดโดยมีแฟนบอลมาชมมากกว่า 10,000 คนทุกนัด
ครั้งนึงลิลีและเพื่อนอีก 3 คนยังแข่งวิ่งควอเตอร์ไมล์กับทีมวิ่งผลัดเหรียญทองหญิงของสหรัฐฯ โดยที่พวกเธอเอาชนะได้ด้วย!
หลังจากนั้นในปี 1926 ทีมดิค เคอร์ เลดี้ส์ ได้เปลี่ยนชื่อทีมใหม่เป็น เปรสตัน เลดี้ส์ ตามชื่อเมืองที่ตั้ง โดยที่ลิลีและเพื่อนๆ ต่างลงเล่นอย่างต่อเนื่อง
ในปี 1937 เปรสตัน เลดี้ส์ ถล่มเอดินเบอระ เลดี้ส์ 5-1 พิชิตรายการ “แชมเปียนชิป ออฟ เกรท บริเทน แอนด์ เดอะ เวิลด์” หรือพูดง่ายๆ คือแชมป์โลก (สมัยนั้น) ได้
มีการบันทึกสถิติเอาไว้ว่าลิลี ซึ่งได้รับเลือกให้เป็นกัปตันทีมในปี 1946 ทำประตูมากถึง 967 ลูก จากจำนวนประตูทั้งหมด 3,022 ลูกที่ทีมเปรสตัน เลดี้ส์ทำได้ และพลาดการลงสนามไปเพียงแค่ 5 นัด
ลิลีลงสนามเกมสุดท้ายในชีวิตเมื่อเดือนสิงหาคม 1950 ในวัย 45 ปี โดยเธอสามารถยิงประตูส่งท้ายชีวิตการเล่นในนัดที่ถล่มทีมสกอตแลนด์ 11-1
เราอาจจะกล่าวได้ว่าเรื่องราวของเธอเป็นชีวิตนักเตะที่ประสบความสำเร็จไม่น้อย ยกเว้นแค่สิ่งเดียวที่น่าเสียใจคือ การที่เธอถูกขัดขวางจากผู้ชายในสมาคมฟุตบอลที่ปิดโอกาสให้เธอได้เป็นนักฟุตบอลอาชีพอย่างที่เธอสมควรจะเป็น
แต่อย่างน้อยที่สุดเธอก็มีชีวิตอยู่ยืนยาวพอที่จะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงของสมาคมฟุตบอลที่ยกเลิกคำสั่งไม่ให้ผู้หญิงลงแข่งในสนามของสมาคม แม้ว่าจะต้องใช้เวลา 50 ปีเพื่อจะเปลี่ยนแปลงคำสั่งดังกล่าว และต้องรอจนถึงปี 2008 กว่าที่สมาคมฟุตบอลจะยอมกล่าวคำขอโทษต่อวีรสตรีลูกหนังในยุคนั้นที่ถูกปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียม
หลังการเสียชีวิตในปี 1978 ด้วยวัย 73 ปี เรื่องราวของ ลิลี พาร์ กลายเป็นหนึ่งในแรงบันดาลใจที่ยิ่งใหญ่ของวงการฟุตบอลหญิงในอังกฤษและในระดับโลก เธอเป็นผู้หญิงคนแรกที่ได้รับเกียรติให้อยู่ในหอเกียรติยศของฟุตบอลในพิพิธภัณฑ์ฟุตบอลแห่งชาติเมื่อปี 2002 และมีการสร้างรูปหล่อของเธอขึ้นในปี 2019 เพื่อเป็นเกียรติแก่ตำนานนักเตะสาว
และนี่คือเรื่องราวของลิลี พาร์ สุดยอดนักเตะหญิงผู้จุดไม้ขีดไฟแห่งความฝันก้านแรกที่นำมาสู่แสงสว่างของวงการฟุตบอลหญิงของโลกในปัจจุบัน
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์
อ้างอิง:
- https://www.bbc.com/sport/football/55884099
- https://www.skysports.com/football/news/11095/12227921/lily-parr-anita-asante-on-why-dick-kerr-ladies-forward-is-both-a-football-and-lgbt-icon
- https://www.fifa.com/news/lily-parr-the-pioneering-star-2593969
- นอกจากการเล่นฟุตบอลแล้ว ลิลี พาร์ ยังประกอบอาชีพเป็นนางพยาบาลด้วย
- เธอมอบหัวใจให้แก่แมรี หญิงสาวที่ทำงานในที่เดียวกัน และมีความสัมพันธ์ที่เปิดเผยและงดงาม