ย้อนความทรงจำกลับไปเมื่อ 11 ปีที่แล้ว เหตุการณ์ทางการเมืองที่ถูกบันทึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์และความทรงจำของคนไทยหลายคนก็คือ การทำรัฐประหาร ยึดอำนาจรัฐบาล ‘ทักษิณ ชินวัตร’ ขณะดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549
‘พลเอก สนธิ บุญยรัตกลิน’ หรือ ‘บิ๊กบัง’ อดีตผู้บัญชาการทหารบก เป็นผู้นำ ภายใต้ชื่อ ‘คณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข’ หรือ คปค. ที่ภายหลังแปรสภาพเป็นคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ หรือ คมช.
เป็นการทำรัฐประหารครั้งที่ 13 ของประเทศไทย ยึดอำนาจบริหารจากนายกรัฐมนตรีคนที่ 23 ซึ่งขณะปฏิบัติภารกิจอยู่สหรัฐอเมริกา แม้ช่วงค่ำจะมีความพยายามอ่านประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินจาก ‘ทักษิณ’ แต่สัญญาณก็ถูกตัดกลางอากาศ และเปลี่ยนภาพมาเป็น ‘บิ๊กบัง’ และคณะแทน
11 ปีต่อมา ‘บิ๊กบัง’ เขียนหนังสือ 4 เล่ม บอกเล่าเส้นทางชีวิตตัวเอง และต่อไปนี้คือเรื่องราวที่ THE STANDARD บุกไปหาเขาถึงงานเปิดตัวหนังสือ เพื่อสนทนาถึงความใน (ใจ) ที่ถ่ายทอดเรื่องราวตัวเองผ่านตัวอักษร เวลาอาจจะมีจำกัด แต่เราพยายามสาดกระสุนคำถามให้เข้าเป้ามากที่สุดเท่าที่บรรยากาศอำนวย
ปฐมบทเริ่มต้น ‘ความจริงที่เป็นเรื่องจริง’ จาก ‘บิ๊กบัง’
กระแสข่าวเกี่ยวกับการซุ่มเขียนหนังสือของ ‘บิ๊กบัง’ มีให้ได้ยินมาโดยตลอด ตั้งแต่ช่วงหลังรัฐประหารเป็นต้นมา โดยเฉพาะวลีดังที่ได้ยินจากปากของเขาเกี่ยวกับเงื่อนปมในการรัฐประหารเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2549 ที่ถูก พลตรี สนั่น ขจรประศาสน์ ถามเมื่อปี 2555 ในการเสวนา คือ “ข้อเท็จจริงบางเรื่อง แม้ตนจะตายไปแล้วก็ไม่สามารถที่จะหาคำตอบได้” พลเอก สนธิ ย้ำหนักแน่นในเวลานั้น
เรื่องราวชีวิตของ ‘บิ๊กบัง’ ไม่ใช่แค่น่าสนใจในฐานะผู้บัญชาการทหารบกที่มาจากการนับถือศาสนาอิสลามคนแรก หรือมาจากหน่วยบัญชาการสงครามพิเศษคนที่ 3 หากแต่น่าสนใจมากขึ้น เพราะเขา ‘ดัง’ เพียงข้ามคืนจากการทำรัฐประหาร
มีเกร็ดเล็กๆ ที่ พลเอก สนธิ เขียนไว้ในหนังสือ ‘The Truth I ความจริงที่เป็นเรื่องจริง’ อันเป็นปฐมบทเริ่มต้นของการขีดเขียนเรื่องราวชีวิตผ่านตัวอักษร เกี่ยวกับความภูมิใจในการได้รับแต่งตั้งให้เป็น ผบ.ทบ. ว่า
“ในช่วงค่ำวันหนึ่งมีโทรศัพท์โทรเข้ามา เป็นเบอร์โทรศัพท์ของนายกรัฐมนตรี พ.ต.ท. ดร.ทักษิณ ชินวัตร (ยศในขณะนั้น) โทรมาบอกผมว่า ‘ยินดีด้วยนะที่ได้เป็นผู้บัญชาการทหารบก’ ผมรู้สึกดีใจและอึ้งไปชั่วขณะ จากนั้นจึงได้ตอบขอบคุณท่านนายกรัฐมนตรี” เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในปี 2548 ก่อนบุคคลที่โทรแสดงความยินดีจะถูกยึดอำนาจในปีถัดมา และนี่เป็นแค่บางส่วนของหนังสือเล่มแรกนี้
พลเอก สนธิ เคยให้สัมภาษณ์ว่าจะเขียนหนังสือถึงเหตุการณ์รัฐประหาร และจะขอเก็บไว้แจกเมื่อตนเองเสียชีวิต แต่ 11 ปีต่อมาเขาบอกว่า เขียนเสร็จเรียบร้อยแล้ว และเตรียมจะทยอยเปิดตัว
“ที่พูดมาก่อนหน้านี้อาจจะไม่ตรงกับที่ตั้งใจไว้ กล่าวคือ ถ้าเราเสียชีวิตก่อนเวลา หนังสือเล่มนี้ก็จะออกมา แต่จริงๆ แล้วคือจะออกมาตามจังหวะ โอกาส และสถานการณ์ประเทศ หนังสือเล่มนี้เป็นเล่มแรกที่ออกมาก่อนในจำนวน 4 เล่ม เป็นจุดเริ่มต้นให้รู้จักเราก่อนว่า พลเอก สนธิ เป็นใครมาจากไหน เป็นลูกชาวบ้านธรรมดา ไม่ได้วิเศษกว่าใคร
“เรามีความจงรักภักดีในฐานะของชาวไทย หนังสือเล่มนี้จึงจะแสดงออกถึงความจงรักภักดีเป็นหลัก จะเห็นว่าเส้นทางชีวิตเราเดินมาอย่างไร ให้เห็นถึงจุดยืน ความเชื่อมัน หลักการและเป้าหมายที่จะเดินไปข้างหน้าของชีวิตเรา”
หนังสือเล่มแรกของ พลเอก สนธิ ตั้งชื่อว่า ‘The Truth I ความจริงที่เป็นเรื่องจริง’ ซึ่งได้อธิบายให้ THE STANDARD ฟัง ถึงการตั้งชื่อนี้ว่า
“ที่ผ่านมาสื่อออนไลน์ โซเชียลมีเดียหลายแห่งยังไม่สามารถเชื่อถือได้ จึงต้องมีการเช็กอีกครั้ง ตามภาษาทหารเขาเรียกว่า parallel check ตรวจสอบแบบขนานกันไป แล้วหนังสือเล่มนี้ที่บอกว่า ความจริงที่เป็นเรื่องจริง จึงเป็นเรื่องจริงที่สุดแล้ว ไม่ต้องเช็กอีก”
อาจพูดง่ายๆ ว่าใครที่หยิบหนังสือเล่มนี้ขึ้นมา แล้วอยากรู้จักคนที่ชื่อ ‘บิ๊กบัง’ สามารถที่จะทำความรู้จักประวัติชีวิตของเขาได้ตั้งแต่จนจบผ่านตัวอักษรจากเล่มนี้
“ภาพที่ปรากฏในเล่มนี้ ผมเก็บสะสมมาตั้งแต่เด็ก เก็บสะสมมาเรื่อยๆ บางภาพก็ขอจากเพื่อนฝูง”
หนังสือเล่มนี้มี 4 ตอน บอกเล่าตั้งแต่ชีวิตวัยเยาว์ ที่เติบโตมาจากมาตระกูล บุญยรัตกลิน ที่สืบทอดมาจากตระกูลเฉกอะหมัด คูมี หรือ เจ้าพระยาบวรราชนายก ในสมัยพระเจ้าทรงธรรม ที่เป็นพ่อค้าชาวเปอร์เซียเดินเรือเข้ามาค้าขายในสมัยอยุธยา โดยทำงานรับใช้สนองพระเดชพระคุณตั้งแต่ พ.ศ. 2163 จนถึงปัจจุบัน ไล่เลียงเส้นทางชีวิตตั้งแต่เข้าเป็นนักเรียนเตรียมทหารรุ่น 6 และนายร้อย จปร. รุ่น 17 จนกระทั่งเรียนจบและเลือกเป็นทหารเหล่าราบ ไต่เต้าจนมาเป็น ผบ.ทบ. รวมทั้งเกร็ดต่างๆ ในห้วงเหตุการณ์สำคัญในชีวิตขณะทำหน้าที่ในกองทัพ เช่น เหตุการณ์ตากใบ
ความจริงที่เป็นเรื่องจริง ‘19 กันยายน’ จะปรากฏเมื่อใด?
ส่วนใครที่อยากรู้รายละเอียดเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ทางการเมือง ‘การทำรัฐประหาร 19 กันยายน’ เจ้าของเรื่องบอกว่าขออุบไว้ก่อน “พบกันในเล่มที่ 3 นะครับ”
แม้ว่าจะไม่ได้มีรายละเอียดทั้งหมดของการเขียนถึงเหตุการณ์เมื่อวันที่ 19 กันยายน แต่ในท้ายของหนังสือเล่มนี้ก็มีเขียนไว้ถึงการตัดสินใจของ ‘บิ๊กบัง’ ในเวลานั้นว่า
“ในขณะที่บ้านเมืองเกิดวิกฤตอย่างหนักและต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วน ผมต้องตัดสินใจอย่างเด็ดขาดและเด็ดเดี่ยวเพื่อรักษาไว้ซึ่งความมั่นคงของชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์
“ดังนั้น ในการแก้ปัญหาจึงจำเป็นต้องใช้ผู้ที่มีจิตใจกล้าหาญ มุ่งมั่น เสียสละ และให้ความร่วมมืออย่างจริงใจ ผมต้องขอบคุณ พล.อ.อ. ชลิต พุกผาสุข พล.ร.อ. สถิรพันธุ์ เกยานนท์ พล.ต.อ. โกวิท วัฒนะ พล.อ. บุญสร้าง เนียมประดิษฐ์ พล.อ. วินัย ภัททิยกุล พล.อ. อนุพงษ์ เผ่าจินดา และ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นอย่างยิ่ง
“เพราะหากไม่มีท่านเหล่านี้บ้านเมืองคงมีความเปลี่ยนแปลงแตกต่างไปจากวันนี้ ถึงแม้เหตุการณ์ที่ผ่านมาอาจถูกใจบ้าง ไม่ถูกใจบ้าง มันคือธรรมชาติของสังคมมนุษย์ เพราะไม่มีสิ่งใดที่ทำให้ถูกใจใครได้ทั้งหมด”
พลเอก สนธิ ย้ำว่า ในเล่มที่ 3 ที่จะเขียนถึงการรัฐประหาร ก็จะอยู่ภายใต้แนวคิดเดียวกัน คือ ‘ความจริงที่เป็นเรื่องจริง’ เพราะฉะนั้นผู้อ่านจะได้รู้ความจริงทั้งหมดจากเล่มนี้
ขณะที่ย้อนกลับไปในปี 2552 พลเอก สนธิ เคยให้สัมภาษณ์กับ ไทยโพสต์แท็บลอยด์ ซึ่ง ประชาไท ได้นำมาลงผ่านเว็บไซต์ ระบุถึงคำถามเกี่ยวกับความจริงที่จะเขียนหนังสือในเวลานั้น โดยได้รับคำตอบว่า
“บางอย่างก็เขียนได้ บางอย่างก็เขียนไม่ได้ บางอย่างมันก็ต้องตายไปกับตัวเหมือนกัน”
จึงกลายเป็นคำถามกลายๆ เช่นเดียวกันว่า เล่มที่ 3 เราจะได้อ่านความจริงทั้งหมดที่เป็นเรื่องจริง จริงหรือ พลเอก สนธิ พลิกให้ดูที่หน้าสุดท้าย เมื่อถามถึงสิ่งที่บอกว่า ‘ตายก็พูดไม่ได้’
ผู้เขียนพลิกไปที่หนังสือเล่มดังกล่าวในทันที
“ตายก็พูดไม่ได้ คือกฎขององค์กรลับทั้งปวง คนที่ผ่านการเรียนรู้เรื่องการปฏิบัติการลับจะเข้าใจผู้ใต้บังคับบัญชา ผมมาทำงานนี้ต้องเข้าใจกฎขององค์กรที่ว่า เปิดเผยไม่ได้ ตัวตายได้ กระสุนนัดสุดท้ายคือสังหารตัวเอง ปกป้ององค์กร และการรักษาความลับ… ถึงแม้เหตุการณ์ที่ผ่านมาอาจถูกใจคนบ้าง ไม่ถูกใจบ้าง มันคือธรรมชาติของสังคมมนุษย์ เพราะไม่มีสิ่งใดทำให้ใครถูกใจได้ทั้งหมด”
นั่นคือคำตอบในเบื้องต้นที่ต้องรออ่านความจริงจากนี้
มองบ้านเมือง ประชาชน ทหาร และลงจากหลังเสืออย่างไร
“เราต้องยอมรับว่าสังคมปัจจุบัน หนีไม่พ้นความเป็นประชาธิปไตย แต่จะเป็นประชาธิปไตยอย่างไร ก็ขึ้นอยู่กับคำว่า ‘เสรีภาพ’ ซึ่งเสรีภาพของประชาชนจะเป็นตัว วัดว่าเขาได้ประโยชน์จากสิ่งที่กำลังทำหรือไม่ มีความสุขหรือไม่ ซึ่งคุณภาพชีวิตประชาชนจะเป็นตัวชี้วัดว่าประเทศชาติเป็นอย่างไร และผู้ปกครองจะนำพาประเทศชาติไปในทิศทางที่ดีได้อย่างไร”
คำตอบนี้ ตอบแทบจะทันทีเมื่อสิ้นสุดคำถามว่า “บ้านเมืองตอนนี้จะไปอย่างไรต่อ” ขณะเดียวกันเขายังย้ำคำว่า ‘ประชาธิปไตย’ หลายครั้ง ต่อการตอบข้อซักถามนี้ระหว่างการสนทนา
“ปัญหาวันนี้ ประชาชนมีอุปสรรคต่อสิ่งที่มันควรจะเป็น รัฐบาลต้องไปปรับปรุง แต่โลกปัจจุบัน การที่ประประชาชนจะมีความสุข เจริญรุ่งเรือง ต้องเป็นระบอบประชาธิปไตย
“ฉะนั้น วันนี้ไม่มีอะไรดีไปกว่านั้น ผู้ปกครองประเทศและรัฐบาลต้องหันกลับไปมองที่ประชาธิปไตย ซึ่งหัวใจอยู่ที่ประชาชน ต้องเดินไปข้างหน้าด้วยการปกครองแบบประชาธิปไตยเท่านั้น เพราะโลกมันบังคับไปในทิศทางนั้น”
อีกหนึ่งคำที่ปรากฏระหว่างคำตอบ นอกจากบ้านเมืองต้องหันหัวไปที่ประชาธิปไตย ‘ประชาชน’ ก็เป็นหัวใจสำคัญของการเดินหน้าพัฒนาบ้านเมืองเช่นเดียวกัน
เมื่อถามถึงการเป็นทหารรุ่นพี่ที่มีผู้เปรียบเปรยว่าขึ้นขี่หลังเสือมาก่อน วันที่ลงจากหลังเสือรู้สึกอย่างไร คำตอบที่ได้จากบิ๊กบังคือ ตนเองไม่ได้ขึ้นขี่หลังเสือ!
“เราต้องยอมรับว่า เราขึ้นไปบนหลังเสือจริงหรือเปล่า ต้องดูในแต่ละกรณี ผมมั่นใจว่าผมไม่ได้อยู่บนหลังเสือ ซึ่งตอนที่ผมลงมา ผมมั่นใจว่าไม่มีปัญหาแน่”
วกกลับมาที่สถานการณ์เฉพาะต่อจากนี้ ซึ่งเป็นคำถามที่ดังและคาใจคนการเมืองมากที่สุด คือ ‘การเลือกตั้ง’ บิ๊กบังอธิบายให้ฟังว่า
“เลือกตั้งครั้งหน้าขึ้นอยู่กับกฎหมายพรรคการเมือง ถ้ากฎหมายอ่อนตัวให้ลงไปเล่นการเมืองได้ แต่มันคงหนีไม่พ้นรูปแบบเดิมๆ อาจจะต้องใช้ปัจจัยเยอะ นั่นเป็นแนวทางที่จะเกิดขึ้นในวันข้างหน้า ประชาชนจะต้องกินดีอยู่ดี มีความรู้ ให้ใครมาซื้อสิทธิ์ขายเสียงไม่ได้ ปัญหาวันนี้ยังไม่นำไปสู่ตรงนั้น ยังวนเวียนอยู่”
แล้วทหารกับการเมืองไทย ทำไมถึงวนเวียนซ้ำซาก ‘บิ๊กบัง’ อธิบายว่า
“บทบาททหารของการเมืองไทย เราต้องยอมรับความจริงว่า การปกครองประเทศ คนชี้วัดคือประชาชนว่าดีไม่ดี เมื่อฝ่ายการเมืองมีสภาวะอ่อนแอ เพราะประชาชนไม่พอใจการปกครอง วันนั้นมันวิกฤตเพราะประชาชนไม่พอใจการปกครอง มันเป็นภาวะที่องค์กรความมั่นคงต้องเข้ามา ซึ่งผมยืนยันว่าไม่มีอะไรที่ผมทำผิดกฎหมาย แต่เข้ามาแล้วประชาชนได้อะไรต่างหากคือสิ่งสำคัญ เขาได้ความปลอดภัยในชีวิตทรัพย์สินไหม?
“เป็นปัญหาหลักของสังคมไทย ต้องขัดหลายๆ เรื่องไม่ให้เกิด คือความเป็นธรรมในสังคม คุณภาพชีวิตประชาชน
“ทหารมาปกครองประเทศ บอกเลยว่าไม่ได้รู้เรื่องทุกเรื่อง แต่สำคัญคือ ทำอะไรให้ประชาชนบ้าง ผมคงตอบไม่ได้ว่าดีหรือไม่ ประชาชนเขาก็สะท้อนออกมาแล้ว”
ขณะที่ต้องไม่ลืมเหมือนกันว่า เขาได้สวมหมวกอีกใบ คือการเป็น ‘นักการเมือง’ เราจึงอดที่จะถามถึงเพื่อนร่วมงานของเขาไม่ได้เช่นกัน
“การเมืองปัจจุบัน นักการเมืองตกงาน แต่ผมบอกเลยว่า นักการเมืองส่วนใหญ่ เขาอยู่ใกล้กับประชาชน เขาไม่ได้ทิ้งประชาชน คนที่เป็นนักการเมืองอาชีพเขาทำแบบนี้ เพราะฉะนั้นไปถาม ส.ส. แต่ละเขต เขาก็ไม่ทิ้งประชาชน เพราะการเลือกตั้งก็ต้องอาศัยประชาชน” บิ๊กบังตอบและย้ำอีกประโยคก่อนจากลากันในวันนั้นว่า
“ในฐานะทหาร แทบไม่ต้องถามผมเลย ในหัวใจมีแต่การปกป้องประเทศชาติ ศาสนา และรักษาราชบัลลังก์เหนือสิ่งอื่นใด”
ส่วนความจริงที่เป็นเรื่องจริงที่ ‘ประชาชน’ จะได้อ่านจากเล่มนี้ จะเป็นตัวชี้วัดความจริงนี้ด้วยเช่นเดียวกัน
Photo: ธนกร วงษ์ปัญญา, AFP
- สํานักพิมพ์มติชน เป็นผู้จัดพิมพ์หนังสือ ‘The Truth I ความจริงที่เป็นเรื่องจริง’ ชีวประวัติของ บิ๊กบัง (พลเอก สนธิ บุญยรัตกลิน) (ขณะนี้พิมพ์ขายเล่มนี้เล่มเดียว)
- หนังสือชุด ‘The Truth’ ของ พลเอก สนธิ มีจำนวน 4 เล่ม ได้แก่
- The Truth I: เป็นเรื่องเกี่ยวกับชีวิตความเป็นมาของเด็กคนหนึ่งที่เติบโตจนก้าวขึ้นมาสู่ตำแหน่ง ‘ผู้บัญชาการทหารบก’
- The Truth II: เป็นเรื่อง ‘สงครามกับการเมืองไทย’ ซึ่งจะกล่าวถึงสงครามกับการเมืองของประเทศไทยที่ผ่านมา และผลกระทบที่ประชาชนและประเทศชาติได้รับว่ามีผลดีและผลเสียอย่างไร
- The Truth III: ในหัวข้อ ‘ผู้บัญชาการทหารบกคนที่ 35 ของกองทัพบกไทย’ และผู้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญที่ต้องจารึกไว้ในหน้าประวัติศาสตร์ คือ การเป็นหัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข
- The Truth IV: ในหัวข้อ ‘ผมอยากเป็นนักการเมืองที่ดี’ ในฐานะที่ผู้เขียนเรียนจบปริญญาเอกทางด้านรัฐศาสตร์การเมือง จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง จึงอยากถ่ายทอดเรื่องราวและประสบการณ์ในการดำรงตำแหน่งเป็น ‘รองนายกและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร’ รวมถึงความสำเร็จและความล้มเหลวของการเมืองไทย ให้ท่านผู้อ่านทุกท่านได้เข้าใจอย่างแท้จริง