ชาญศิลป์ ตรีนุชกร รักษาการแทนกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) หรือ THAI กล่าวว่า วันนี้ (2 มีนาคม) การบินไทยทำและยื่นแผนฟื้นฟูกิจการต่อกรมบังคับคดี (และเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์) แล้ว โดยมีรายละเอียดในแผนฟื้นฟูดังนี้
- ประมาณการว่าภายใน 5 ปี หรือปี 2568 การบินไทยจะกลับมามีรายได้ที่ 1.4 แสนล้านบาท (ลดลง 21% จากช่วงก่อนโควิด-19 ปี 2562)
- แผนการปรับโครงสร้างธุรกิจเพื่อลดต้นทุนลง ซึ่งเดือนกรกฎาคมนี้คาดว่าจะลดต้นทุนได้ 3.6 หมื่นล้านบาท และปี 2568 จะลดลงอีก 5.8 หมื่นล้านบาท
- ในส่วนของบุคลากร คาดว่าปี 2568 จะมีพนักงานทั้งหมด 13,000-15,000 คน ลดลงเกือบ 50% จากช่วงก่อนหน้าที่มีพนักงานราว 29,000 คน โดยผ่านโครงการร่วมใจจากองค์กร (MSP A, B,C)
- มูลหนี้ทั้งหมดปัจจุบันอยู่ที่ 4.1 แสนล้านบาท บางส่วนยังไม่ใช่มูลหนี้จริง เพราะเจ้าหนี้บางส่วนรวมหนี้ในอนาคตที่ยังไม่เกิดขึ้นเข้ามาแล้ว สุดท้ายจึงขึ้นอยู่กับเจ้าหน้าที่พิทักษ์ทรัพย์จะสรุปมูลค่าหนี้รวมว่าอยู่ที่เท่าใด อย่างไรก็ตาม ในแผนฯ นี้ยังไม่มีการตัดหนี้ (Hair Cut) เพราะต้องทำแผนฟื้นฟูฯ ที่เจ้าหนี้จะให้ความเห็นชอบ
“เราจะฟื้นฟูกิจการ ซึ่งเราเริ่มทำหลายเรื่องแล้ว ทั้งการต่อรองการใช้เครื่องบิน-เครื่องยนต์ราว 50-60 สัญญา เพื่อเป็นรูปแบบการจ่ายเงินตามการใช้งาน หรือบินเท่าไรจ่ายเท่านั้น ซึ่งช่วยลดต้นทุนได้ 30-50% ในเรื่องคน ค่าใช้จ่ายต่อปีจะอยู่ที่ 3 หมื่นล้านบาท ซึ่งในอนาคตพนักงานจะลดลงราวครึ่งหนึ่ง ค่าใช้จ่ายก็จะปรับลดลงด้วย”
อย่างไรก็ตาม การลดต้นทุนของการบินไทยจะมาจากการปรับแผนลดจำนวนเครื่องบินเหลือ 86 ลำ การปรับลดแบบเครื่องบินเหลือ 5 แบบ และลดแบบเครื่องยนต์เหลือ 4 แบบ จะช่วยลดต้นทุนในการบริหารจัดการได้มาก และรวมถึงการปรับผังการบินในเส้นทางการบินที่ทำกำไร และการปรับราคา รวมถึงการทำโปรโมชันให้ตรงกลุ่มลูกค้า
ขณะที่ปี 2564 นี้มองว่า ภาพรวมการบินไทยยังมีความเสี่ยงจากสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง แต่คาดว่าในช่วงไตรมาส 1 และ 2 จะสร้างรายได้ผ่านธุรกิจ Cargo เป็นหลัก และในไตรมาส 3 คาดว่าจะเริ่มเปิดเที่ยวบินเชิงพาณิชย์ได้ คาดว่าจะเริ่มเที่ยวบินแฟรงเฟิร์ต-ภูเก็ต ฯลฯ และจะทยอยเปิดในเส้นทางอื่นๆ เช่น ลอนดอน ซูริค เกาหลี จีน ญี่ปุ่น ฯลฯ โดยจะมุ่งเน้นเส้นทางการบินที่เรามีความแข็งแกร่งและทำกำไรอยู่แล้ว
แต่ทั้งปี 2564-2565 รายได้อาจจะยังไม่กลับมา เพราะอยู่ระหว่างการปรับโครงสร้างทั้งหมด และรายได้จะกลับมาเพิ่มขึ้นตั้งแต่ปี 2566 และจะมีรายได้ 1.4 แสนล้านบาทในปี 2568 ซึ่งเป็นปีที่ออกจากแผนฟื้นฟูฯ (ใช้เวลา 5 ปี)
อย่างไรก็ตาม สิ่งสำคัญในการฟื้นตัวของการบินไทยคือ สภาพคล่องที่ใช้ในการปรับโครงสร้าง โดยในแผนฟื้นฟูฯ ที่ยื่นไปจะมีการทุนใหม่เข้ามา 5 หมื่นล้านบาท เพื่อเสริมสภาพคล่องของธุรกิจ โดยตามแผนจะแบ่งเป็นก้อนแรก 3 หมื่นล้านบาท (จะมาจากเงินกู้ใหม่และทุนใหม่รวมกัน) ต้องเข้ามาภายในเดือนมิถุนายน 2564 และส่วนที่เหลืออีก 2 หมื่นล้านบาทจะเข้ามาภายใน 2 ปี
ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่พิทักษ์ทรัพย์จะส่งแผนฟื้นฟูฯ ให้เจ้าหนี้ทุกกลุ่มที่มีอยู่ 13,000 ราย และการบินไทยจะพบกับเจ้าหนี้ในวันที่ 12 พฤษภาคม 2564 เพื่อลงคะแนนว่าแผนฟื้นฟูนี้ได้รับความเห็นชอบหรือไม่ หากเจ้าหนี้เกินกว่า 50% เห็นชอบ แผนฟื้นฟูนี้จึงจะสำเร็จและส่งต่อไปที่ศาลล้มละลายกลาง และตัดสินใจในช่วงเดือนกรกฎาคม-มิถุนายน64
ขณะเดียวกัน การบินไทยคาดว่าจะได้รับการปลดเครื่องหมาย SP (ห้ามซื้อ-ขาย) ในช่วงวันที่ 25 มีนาคม 2564 ตามกำหนดระยะเวลา 1 เดือนหลังการขึ้นเครื่องหมาย SP เมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2564 ที่ผ่านมา
โอกาสของเศรษฐกิจโลกอยู่ตรงไหน ไทยตกขบวนการฟื้นตัวหรือไม่? บิตคอยน์คือ สินทรัพย์ทางเลือก หรือฟองสบู่ที่รอวันแตก? เราควรปรับพอร์ตอย่างไรเพื่อเติบโตท่ามกลางความตกต่ำ
ร่วมกันค้นหาคำตอบใน THE STANDARD WEALTH FORUM: Catch the Next Curve
สิทธิพิเศษ! ลงทะเบียนรับรหัสจำนวนจำกัด เพื่อเข้าชมถ่ายทอดสดได้ที่ thestandard.co/events