×

กลุ่มส่งออก ‘อาหาร-เกษตร’ เด่นสุด! หากเงินบาทอ่อนค่าต่อเนื่อง

01.03.2021
  • LOADING...
กลุ่มส่งออก ‘อาหาร-เกษตร’ เด่นสุด! หากเงินบาทอ่อนค่าต่อเนื่อง

การเคลื่อนไหวของเงินบาทในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาต่อเนื่องถึงวันนี้ (1 มีนาคม)​ มีความผันผวนค่อนข้างสูง โดยบางช่วงเงินบาทอ่อนค่าอย่างรวดเร็วไปแตะระดับ 30.50 บาทต่อดอลลาร์ แต่หลังจากนั้นก็เริ่มมีแรงซื้อเงินบาทกลับเข้ามา หนุนให้ค่าเงินบาทแข็งค่าเล็กน้อยมาเคลื่อนไหวในระดับ 30.30 บาทต่อดอลลาร์ โดยแนวโน้มระยะสั้น นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ยังเชื่อว่ามีโอกาสที่จะอ่อนค่าลงได้ต่อเนื่อง ซึ่งประเด็นนี้อาจมีผลต่อการลงทุนในตลาดหุ้นด้วยเช่นกัน

 

ณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทรีนีตี้ เปิดเผยว่า ค่าเงินบาทช่วง 5 วันที่ผ่านมา หากเทียบกับสกุลเงินอื่นในเอเชีย อ่อนค่ามากสุดเป็นลำดับที่ 5 รองจาก อินเดีย ญี่ปุ่น อินโดนีเซีย และเกาหลีใต้ ซึ่งการอ่อนค่าในระดับกลางเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ส่วนมากจะเกิดจากประเด็นภายนอกเป็นสำคัญ 

 

กล่าวคือ ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาเงินดอลลาร์แข็งค่าขึ้น สอดคล้องกับการเทขายสินทรัพย์เสี่ยงในระยะสั้น รวมถึงฟันด์โฟลวที่ไหลออกจากไทย เนื่องจากการปรับพอร์ตตามการปรับลดน้ำหนักของ MSCI 

 

“ส่วนตัวมองว่าปัจจัยต่างๆ เป็นปัจจัยระยะสั้น ซึ่งอาจจะยังไม่สามารถสรุปได้ว่าเงินบาทจะเป็นเทรนด์อ่อนค่าในระยะยาว ขณะที่เทรนด์หลักต่อจากนี้ยังเป็นเรื่องของการอัดฉีดสภาพคล่อง ทำให้เงินดอลลาร์ยังมีแนวโน้มอ่อนค่าในระยะยาว” 

 

หากการอ่อนค่าของเงินบาทเป็นเพียงช่วงสั้น จะเป็นโอกาสที่ดีของผู้ส่งออกสำหรับการล็อกอัตราแลกเปลี่ยน และเป็นโอกาสของนักลงทุนที่ออกไปลงทุนต่างประเทศ เพราะเป็นโอกาสในการล็อกค่าเงินเช่นกัน ทั้งนี้ มองว่าค่าเงินบาทไม่น่าจะอ่อนค่าไปมากกว่า 30.6-30.7 บาทต่อดอลลาร์ จากปัจจุบันอยู่ที่ 30.3-30.4 บาทต่อดอลลาร์

 

สำหรับผลกระทบต่อหุ้น โดยทั่วไปแล้วการอ่อนค่าของเงินบาทจะส่งผลบวกต่อหุ้นส่งออก แต่สำหรับกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ต้องระมัดระวังอย่างมาก ด้วยราคาหุ้นที่พุ่งขึ้นมาต่อเนื่องจนค่า P/E สูงมาก ทำให้หุ้นกลุ่มนี้เป็นเป้าหมายของการเทขายในช่วงที่บอนด์ยีลด์พุ่งขึ้นมา ขณะเดียวกันกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์มีความเสี่ยงจากต้นทุนที่อาจจะสูงขึ้น หลังจากราคาทองแดงเพิ่มขึ้นทำจุดสูงสุดในรอบ 10 ปี ขณะที่ตัวเลข PMI ของจีนลดลงเป็นเดือนที่ 3 ติดต่อกัน 

 

ส่วนหุ้นกลุ่มส่งออกอาหารและเกษตรค่อนข้างน่าสนใจมากกว่า ด้วยค่า P/E ที่ยังไม่สูงเมื่อเทียบกับอดีตที่ผ่านมา ขณะเดียวกันสินค้าในกลุ่ม Soft Commodities จะได้แรงหนุนจากธีม Reflation 

 

อาทิตย์ จันทร์สว่าง ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.กรุงศรี มองว่า ด้วยพื้นฐานของเศรษฐกิจไทยปีนี้ อย่างตัวเลขคาดการณ์เติบโต GDP ของไทยปีนี้ ซึ่ง IMF คาดว่าอยู่ที่ 2.7% น้อยกว่าคาดการณ์ของฝั่งสหรัฐฯ ซึ่งอยู่ที่ 5.7% ทำให้ฟันด์โฟลวมีโอกาสไหลออก และเงินบาทก็น่าจะมีโอกาสอ่อนค่าต่อได้ 

 

การอ่อนค่าของเงินบาทโดยทั่วไปแล้วจะส่งผลบวกต่อหุ้นกลุ่มส่งออก แต่ไม่ใช่ว่าจะได้ประโยชน์ทั้งหมดในรอบนี้ อย่างกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ซึ่งปรับตัวขึ้นมาแรงก่อนหน้านี้ ประกอบกับแรงกดดันจากการปรับฐานของหุ้นเทคโนโลยีทั่วโลก 

 

“เรามองว่าหุ้นกลุ่มอาหารของไทยน่าสนใจมากสุดจากเงินบาทอ่อนค่า ด้วยราคาหุ้นที่ยัง Laggard และยังราคาถูก เช่น CPF และ TU ซึ่งราคายังซื้อขายอยู่ในกรอบล่างของค่าเฉลี่ยที่ผ่านมา” 

 

สำหรับ CPF จะได้ประโยชน์สองต่อทั้งจากค่าเงินบาทอ่อนค่า และจากราคาหมูและไก่ที่ยังอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะราคาหมูซึ่งได้แรงหนุนจากอุปทานที่ลดลงไปมาก หลังจากจีนและเวียดนามเกิดโรคระบาด ทำให้พ่อพันธุ์หมูในจีนลดลงจากราว 4 ล้านตัว เหลือเพียงกว่า 2 ล้านตัว ขณะที่การเลี้ยงหมูเข้ามาทดแทนจะใช้เวลาราว 10 เดือน ทำให้อุปทานโดยรวมจะยังตึงตัวอีก 5-6 เดือน 

 

ในมุมกลับกัน การอ่อนค่าของเงินบาทจะกระทบกับหุ้นที่มีหนี้เป็นเงินสกุลต่างประเทศ เช่น หุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้า หุ้นกลุ่มพลังงาน และหุ้นที่มีการนำเข้าวัสดุและอุปกรณ์จากต่างประเทศ เช่น กลุ่มสื่อสาร และกลุ่มรับเหมาก่อสร้าง ซึ่งต้นทุนจะสูงขึ้น

 

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

 


 

โอกาสของเศรษฐกิจโลกอยู่ตรงไหน ไทยตกขบวนการฟื้นตัวหรือไม่? บิตคอยน์คือ สินทรัพย์ทางเลือก หรือฟองสบู่ที่รอวันแตก? เราควรปรับพอร์ตอย่างไรเพื่อเติบโตท่ามกลางความตกต่ำ

 

ร่วมกันค้นหาคำตอบใน THE STANDARD WEALTH FORUM: Catch the Next Curve

 

สิทธิพิเศษ! ลงทะเบียนรับรหัสจำนวนจำกัด เพื่อเข้าชมถ่ายทอดสดได้ที่ thestandard.co/events

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising