ช่วงเวลาก่อนนอนเป็นช่วงเวลาแสนวิเศษ ซึ่งทันทีที่คุณเอนกายลงบนเตียงนุ่มๆ มือของคุณจะได้คว้าไปหยิบโทรศัพท์ข้างเตียงมากดเพื่อเช็กความเคลื่อนไหวในโซเชียลมีเดียให้ทันกับชาวโลก หรืออ่านข่าวสารต่างๆ ที่มาร์กเอาไว้ว่าจะอ่านแต่ก็ยังไม่ได้อ่าน ใช่ นี่คือช่วงเวลาแสนสุขที่คุณได้อยู่กับตัวเองอย่างสงบ และไม่ใช่คุณคนเดียวแน่ๆ ที่ทำเช่นนั้น
แต่การกลอกตาไปมาจ้องหน้าจอจิ๋วๆ ขณะที่ร่างกายต้องการพักจะแย่สำหรับร่างกายจะไหวแค่ไหนกัน ดร. แดเนียล ซีเกล (Daniel Siegel) ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาคลินิก โรงเรียนแพทยศาสตร์ แห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ลอสแอนเจลิส (UCLA School of Medicine) เผยกับ Business Insider ว่า “ขณะที่ตาของเรากำลังจ้องภาพจำนวนมหาศาล สมองของเราก็จะตื่นตัวจนส่งผลให้นอนไม่ค่อยหลับ อย่างถ้าเราเช็กอีเมล หรือมองหาข้อความสักฉบับ สมองก็จะสั่งการให้อย่าเพิ่งหลั่งสารเมลาโทนิน (melatonin) ออกมา เพราะนี่ยังไม่ถึงเวลานอน
นั่นแปลว่าขณะที่เมลาโทนินต้องทำงาน และเรากำลังอ่านหัวข้อเทรนดิ้งบนทวิตเตอร์อย่างเมามัน เรากำลังสั่งให้ร่างกายไม่ยอมหลับ ซึ่งนอกจากจะทำให้คุณภาพของการนอนแย่ลงแล้ว ผลเสียจากการอดนอนยังก่อให้เกิดความรู้สึกไม่แจ่มใส สมองเบลอต่อการคิดแก้ปัญหาต่างๆ ไปจนถึงขั้นหลงลืม
รวมถึงเป็นสาเหตุที่ทำให้สารอินซูลิน (insulin) ในร่างกาย ซึ่งช่วยในการเผาผลาญทำงานผิดปกติ ทำให้ร่างกายเผาผลาญสิ่งที่กินเข้าไปได้ไม่ดีเท่าที่ควร คล้ายกับมีพิษอยู่ในร่างกายก็ว่าได้”
แต่ถ้าอยากเล่นมือถือก่อนนอนควรทำอย่างไรดี
พญ. วรรณวิพุธ สรรพสิทธิ์วงศ์ แพทย์ประจำศูนย์เวชศาสตร์ชะลอวัย (Vital Life Wellness) โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ แนะนำสำหรับคนที่อดใจอยากเล่น อยากอ่าน หรือจำต้องใช้หน้าจอคอมพิวเตอร์ขณะนอนเอกเขนกบนเตียงยามค่ำดังนี้
“ถ้าหากจำเป็นต้องใช้มือถือ คอมพิวเตอร์ ควรพักสายตาทุก 45-60 นาที และหยุดเล่นก่อนเข้านอนราวๆ 20 นาที เพื่อให้ร่างกายผ่อนคลาย และพร้อมจะนอนหลับ
“และเพื่อการนอนหลับที่สนิทและสุขภาพดี ควรเสริมสร้างสุขอนามัยในการนอน (Sleep Hygiene) โดยปรับอุณหภูมิในห้องให้พอเหมาะและมีอากาศถ่ายเทเหมาะสม ไม่อับ ไม่หนาว หรือร้อนจนเกินไป และไม่ควรมีแสงกระทบ เนื่องจากแสงจะไปรบกวนการหลั่งฮอร์โมนเมลาโทนินที่ทำให้เราหลับสนิท และก่อนที่ร่างกายจะหลับนั้น ต้องอาศัยเวลาในการผ่อนคลาย ไม่ว่าจะเป็นสมองหรือกล้ามเนื้อ ดังนั้นการทำกิจกรรม เช่น ดูโทรทัศน์ เล่นคอมพิวเตอร์ กดโทรศัพท์หรือแท็บเล็ต จะส่งผลทำให้หลับได้ยากขึ้น หรือหลับไม่สนิทดีพอ
“ในกรณีที่เสพติดโซเชียลมีเดีย แชตคุย เล่นอินเทอร์เน็ต ดูยูทูบ หรือไลน์ทีวี ผ่านมือถือในที่มืด อาจเกิดกรณีมือถือตกใส่หน้ามาพบแพทย์ก็มี แต่ที่ร้ายกว่านั้นคือพฤติกรรมที่ส่งผลเสียต่อสายตา ทำให้ตาแห้ง และสายตาเกิดความผิดปกติได้”
แต่ถ้าคุณเป็นคนหนึ่งที่เลี่ยงกิจกรรมดิจิทัลขณะอยู่บนเตียงได้ เราก็ขอแสดงความยินดีด้วย