ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อธุรกิจไทยอย่างต่อเนื่อง โดยเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ที่ผ่านมา การฟื้นตัวของธุรกิจปรับตัวดีขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า ส่วนหนึ่งเพราะการผ่อนคลายและปรับโซนพื้นที่ควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 แต่ภาคการท่องเที่ยวและภาคการค้ายังไม่ปรับตัวดีขึ้นมากนัก
ทั้งนี้ภาคธุรกิจยังฟื้นตัวชะลอ เนื่องจากความเชื่อมั่นและกำลังซื้อโดยรวมอยู่ในระดับต่ำ โดยอุปสรรคต่อการฟื้นตัวของธุรกิจ ได้แก่ 1. กำลังซื้ออ่อนแอ 2. การแพร่ระบาดระลอกใหม่ 3. เที่ยวบินและการเดินเรือยังไม่กลับสู่ระดับปกติ 4. พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนไป
อย่างไรก็ตามมุมมองของภาคธุรกิจมองว่า อุปสรรคต่างๆ ผ่อนคลายลงบ้างจากเดือนก่อนหน้า โดยภาคการผลิตยังไม่ฟื้นตัวจากปัญหาด้านโลจิสติกส์จากค่าระวางเรือที่สูงขึ้นและการขาดแคลนตู้คอนเทนเนอร์
ขณะที่ความเสี่ยงการแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ในไทยอาจจะใกล้เคียงหรือน้อยกว่าระลอกก่อนเล็กน้อย ยกเว้นภาคท่องเที่ยวที่ยังจะได้รับผลกระทบรุนแรงกว่าระลอกก่อน ธุรกิจท่องเที่ยวคาดว่ายังไม่ฟื้นตัวในระยะอันใกล้ โดยชั่วโมงการทำงานเฉลี่ยต่อคนอยู่ที่ 64.3 ชั่วโมง และรายได้ของแรงงานอยู่ที่ 62.5 ต่อคน ถือว่าต่ำกว่าเซกเตอร์อื่นๆ
อย่างไรก็ตาม จากผลสำรวจความเชื่อมั่นทางธุรกิจ (BSI) เฉพาะกิจ พบว่าระดับกิจกรรมทางธุรกิจเดือนกุมภาพันธ์ 2564 ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนก่อนหน้า โดยกิจกรรมบางส่วนที่หยุดชะงักเริ่มทยอยกลับมา ซึ่งส่งผลดีต่อการจ้างงานและรายได้ของแรงงานในบางธุรกิจที่ฟื้นตัว
ทั้งนี้ ในส่วนการปรับตัวของภาคธุรกิจ ทั้งธุรกิจในและนอกภาคการผลิตมีการปรับเปลี่ยนนโยบายการจ้างงาน เช่น การสลับมาทำงาน, การลดชั่วโมงการทำงาน, ใช้วันลา, ปลดคนงาน ฯลฯ ลดลงจากเดือนก่อนหน้า โดยธุรกิจนอกการผลิตมีแนวโน้มใช้นโยบายปลดคนงานเพิ่มขึ้นเพื่อประคองธุรกิจ
พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล