วันนี้ (24 กุมภาพันธ์) ทางการอินเดียเผย เริ่มจัดส่งวัคซีนต้านโควิด-19 AstraZeneca จากโครงการ Covax ขององค์การอนามัยโลก (WHO) และพันธมิตร ไปยังทวีปแอฟริกาแล้ว ตั้งเป้าช่วยเหลือ 400 ล้านโดส เพื่อสนับสนุนการเข้าถึงวัคซีนอย่างเท่าเทียมในประชาคมโลก
โดยสถาบันเซรุ่มแห่งชาติอินเดียเป็นหนึ่งในฐานการผลิตวัคซีนต้านโควิด-19 ของ AstraZeneca ที่เข้าร่วมกับโครงการ Covax และอินเดียเคยจัดส่งวัคซีนล็อตแรก 1 ล้านโดสไปยังแอฟริกาใต้แล้วก่อนหน้านี้ ซึ่งมีประสิทธิภาพในการต้านโควิด-19 อยู่ที่ 62-90% หากฉีดวัคซีนห่างกัน 4 สัปดาห์ และมีประสิทธิภาพต้านโควิด-19 อยู่ที่ 82.4% หากฉีดวัคซีนทั้งสองโดสห่างกัน 12 สัปดาห์
มีประเทศในแอฟริกา 4 ประเทศ ได้แก่ แอลจีเรีย โมร็อกโก อียิปต์ และแอฟริกาใต้ ที่อนุมัติการใช้งานวัคซีนในกรณีฉุกเฉินแล้ว โดยวัคซีน AstraZeneca เป็นหนึ่งในวัคซีนที่ได้รับการรับรองการใช้งานจาก WHO และหน่วยงานของไทยเองก็อนุมัติการใช้วัคซีนต้านโควิด-19 ตัวนี้เป็นกรณีฉุกเฉินเรียบร้อยแล้ว
ขณะนี้ทั่วโลกมีผู้ติดโควิด-19 สะสมแล้วกว่า 112 ล้านราย (112,075,694 ราย) รักษาหายแล้ว 88,227,995 ราย หรือคิดเป็นราว 74% ของผู้ติดเชื้อทั้งหมด เสียชีวิตแล้ว 2,483,496 ราย อัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ราว 2.2%
ล่าสุด สหรัฐอเมริกาเองก็ยังคงเป็นประเทศที่มีผู้ติดเชื้อสะสมมากที่สุด (28,257,908 ราย) และเสียชีวิตมากที่สุดกว่า 5 แสนราย ตามมาด้วยอินเดีย (11,016,434 ราย) บราซิล (10,257,875 ราย) สหราชอาณาจักร (4,146,734 ราย) และรัสเซีย (4,142,126 ราย) พบผู้ติดเชื้อแล้วอย่างน้อย 186 จาก 193 ประเทศทั่วโลก
บทความที่เกี่ยวข้อง:
- ชม ‘สถานการณ์ล่าสุด การฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 ในอาเซียน ใครเริ่มฉีดแล้วบ้าง’
- เช็กประสิทธิภาพวัคซีนต้านโควิด-19 ล่าสุดในประชาคมโลก
- ชม ‘อันดับประเทศที่รับมือวิกฤตโควิด-19 ได้ดีที่สุด โดย Lowy Institute’
- ชม ‘กางแผนที่โลก EIU คาดการณ์แต่ละประเทศจะฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 ให้ประชาชนได้ตามเป้าเมื่อไร’
ภาพ: NurPhoto via Getty Images
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล
อ้างอิง: