×

ภาษีกับความท้าทายหลังยุคโควิด-19

19.02.2021
  • LOADING...
ภาษีกับความท้าทายหลังยุคโควิด-19

Tax Ecosystem กำลังมีการเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่จากปัจจัยหลายอย่าง ได้แก่

  1. โลกกำลังก้าวเข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ 
  2. วิกฤตโควิด-19 ซึ่งถือเป็นเรื่องใหม่ของทุกองค์กรและส่งผลกระทบอย่างรุนแรงและกว้างขวาง วิกฤตครั้งนี้ถือเป็นตัวเร่งปฏิกริยาที่สำคัญที่ทำให้เกิดการนำแผนการสำหรับ Digital Transformation ที่เตรียมไว้มาใช้ปฏิบัติจริงได้อย่างรวดเร็ว เพื่อที่จะปรับตัวและรับมือกับผลกระทบของวิกฤตโควิด-19 ที่เกิดขึ้น 
  3. รูปแบบการดำเนินธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไป เพื่อรองรับความต้องการของผู้บริโภคในยุคสมัยใหม่
  4. การพัฒนาความร่วมมือด้านภาษีระหว่างประเทศ โดยองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา หรือที่เรียกว่า OECD (Organization for Economic Co-operation and Development) ได้ออกมาตราการ BEPS (Base Erosion and Profit Shifting) ซึ่งได้กล่าวถึง 15 แผนปฏิบัติการ (Action Plans) เพื่อดำเนินการหามาตรการป้องกันการวางแผนภาษี ที่จะมีผลให้เกิดการเคลื่อนย้ายกำไรเพื่อเสียภาษีในประเทศที่ภาระภาษีต่ำกว่า โดย ณ ปัจจุบัน 138 ประเทศทั่วโลกได้ลงนามเข้าร่วมกรอบความร่วมมือเบื้องต้น หรือ Inclusive Framework สำหรับประเทศไทยนั้น คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้เข้าร่วมภาคีเมื่อวันที่ 16 พฤษภาคม 2559 

 

เคพีเอ็มจี ประเทศไทย ในฐานะที่ปรึกษาทางภาษี จะขอแนะนำให้ผู้ประกอบการเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับความท้าทายที่จะเข้ามาเปลี่ยนโลกภาษี ดังนี้

 

1. Digitize tax data and processes หรือการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติการด้านภาษี

กรมสรรพากรเป็นหน่วยงานหนึ่งที่มีการปรับตัวเพื่อรับมือกับวิกฤตโควิด-19 โดยมีการวางแผนในเรื่อง Digital Transformation และสามารถนำมาใช้จริงได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ นอกจากการสนับสนุนให้ผู้เสียภาษียื่นแบบแสดงรายการภาษีต่างๆ ผ่านทางออนไลน์โดยการให้สิทธิประโยชน์เพิ่มเติม ยังมีการเปลี่ยนแปลงกระบวนการทำงานอื่นๆ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้ดีขึ้น เช่น การใช้ระบบ Data Analytics เพื่อวิเคราะห์ข้อมูล เจ้าหน้าที่กรมสรรพากรสามารถลดระยะเวลาในการตรวจสอบข้อมูล วิเคราะห์ข้อมูล เพื่อแยกประเภทกลุ่มผู้เสียภาษีระหว่างกลุ่มดีและกลุ่มเสี่ยง เมื่อกรมสรรพากรมีข้อมูลมากขึ้นและสามารถตรวจสอบข้อมูลย้อนหลังได้หลายปี ก็จะสามารถตรวจสอบทางด้านภาษีได้อย่างแม่นยำมากขึ้น

 

โดยสามารถตรวจหารายการที่มีความผิดปกติจากรายการทั่วไป หรือรายการค่าใช้จ่ายที่เพิ่มมากขึ้นจากปีก่อนๆ อย่างมีนัยสำคัญ เพื่อเป็นกำหนดประเด็นในการเลือกตรวจได้ตรงจุดมากขึ้น นอกจากนี้ กรมสรรพากรยังสามารถเปรียบเทียบข้อมูลเชิงภาษีและตัวบ่งชี้ทางการเงินอื่นๆ ระหว่างผู้เสียภาษีที่มีลักษณะคล้ายกัน และเลือกผู้เสียภาษีที่มีตัวบ่งชี้ที่หลุดไปจากเกณฑ์ปกติมาตรวจสอบได้ 

 

เมื่อกรมสรรพากรมีการปรับตัว มีการพัฒนาวิธีการวิเคราะห์และตรวจสอบข้อมูลภาษี ทำให้เจ้าหน้าที่ตรวจสอบของกรมสรรพากรสามารถเข้าถึงข้อมูลของผู้เสียภาษีได้มากขึ้น ผู้เสียภาษีจะไม่ปรับตัวได้อย่างไร หากผู้เสียภาษียังดำเนินการจัดเก็บ วิเคราะห์ และติดตามข้อมูลทางภาษีในรูปแบบวิธิการเดิม จะมีความเป็นไปได้สูงที่กรมสรรพากรจะมีมุมมองและการวิเคราะห์ที่กว้างกว่าผู้เสียภาษี ดังนั้น เพื่อบริหารและจัดการความเสี่ยงทางภาษีล่วงหน้า ผู้เสียภาษีควรที่จะพิจารณาวางแผนจัดเก็บข้อมูลที่สามารถนำไปใช้ในการทำ Data Analytics ได้เช่นกัน เพื่อเตรียมความพร้อม วิเคราะห์ข้อมูลของตนเองในเชิงลึกล่วงหน้าว่าจะมีความเสี่ยงทางภาษีด้านใดบ้าง รวมทั้งนำผลที่ได้มาหาวิธีบริหารความเสี่ยงนั้นๆ อีกทั้งยังใช้วางแผนเพื่อตอบสนองความเปลี่ยนแปลงในภาคธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็วมากยิ่งขึ้น 

 

เคพีเอ็มจี ประเทศไทย ก็มีการปรับตัวโดยนำเครื่องมือทางเทคโนโลยีมาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานเช่นกัน โดยเริ่มมีการนำระบบกระบวนการทำงานแบบอัตโนมัติโดยหุ่นยนต์ หรือ Robotic Process Automation (RPA) มาใช้วิเคราะห์ข้อมูลด้วยการทดสอบเชิงสำรวจ เพื่อแสดงให้เห็นถึงความเสี่ยงด้านการปฏิบัติทางภาษีที่อาจเกิดขึ้นและแสวงหาโอกาสทางการเงิน เทคโนโลยีเหล่านี้จะช่วยจัดการข้อมูลเพื่อเพิ่มความถูกต้องแม่นยำ ตลอดจนให้ข้อมูลเชิงลึกที่เป็นประโยชน์ ซึ่งจะส่งผลให้ธุรกิจสามารถเพิ่มรายได้ ลดค่าใช้จ่าย และตรวจหาข้อผิดพลาดและความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น นอกจากนี้ ยังสามารถนำมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและสามารถช่วยประหยัดต้นทุนได้อีกด้วย

 

2. Reimagine tax functions หรือการปรับเปลี่ยนมุมมองต่องานด้านภาษี

กระแสที่กล่าวถึงข้างต้นทำให้ความกดดันตกไปอยู่ที่หัวหน้าเจ้าพนักงานภาษีในการตั้งคำถามเรื่องรูปแบบการดำเนินงานด้านภาษีและหาวิธีการใหม่ในการจัดโครงสร้างบุคลากร กระบวนการ และเทคโนโลยี เพื่อให้สอดคล้องกับอุปสงค์ในอนาคต ความรู้ทางด้านกฎหมายภาษีต้องเพิ่มขึ้นตลอดเวลา เนื่องจาก BEPS ที่ออกมาใหม่โดย OECD ถึง 15 Action Plans มีผลกระทบต่อกฎหมายภาษีทั่วโลก ตัวอย่างเช่น ในประเทศไทยมีการยกเลิกมาตรการทางภาษีที่อาจจะสร้างความเหลื่อมล้ำทางภาษีในระดับประเทศ (ROH และ IHQ) หรือการปรับปรุงและออกกฎหมายภาษีใหม่เพื่อให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมทางภาษีในระดับสากล (Transfer Pricing or E-Service Tax) รวมถึงการใช้สิทธิประโยชน์ภายใต้อนุสัญญาภาษีซ้อน ก็จะมีข้อบังคับหรือมีกฎเกณท์ที่เปลี่ยนแปลงไปเช่นกัน 

 

จะเห็นได้ว่าในอดีต ผู้ที่จะเป็นทีมภาษีจะต้องมีทั้งความรู้ในด้านกฎหมายและบัญชี แต่ในอนาคต การเป็นหัวหน้าทีมภาษีและพนักงานภาษีของบริษัทต่างๆ นั้นอาจจำเป็นต้องมีทักษะใหม่เพื่อการบูรณาการด้วย การเข้าใจเทคโนโลยีภาษีและทักษะการวิเคราะห์ข้อมูลจะกลายเป็นส่วนสำคัญในการร่วมมือและการตัดสินใจเชิงกลยุทธ์ การเข้าใจด้านการสื่อสารจะกลายเป็นส่วนสำคัญในการบริหารและลดความเสี่ยงด้านชื่อเสียง และการเข้าใจด้านธุรกิจจะกลายเป็นส่วนสำคัญในการสร้างความมั่นใจว่าการดำเนินงานด้านภาษีนั้นจะเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ไม่มีใครที่จะทำนายอนาคตได้ หากแต่สิ่งหนึ่งที่น่าจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอนคือ ประเด็นภาษีจะยังคงมีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง และจะยังคงสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับผู้ที่ทำงานในสายอาชีพนี้และสังคมโดยรวม ดังนั้น บริษัทต้องอบรมบ่มเพาะแนวทางใหม่ตลอดเวลาเพื่อตอบโจทย์โลกที่เปลี่ยนแปลงไป ทีมภาษีต้อง Challenge the norm เพื่อต่อยอดความรู้และนำมาประยุกต์ใช้เพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุด

 

3. Maximize tax benefits หรือการประยุกต์ใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสูงสุด

เนื่องจากผลกระทบโควิด-19 อาจจะทำให้ผลประกอบการของผู้เสียภาษีเปลี่ยนแปลงไปอย่างมีสาระสำคัญ โดยเฉพาะบางรายอาจประสบภาวะขาดทุนหรือขาดสภาพคล่องทางการเงิน ดังนั้น ผู้เสียภาษีจึงควรจะประเมินสถานะทางภาษีของตนเอง พร้อมกับพิจารณาเพิ่มประสิทธิภาพทางภาษีในเรื่องของการขอคืนภาษีและการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีที่รัฐบาลให้เพิ่มเติมจากวิกฤตโควิด-19 เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อธุรกิจ อีกทั้งอาจจะพิจารณาระบบหรือกระบวนการภาษีของผู้เสียภาษีทั้งหมดเพื่อปิด Tax Leakage ที่อาจจะเกิดขึ้น

 

4. Tax diagnostic หรือตรวจสุขภาพทางภาษี

ภาคธุรกิจจะถูกท้าทายโดยความท้าทายใหม่ๆ เนื่องจากตัวกระตุ้นการเปลี่ยนแปลงทั้ง 4 ปัจจัยเบื้องต้น ดังนั้นภาคธุรกิจจึงต้องเตรียมความพร้อมในการรับมือกับสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไป โดยอาจเริ่มจาก 1. การตรวจสุขภาพทางภาษีของผู้เสียภาษี โดยผู้เสียภาษีควรทำความเข้าใจและทบทวนรูปแบบการดำเนินธุรกิจ รวมถึงแนวทางการปฏิบัติการทางภาษีภายในบริษัท เพื่อทบทวนความถูกต้องและตรวจสอบว่าอาจมีประเด็นใดที่สามารถพัฒนาและต่อยอดให้เกิดโอกาสทางธุรกิจได้ในอนาคต 2. ศึกษาและติดตามการเปลี่ยนแปลงของมาตรการ กฎระเบียบ ข้อกฎหมาย และประเด็นภาษี (ทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ) ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานของบริษัทอย่างใกล้ชิด เพื่อจะได้สามารถวางแผนล่วงหน้า รวมทั้งนำมาปรับใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพและทันเวลา 3. ทบทวนและวิเคราะห์ว่าเหตุการณ์โควิด-19 ส่งผลให้ธุรกิจมีการดำเนินกิจกรรมหรือธุรกรรมใดๆ ที่เปลี่ยนแปลงไปซึ่งอาจทำให้เกิดความเสี่ยงทางด้านภาษีหรือไม่ หากบริษัทมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบการดำเนินธุรกิจ ก็ควรมีการวางแผนจัดการบริหารความเสี่ยงด้านภาษีที่เหมาะสม เพื่อให้เกิดความมั่นใจว่าการดำเนินการเป็นไปอย่างถูกต้องเหมาะสม และเป็นการป้องกันผลกระทบที่อาจตามมาซึ่งอาจทำให้ธุรกิจหยุดชะงักได้  

 

ท้ายสุดนี้ ภาษีเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่ส่งผลกระทบต่อผลประกอบการของกิจการ ดังนั้นการวางแผนการจัดการภาษีและการบริหารความเสี่ยงด้านภาษี จึงถือเป็นส่วนสำคัญต่อความสำเร็จขององค์กรที่ผู้บริหารควรต้องพิจารณาอย่างถี่ถ้วน

 

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising