เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการ ฝ่ายวิจัย บล.เอเซียพลัส เปิดเผยว่า ปัจจุบันเรามีมุมมองเชิงบวกต่อตลาดหุ้นโลก โดยใช้ดัชนีความผันผวน CBOE Volatility Index (VIX) ซึ่งเป็นมาตรวัดความวิตกของนักลงทุน โดยล่าสุดลดลงต่ำกว่าระดับ 20 จุด และทำจุดต่ำสุดครั้งแรกในรอบ 13 เดือน
กล่าวคือหากดัชนี VIX ยิ่งต่ำ บ่งชี้ว่า นักลงทุนทั่วโลกในตลาดมีมุมมองบวกต่อตลาดหุ้น เชื่อว่าจะทำให้ยังเห็นฟันด์โฟลวไหลเข้าตลาดหุ้นเอเชีย รวมถึงตลาดหุ้นไทยเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากการเติบโตของกำไรต่อหุ้น (EPS Growth) ในปีนี้ ซึ่งมีแนวโน้มสูงกว่าฝั่งยุโรปและสหรัฐฯ
“ดัชนี VIX ล่าสุดนี้ ลดลงมาต่ำกว่า 20 จุด เป็นครั้งแรกตั้งแต่เกิดโควิด-19 สะท้อนว่านักลงทุนกลัวน้อยลง และทำให้เงินทุนมีโอกาสไหลเข้าสินทรัพย์เสี่ยงมากขึ้น สอดคล้องกับตัวบ่งชี้ (Indicator) อีกตัว คือ บอนด์ยีลด์ที่เพิ่มสูงขึ้นเช่นกัน สะท้อนว่า มีแรงขายบอนด์ และโยกเงินลงทุนเข้าสู่สินทรัพย์เสี่ยงอย่างหุ้น”
ส่วนแนวโน้มต่อจากนี้ขึ้นอยู่กับความคาดหวังต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ รวมถึงการกระจายวัคซีน หากเป็นไปตามคาดเชื่อว่าจะเห็นเงินลงทุนไหลเข้าสินทรัพย์เสี่ยงต่อเนื่อง แต่หากผิดคาดอาจเห็นกระแสเงินทุนกลับทิศได้
“ด้วยเงินดอลลาร์ที่อ่อนค่า เชื่อว่าตลาดหุ้นเอเชียน่าจะขึ้นได้ดีกว่าตลาดหุ้นฝั่งตะวันตก ทำให้ภาพฟันด์โฟลวจะเป็นการไหลกลับมาทางฝั่งเอเชีย ซึ่งตลาดหุ้นไทยอาจจะได้รับอานิสงส์ด้วย และหากต่างชาติกลับมาซื้อต่อเนื่องจริง ก็อาจจะเห็นต่างชาติกลับมาซื้อได้ในระดับ 1-2 แสนล้านบาท เพราะก่อนหน้านี้นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทยออกไปราว 9.7 แสนล้านบาท นับตั้งแต่ปี 2556”
ภาพ: การซื้อขายในตลาดหุ้นไทย แยกตามกลุ่มนักลงทุน (Ytd)
อ้างอิง: Setsmart ข้อมูล ณ วันที่ 12 ก.พ. 2564
ด้าน ณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทรีนีตี้ เปิดเผยว่า การลดลงของดัชนี VIX ในปัจจุบัน สะท้อนว่า ตลาดเต็มไปด้วยความคาดหวังเชิงบวกแทบทั้งสิ้น ด้วยหลายปัจจัยบวก ทั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ การกระจายวัคซีน และยังมาพร้อมกับมาตรการอัดฉีดที่เพิ่มสูงขึ้นอีก
“เวลานี้ถือเป็นช่วงเวลาทองของสินทรัพย์เสี่ยงต่างๆ หลังตลาดเข้าสู่ภาวะ Risk-On อย่างชัดเจน ขณะเดียวกันบอนด์ยีลด์ที่ปรับตัวลงและคาดการณ์เงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยไม่คิดว่าโควิด-19 จะพลิกกลับมาระบาดรุนแรง”
อย่างไรก็ตาม จุดพลิกผันของภาวะ Risk-On จะเป็นเรื่องของนโยบาย คือโอกาสของการปรับลดเม็ดเงินอัดฉีด (QE Tapering) ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นในช่วงปลายปีหรือต้นปีหน้า เพราะฉะนั้น 9 เดือนแรกยังน่าจะเห็นบรรยากาศพร้อมรับความเสี่ยงต่อเนื่อง ขณะที่ดัชนี VIX อาจจะทรงตัวต่ำในระยะกลาง
“ในระยะถัดไปฟันด์โฟลวจะไหลไปจุดไหน ขึ้นอยู่กับการเติบโตของตลาดนั้นๆ สำหรับตลาดหุ้นไทยยังมีประเด็นเรื่องของมูลค่าที่ตึงตัว จึงยังคงให้น้ำหนักหุ้นต่างประเทศมากกว่าหุ้นไทย โดยแนะนำกระจายการลงทุนทั้งในตลาดหุ้นเกิดใหม่และตลาดหุ้นพัฒนาแล้ว แต่ในมุมกลับกัน อาจจะพอถือครองตราสารหนี้ในไทยได้อยู่ ด้วยภาวะ Risk-On ที่น้อยกว่าต่างประเทศ”
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล