×

ANALYSIS: รีพับลิกันยังคงเป็นของทรัมป์ และเขายังมีโอกาสกลับมา: 5 ข้อสรุปจากการไต่สวนเพื่อถอดถอนทรัมป์โดยวุฒิสภา

15.02.2021
  • LOADING...
ANALYSIS: รีพับลิกันยังคงเป็นของทรัมป์ และเขายังมีโอกาสกลับมา: 5 ข้อสรุปจากการไต่สวนเพื่อถอดถอนทรัมป์โดยวุฒิสภา

หลังจากการไต่สวนในช่วงเวลาสั้นๆ จบลง ในที่สุดวุฒิสภาของสหรัฐฯ ก็ได้ลงมติให้อดีตประธานาธิบดีอย่าง โดนัลด์ ทรัมป์ พ้นผิดจากคดีการถูกยื่นถอดถอน (Impeachment) อันเป็นผลสืบเนื่องมาจากเหตุการณ์จลาจลบุกยึดอาคารรัฐสภาของกลุ่มผู้สนับสนุนของเขาที่สภาผู้แทนราษฎรส่งมาให้พิจารณา โดยอันที่จริงแล้วเสียงข้างมากของวุฒิสภา (57 เสียงจาก ส.ว. ของพรรคเดโมแครตทั้งหมด และอีก 7 เสียงจาก ส.ว. ของพรรครีพับลิกัน) ตัดสินว่าทรัมป์ผิด แต่ทว่าคดียื่นถอดถอนเช่นนี้จำเป็นจะต้องได้เสียงตัดสินว่าผิดถึง 2 ใน 3 (67 เสียง) จึงจะถอดถอนได้สำเร็จ

และนี่คือบทสรุปของกระบวนการไต่สวนทรัมป์ในวุฒิสภาในช่วง 5 วันที่ผ่านมา โดย ปฐมพงษ์ อึ้งประเสริฐ


1. หลักฐานให้รายละเอียดมากขึ้น แต่ไม่มีอะไรใหม่

ในกระบวนการไต่สวนครั้งนี้ ผู้แทนจากผู้แทนราษฎร (ซึ่งเป็น ส.ส. จากพรรคเดโมแครตทั้งหมด) ได้พยายามนำเสนอหลักฐานเพิ่มเติมในกรณีการบุกล้อมรัฐสภาของกลุ่มผู้สนับสนุนของทรัมป์ โดยหลักฐานใหม่ที่พวกเขานำเสนอคือภาพจากกล้องวงจรปิดในอาคารรัฐสภาที่แสดงให้เห็นว่าเหตุการณ์นั้นรุนแรงกว่าที่สื่อมวลชนนำเสนอในช่วงแรก ไม่ว่าจะเป็นคลิปวิดีโอที่แสดงให้เห็นถึงการตะโกนของกลุ่มผู้สนับสนุนของทรัมป์ให้จับตัวรองประธานาธิบดีอย่าง ไมค์ เพนซ์ และผู้นำในรัฐสภาของเดโมแครตอย่าง แนนซี เพโลซี มาประหาร (เพราะเพนซ์ไม่ยอมล้มเลิกกระบวนการนับคะแนนคณะผู้เลือกตั้งตามที่ทรัมป์ร้องขอ), คลิปที่แสดงให้เห็นถึงการทำร้ายเจ้าหน้าที่ตำรวจของกลุ่มผู้ชุมนุม รวมถึงคลิปที่แสดงให้เห็นว่า ส.ว. ที่เป็นปฏิปักษ์กับทรัมป์อย่าง มิตต์ รอมนีย์ วิ่งไปผิดทางจนเกือบจะปะทะกับผู้ชุมนุม (แต่เคราะห์ดีที่ว่าเขาวิ่งสวนกับนายตำรวจผู้หนึ่งพอดี ทำให้รอมนีย์รู้ในนาทีสุดท้ายว่าต้องวิ่งไปอีกทาง)

อย่างไรก็ดี หลักฐานเพิ่มเติมที่ ส.ส. ของพรรคเดโมแครตนำเสนอไม่ได้เป็นหลักฐาน ‘ใหม่’ ที่จะทำให้วุฒิสภาหรือชาวอเมริกันต้องรู้สึกช็อกแต่อย่างใด เพราะทุกคนทราบกันดีอยู่แล้วว่าความรุนแรงแบบถึงแก่ชีวิตได้เกิดขึ้นจริงๆ ในอาคารรัฐสภา, ที่สำคัญคือหลักฐานที่พวกเขาพยายามนำเสนอไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าทรัมป์เป็นผู้วางแผนหรือมีส่วนเกี่ยวข้องกับการยึดอาคารรัฐสภาโดยตรง ซึ่งเป็นข้อแก้ตัวหลักของทีมทนายของทรัมป์ที่พยายามชี้ให้วุฒิสภาเห็นว่าทรัมป์ไม่ได้ทำอะไรผิด เขาเพียงแต่ใช้สิทธิในฐานะพลเมืองคนหนึ่งเพื่อจะพูดในสิ่งที่ตัวเองคิด

 

2. เดโมแครตอยากจะมูฟออน

พรรคเดโมแครตมีทางเลือกที่จะพยายามหาหลักฐานมากกว่านี้ด้วยการเรียกพยานมาสอบปากคำที่รัฐสภาเพิ่มเติม (แทนที่จะใช้คลิปวิดีโอเป็นหลักฐานแต่เพียงอย่างเดียว) โดยพยานปากสำคัญคือผู้นำ ส.ส. ของพรรครีพับลิกันอย่าง เควิน แม็กคาร์ธีย์ ที่มีรายงานข่าวว่าเขาได้ต่อสายหาทรัมป์ในระหว่างที่เกิดเหตุจลาจลในอาคารรัฐสภา (ซึ่งในเวลาต่อมารายงานข่าวนี้ก็ได้รับการยืนยันจาก ส.ส. ของพรรครีพับลิกันอีกคนอย่าง เจมี เฮเรรา บัตเลอร์) ซึ่งก็มีความเป็นไปได้ว่าแม็กคาร์ธีย์อาจจะรู้ข้อมูลที่อาจจะใช้เป็นหลักฐานมัดตัวว่าทรัมป์รู้เห็นกับการบุกเข้าอาคารรัฐสภาของผู้ชุมนุม หรือทรัมป์อาจจะรู้เห็นเป็นใจแกล้งให้มาตรฐานการดูแลอาคารรัฐสภาย่อหย่อนจนผู้ชุมนุมบุกเข้ามาได้โดยง่าย

อย่างไรก็ดี เดโมแครตเลือกที่จะไม่เรียกแม็กคาร์ธีย์เข้ามาเป็นพยาน เพราะพวกเขาทราบดีว่าแม็กคาร์ธีย์ค่อนข้างจะมีความภักดีต่อทรัมป์ ดังนั้นถึงแม้ว่าเขาอาจล่วงรู้ข้อมูลอะไรมา โอกาสที่เขาจะบอกข้อเท็จจริงเหล่านั้นเพื่อเป็นการให้ร้ายทรัมป์ก็เป็นไปได้น้อยอยู่ดี ที่สำคัญการเรียกพยานมาสอบปากคำจะแปลว่าการสอบสวนต้องยืดยาวออกไปอีกหลายสัปดาห์ (แทนที่วุฒิสภาจะโหวตกันได้เลย) ซึ่งผู้นำของพรรคเดโมแครต รวมถึงประธานาธิบดีอย่าง โจ ไบเดน มองแล้วว่าได้ไม่คุ้มเสีย เพราะพวกเขาอยากจะมูฟออนจากเรื่องนี้ และใช้เวลาไปกับการผ่านร่างกฎหมายกระตุ้นเศรษฐกิจที่กำลังประสบปัญหาจากวิกฤตโควิด-19 มากกว่า

 

3. รีพับลิกันยังคงเป็นพรรคของทรัมป์

หลังจากการเลือกตั้งในเดือนพฤศจิกายน พรรครีพับลิกันต้องเผชิญกับคำถามสำคัญที่ว่าพวกเขาจะเดินไปทางไหนต่อหลังจากพรรคพ่ายแพ้การเลือกตั้งจนสูญเสียอำนาจให้กับเดโมแครตทั้งที่ทำเนียบขาวและทั้งสองสภา พรรคจะต้องตัดสินใจว่าพวกเขายังเลือกที่จะยึดติดอยู่กับทรัมป์เพื่อที่จะกระตุ้นให้ฐานเสียงคนขาวในเขตชนบทที่ยังรักและศรัทธาในตัวทรัมป์อยู่มากให้ออกมาใช้สิทธิให้มากที่สุด เพื่อที่จะชนะการเลือกตั้งในมลรัฐสีม่วง โดยเฉพาะในเขตมิดเวสต์ หรือจะตีตัวออกหากจากทรัมป์เพื่อฟื้นฟูภาพลักษณ์ของพรรคและดึงคะแนนเสียงจากคนขาวในเขตชานเมืองกลับมา หลังจากที่พรรคเสียคะแนนจากคนกลุ่มนี้ไปช่วง 4 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากคนกลุ่มนี้ไม่พึงพอใจต่อพฤติกรรมหลายๆ อย่างของทรัมป์ที่พวกเขามองว่าเป็นพฤติกรรมที่ไม่สง่างาม ไม่สมฐานะของการเป็นผู้นำประเทศ เช่น การพูดโอ้อวดเกินจริง การใช้คำพูดเหยียดคนผิวสีและผู้หญิง การใช้ความรุนแรงต่อผู้ประท้วง

ภายหลังเหตุจลาจลที่อาคารรัฐสภา ดูเหมือนว่ากระแสของทางเลือกที่สองจะได้รับการพูดถึงอย่างกว้างขวางภายในหมู่นักการเมืองของรีพับลิกัน แต่อย่างไรก็ดี ผลโหวตเรื่องการถอดถอนทั้งที่สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาได้ชี้ให้เห็นแล้วว่าพรรคตัดสินใจเลือกทางแรก คือยืนยันที่จะยังอยู่กับทรัมป์ต่อไป ซึ่งสาเหตุที่พรรคเลือกแนวทางนี้คงจะเป็นเพราะพรรคเห็นแล้วว่าคะแนนความนิยมของทรัมป์ไม่ได้ตกลงไปเลยในหมู่ฐานเสียงของพรรค (แม้จะมีเหตุรุนแรงเกิดที่อาคารรัฐสภาก็ตาม) ดังนั้นนักการเมืองของรีพับลิกันจึงจำเป็นที่จะต้องเข้าข้างทรัมป์ไว้ก่อน มิฉะนั้นพวกเขาก็อาจจะพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งขั้นต้น (Primary Election) ในสมัยถัดไป เพราะฐานเสียงของพรรคโกรธแค้นที่นักการเมืองคนนั้นไม่ได้ปกป้องฮีโร่ของพวกเขาอย่างทรัมป์อย่างเพียงพอ


4. แต่อาจจะไม่ใช่ 100% อีกต่อไป

อย่างไรก็ดี พรรคก็อาจจะไม่ได้ถูกควบคุมแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาดโดยทรัมป์เหมือนช่วง 4 ปีที่ผ่านมาอีกต่อไป เพราะการโหวตในรอบนี้มี ส.ส. กล้าโหวตชี้มูลความผิดถึง 10 คน รวมกับ ส.ว. อีก 7 คน ต่างจาก Impeachment รอบแรกที่ไม่มี ส.ส. กล้าโหวตสวนเลย และมี ส.ว. อย่างรอมนีย์แค่คนเดียวที่กล้าโหวตชี้มูลความผิดต่อทรัมป์

ถึงแม้ว่า ส.ส. และ ส.ว. 17 คนจะเป็นเพียงคนกลุ่มน้อยในพรรค แต่ก็รวมถึงนักการเมืองระดับผู้นำพรรคอย่าง ส.ส. ลิซ เชนีย์ ผู้นำอันดับ 3 ในสภาผู้แทนราษฎร (และเป็นลูกสาวของอดีตรองประธานาธิบดีอย่าง ดิก เชนีย์) หรือแม้แต่ผู้นำของวุฒิสภาอย่าง ส.ว. มิตช์ แม็กคอนเนลล์ ก็ออกมาให้สัมภาษณ์ตำหนิพฤติกรรมของทรัมป์อย่างรุนแรงว่าสิ่งที่เขาทำเป็นความอัปยศของทำเนียบขาว (ถึงแม้สุดท้ายแล้วแม็กคอนเนลล์จะโหวตให้ทรัมป์พ้นผิดก็ตาม เพราะเขาอยากให้ทรัมป์ไปขึ้นศาลอาญาในฐานะประชาชนทั่วไปมากกว่า) ซึ่งการที่นักการเมืองระดับผู้นำพรรคกล้าออกมาตำหนิทรัมป์ในที่สาธารณะแบบนี้ก็เป็นสัญญาณเตือนให้ทรัมป์ทราบว่าเขาไม่ได้ควบคุมพรรคแบบเบ็ดเสร็จอีกต่อไปแล้ว อย่างน้อยๆ ก็มีขั้วอำนาจเล็กๆ ในพรรคที่พร้อมจะแตกหักกับเขา

 

5. ความเสียหายต่อทรัมป์มีไม่มาก และเขามีโอกาสที่จะกลับมา

รายงานข่าวหลายสำนักยืนยันตรงกันว่าทรัมป์ยังไม่ยอมแพ้และยังไม่ยอมวางมือทางการเมืองง่ายๆ โดยที่เขาเตรียมตัวจะลงสู้ศึกเลือกตั้งอีกครั้งในปี 2024 ซึ่งการโหวตถอดถอนเขาออกจากตำแหน่งในครั้งนี้อาจจะเป็นอุปสรรคหนึ่งในการกลับมาของเขา หากเขาถูกโหวตว่าผิดจริง เพราะนั่นจะทำให้วุฒิสภาสามารถโหวตต่อได้อีกเพื่อห้ามไม่ให้เขาดำรงตำแหน่งทางการเมืองอีกตลอดชีวิต หรือการสอบสวนอาจจะเปิดเผยข้อมูลใหม่บางอย่างที่ทำให้ภาพลักษณ์ของเขาเสียหายอย่างกอบกู้มาไม่ได้ (เช่น มีหลักฐานว่าเขารู้เห็นเป็นใจในการวางแผนบุกรัฐสภาร่วมกับผู้ชุมนุม) ซึ่งเหตุการณ์ที่ว่ามาทั้งสองอย่างไม่เกิดขึ้น ทำให้ทรัมป์แทบไม่ได้รับความเสียหายทางการเมืองจากการไต่สวนครั้งนี้เลย และเมื่อเรามองไปที่คะแนนนิยมของทรัมป์ที่ยังมีอยู่อย่างล้นเปี่ยมในบรรดาฐานเสียงของพรรครีพับลิกัน ก็มีความเป็นไปได้ว่าเขามีโอกาสที่จะกลับมาเป็นประธานาธิบดีอีกครั้งในอีก 4 ปีข้างหน้า

 

ภาพ: Al Drago / Getty Images

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X