×

ผู้เชี่ยวชาญสิทธิมนุษยชน UN กังวลไทยเพิ่มการใช้ ม.112 เรียกร้องแก้ไข-ยกเลิก ยุติการตั้งข้อหาผู้ถูกดำเนินคดี

โดย THE STANDARD TEAM
09.02.2021
  • LOADING...
ผู้เชี่ยวชาญสิทธิมนุษยชน UN

เว็บไซต์สํานักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติ (OHCHR) เผยแพร่แถลงการณ์ของกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชน ที่แสดงความกังวลอย่างยิ่งต่อกรณีที่ไทยเพิ่มการใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ (lèse-majesté) ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 พร้อมแสดงความกังวลต่อกรณีของอัญชัญ ปรีเลิศ อดีตข้าราชการระดับซี 8 กรมสรรพากร วัย 60 ปี ที่ถูกตัดสินจำคุก 43 ปี 6 เดือน จากความผิดฐานแชร์คลิปเสียง ในช่วงปี 2014 และ 2015 ซึ่งเชื่อว่าเป็นการตัดสินโทษที่รุนแรงที่สุดในคดีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 ของไทย 

 

ที่ผ่านมาผู้เชี่ยวชาญอิสระของ UN ได้แสดงความกังวลต่อกรณีคดีของอัญชัญเป็นครั้งแรกในปี 2016 ซึ่งเดิมทีคดีนั้นถูกไต่สวนและพิจารณาในศาลทหาร โดยมีการตัดสินโทษจำคุกสูงสุดถึง 87 ปี ก่อนที่คดีจะถูกโอนไปยังศาลพลเรือนในช่วงกลางปี 2019 ซึ่งอัญชัญยอมรับสารภาพว่ากระทำผิดตามที่ถูกกล่าวหาและได้รับการลดโทษลงครึ่งหนึ่ง ขณะที่มีการยื่นอุทธรณ์คำตัดสินดังกล่าว

 

“เราขอเรียกร้องให้ศาลอุทธรณ์พิจารณาคดีของอัญชัน ปรีเลิศ อีกครั้ง ตามมาตรฐานสิทธิมนุษยชนสากล และละเว้นการตัดสินโทษที่รุนแรง

 

เราได้เน้นย้ำหลายครั้งว่า กฎหมายดังกล่าวนั้นไม่สมควรมีอยู่ในประเทศประชาธิปไตย การเพิ่มการใช้กฎหมายฉบับนี้อย่างรุนแรงของพวกเขา ส่งผลกระทบในการลดทอนเสรีภาพในการแสดงออก และจำกัดพื้นที่ของพลเมืองและการใช้เสรีภาพขั้นพื้นฐานในประเทศไทย” ผู้เชี่ยวชาญกล่าว

 

สำหรับกลุ่มผู้เชี่ยวชาญของ UN ที่ออกมาแสดงความกังวล ประกอบด้วย Irene Khan ผู้รายงานพิเศษด้านสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นและการแสดงออก, Leigh Toomey (ประธาน-ผู้รายงานคณะทำงานด้านการควบคุมตัวโดยพลการ), Elina Steinerte รองประธานคณะทำงานด้านการควบคุมตัวโดยพลการ, Miriam Estrada-Castillo, Mumba Malila, Seong-Phil Hong คณะทำงานด้านการควบคุมตัวโดยพลการ, Clément Nyaletsossi Voule ผู้รายงานพิเศษด้านสิทธิในการชุมนุมและการสมาคมอย่างสันติ 

 

โดยเนื้อหาแถลงการณ์ยังชี้ถึงผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ที่ทำให้บรรดานักเคลื่อนไหวสนับสนุนประชาธิปไตยจำนวนมากหันไปแสดงออกผ่านทางออนไลน์ ในขณะที่ทางการไทยได้เริ่มต้นบังคับใช้กฎหมายหมิ่นพระบรมเดชานุภาพอย่างเข้มงวดมากขึ้น และได้ตั้งข้อหาที่รุนแรงเหล่านี้ต่อผู้เยาว์ที่ใช้เสรีภาพในการแสดงออก

 

“เรารู้สึกกระวนกระวายใจอย่างมากกับรายงานการดำเนินคดีที่เพิ่มขึ้นตั้งแต่ปลายปี 2020 และโทษจำคุกที่รุนแรงขึ้น” ผู้เชี่ยวชาญกล่าว พร้อมย้ำเตือนว่า “ภายใต้กฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศนั้น บุคคลสาธารณะรวมถึงผู้ที่ใช้อำนาจทางการเมืองสูงสุด เช่น ประมุขแห่งรัฐ จะสามารถถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย ความจริงที่ว่าการแสดงออกบางรูปแบบอาจถือเป็นการล่วงละเมิดหรือสร้างความตกใจให้กับบุคคลสาธารณะนั้น ไม่เพียงพอที่จะพิสูจน์ให้เห็นถึงความเหมาะสมในการกำหนดบทลงโทษที่รุนแรงเช่นนี้” ผู้เชี่ยวชาญกล่าว พร้อมเรียกร้องให้ทางการไทยแก้ไขหรือยกเลิกกฎหมายดังกล่าว

 

“เราขอเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่แก้ไขและยกเลิกกฎหมายดังกล่าว เพื่อยุติการตั้งข้อหากับทุกคนที่กำลังถูกดำเนินคดีทางอาญา และปล่อยตัวผู้ที่ถูกคุมขังจากการใช้สิทธิเสรีภาพในการแสดงออกและการชุมนุมโดยสงบ” ผู้เชี่ยวชาญกล่าว

 

 

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X