เมื่อวิกฤตโควิด-19 ระบาด กระทบชีวิตและการทำงานให้ยากลำบาก จนง่ายที่ใครหลายคนจะตกอยู่ในอาการหมด ‘ไฟ’ งานนี้ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาการทำงานได้รวบรวม 6 วิธีสามัญที่ทำได้ง่ายมาฝากเหล่าคนทำงานทั้งหลาย
ลอร่า ปาร์ก ผู้ช่วยศาสตราจารย์และผู้อำนวยการ Self and Motivation Lab แห่งมหาวิทยาลัยบัฟฟาโล อธิบายว่า แรงจูงใจหรือไฟในการทำงานมีแนวโน้มจะลดลงเมื่อคนเราต้องเผชิญกับภาวะขาดแคลน 3 ปัจจัยหลักในชีวิตด้วยกันคือ
- ขาดอิสระ (Autonomy)
- ขาดความสามารถ (Competence)
- ขาดสายสัมพันธ์ (Relationships)
ซึ่งภาวะการขาดแคลนทั้งสามประการนี้คือสิ่งที่มักเกิดขึ้นเมื่อต้อง Work from Home
อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า ยังมีหนทางที่จะฟื้นและปลุกไฟในการทำงานที่มอดดับไปแล้วให้กลับคืนมาได้ เป็นวิธีที่จะตั้งเป้ากิจวัตรประจำวันซึ่งจะมีส่วนช่วยฟื้นแรงจูงใจให้เดินตามเป้าหมายที่วางไว้ ไม่ว่าจะเป็นการกลับมาโฟกัสกับการทำงาน หรือความพยายามในการลงมือทำตามโซลูชันส์ปีใหม่
โดย 6 วิธีสามัญฟื้นไฟในการทำงานที่นำเสนอมานี้ ล้วนได้รับการรับรองผลจากงานวิจัย
- Create daily rituals หรือสร้างธรรมเนียมปฏิบัติประจำวัน โดยงานวิจัยจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดพบว่า ธรรมเนียมปฏิบัติหรือลำดับกิจกรรมที่ซ้ำๆ และตามกำหนดเวลา เป็นหนึ่งในทางเพิ่มระเบียบวินัยในชีวิต ซึ่งธรรมเนียมปฏิบัตินี้ต้องไม่ใช่สิ่งที่ซับซ้อนยุ่งยาก เช่น การนั่งสมาธิหลังส่งลูกไปโรงเรียน การพาสุนัขไปเดินเล่นหลังเวลางาน หรือการออกกำลังหลังลุกจากเตียง โดยพอทำไปนานๆ ธรรมเนียมปฏิบัติจะกลายเป็นนิสัยและความเคยชิน และช่วยเพิ่มพลังใจในการทำสิ่งที่ต้องการความทุ่มเทใส่ใจที่มากกว่านี้ได้
- Set up routine ‘cues’ คือการหา ‘บท’ หรือ ‘สิ่งกระตุ้น’ ที่จะช่วยกำหนดชีวิตประจำวัน โดย Conroy ผู้เชี่ยวชาญอธิบายว่า คนเรามุ่งสร้างความเชื่อมโยงระหว่างตนเองกับตัวชี้นำในสภาพแวดล้อมที่จะกระตุ้นให้ทำบางสิ่งบางอย่าง ซึ่งในกรณีของการระบาด สิ่งที่เป็นกิจวัตรอย่างการเดินเข้าไปออฟฟิศแล้วรู้สึกพร้อมที่จะทำงาน การแวะยิมระหว่างทางกลับบ้าน กระตุ้นให้อยากออกกำลังกายหายไป ดังนั้น การสร้างตัวชี้นำในสภาพแวดล้อมทางกายภาพจึงช่วยให้อยู่บนลู่ทางของตนได้ ตัวอย่างเช่น หากต้องทำงานจากที่บ้าน ให้กำหนดพื้นที่ทำงาน ด้วยวิธีนี้จะทำให้รู้สึกพร้อมและเตรียมพร้อมที่จะทำงานเมื่อเข้าไปในพื้นที่นั้น และสามารถตัดการเชื่อมต่อได้เมื่ออยู่ในสถานที่อื่นๆ
- Reward yourself the right way การให้รางวัลตนเองด้วยวิธีที่ถูกต้องเป็นหนทางการเพิ่มความปรารถนาหรือแรงจูงใจในการทำกิจกรรม โดยปาร์กอธิบายว่า งานวิจัยหลายชิ้นระบุว่าการให้รางวัลในจังหวะเวลาที่เหมาะสมคือปัจจัยสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การให้รางวัลด้วยการจับคู่กับกิจกรรมที่ทำให้รู้สึกสนุก เช่น การวิ่ง/เดินออกกำลังกายบนลู่ แล้วให้รางวัลตนเองด้วยการใช้เวลาได้ดูซีรีส์บน Netflix สักเรื่อง หรือการดื่มกาแฟสักแก้วหลังทำงานมาอย่างหนักหน่วง กุญแจสำคัญก็คือการให้รางวัลนั้นต้องไม่เป็นการบ่อนทำลายตนเอง
- Make room for moments of positivity ให้พื้นที่ในการบ่มเพาะปลูกฝังอารมณ์เชิงบวกในทุกวัน เพราะสามารถส่งผลกระทบอย่างแท้จริงต่อแรงจูงใจและผลงานต่างๆ โดยผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า การปลูกฝั่งอารมณ์เชิงบวกอาจเป็นสิ่งเล็กๆ ง่ายๆ อย่างการดูวิดีโอตลกที่ทำให้ยิ้มและหัวเราะ และการมีอารมณ์ที่ดีจะมีส่วนช่วยยกระดับคุณภาพของผลงาน รวมถึงสภาพร่างกาย จิตใจ และความสัมพันธ์ทางสังคม
- Don’t be too hard on yourself หรืออย่าเคร่งครัดกับตนเองมากจนเกินไป ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาวอธิบายว่า แรงจูงใจมีอยู่ 2 ประเภทหลักๆ คือ แรงจูงใจภายใน ซึ่งเป็นการทำบางอย่างเพื่อความเพลิดเพลินตามความชอบส่วนบุคคล ไม่ได้มุ่งเน้นไปที่ผลลัพธ์รางวัลหรือต้องมีบทลงโทษ กับแรงจูงใจภายนอก ซึ่งขับเคลื่อนด้วยรางวัลหรือการลงโทษเป็นหลัก
ปาร์กกล่าวว่า ผู้คนมักรับแรงกดดันหรือข้อเสนอจากภายนอก จะเชื่อมเข้ากับอัตตาหรืออีโก้ของตนเอง เพื่อสร้างผลงานจนง่ายที่จะเกิดความรู้สึกทางลบ ที่อาจขัดขวางความสามารถในการบรรลุเป้าหมาย ดังนั้น ยอมรับในเรื่องแรงกดดัน และเรียนรู้ที่จะปล่อยผ่านไม่กดดันตนเองจนเกินไป จะช่วยให้รู้สึกดีและมีแรงจูงใจที่จะกลับมาทำงานได้อีกครั้ง
- Know your triggers การรู้ว่าอะไรคือสิ่งที่จะกระตุ้นให้แรงจูงใจกลับมาถือเป็นหัวใจสำคัญของการปลุก ‘พลัง’ พอๆ กับการตระหนักรู้ว่าบางสิ่งบางอย่างเป็นตัวกระตุ้นหรือเป็นขีดจำกัดที่จะทำให้ ‘หมดไฟ’ ได้ ตัวอย่างเช่น กรณีที่รู้สึกเหนื่อยล้าจนขีดสุดและเริ่มไม่สนุกในการทำงาน สิ่งนี้คือสัญญาณเตือนที่เจ้าตัวจะต้องพักเบรกหรือพักงานสักระยะ หรือหากพักไม่ได้ ก็ให้ลดปริมาณงานที่ต้องทำลง
ส่วนใครที่ต้องการฟื้นพลังให้กลับมา วิธีที่ง่ายที่สุดในการกระตุ้นแรงฮึดก็คือการเปิดรับฟีดแบ็กในเชิงลบ การวิพากษ์วิจารณ์หรือประเมินผลงานในทางแย่จะกระตุ้นให้ผู้คนส่วนใหญ่รู้สึกโดนสบประมาทและอยากเอาชนะ ไฟในการทำงานย่อมลุกโหมคืนมา
ทั้งนี้ ปาร์กสรุปว่า การวางแผนที่เฉพาะเจาะจงและเป็นรูปธรรมที่ลงมือทำได้อย่างต่อเนื่อง จะช่วยให้ยังคงรักษาแรงจูงใจในการทำงานได้ ขณะที่การเขียนสคริปต์ไว้ในหัวให้รู้ว่าตนเองกำลังจะทำอะไร เป็นหนึ่งในวิธีการกำหนดพฤติกรรมอัตโนมัติ ที่จะช่วยให้ร่างกายไม่ต้องรู้สึกว่าไร้ประสิทธิภาพหรือนิ่งเฉยมากเกินไปจนรู้สึกไร้ค่า
ภาพประกอบ: ธิดามาศ เขียวเหลือ
อ้างอิง: