คำถามที่ว่าอนาคตของ ‘ปั๊มน้ำมัน’ กำลังจะเคลื่อนไปในทิศทางไหน จะอยู่หรือไป คงกลายเป็นเรื่องที่ถูกหยิบยกขึ้นมาถกเถียงกันอีกนาน ตราบใดที่เรายังมองไม่เห็นนโยบายการรุกสังเวียนรถยนต์พลังงานไฟฟ้าที่ชัดเจนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
แต่ถึงอย่างไรก็ดี ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เรายังคงได้เห็นบริษัทและหน่วยงานเอกชนพาตัวเองเข้ามาบุกตลาดรถยนต์พลังงานไฟฟ้าและธุรกิจพลังงานสะอาดกันก่อนแล้ว เพื่อหนุนความพร้อมของโครงสร้างขั้นพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับยานยนต์ EV และสร้างความมั่นใจให้กับผู้ใช้งานในประเทศ
Sharge หรือบริษัท ชาร์จ แมเนจเม้นต์ จำกัด เป็นอีกหนึ่งในผู้เล่นหน้าใหม่ที่เข้ามารุกธุรกิจสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า หลังจากได้เริ่มดำเนินธุรกิจมาต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 (ครบรอบ 3 ปีในปี 2564) ในปี 2563 ที่ผ่านมา พวกเขาได้ติดตั้งจุดชาร์จไปแล้วรวมทั้งสิ้น 200 หัวชาร์จ ปัจจุบันดำเนินธุรกิจในฐานะ ‘โซลูชันของระบบนิเวศน์รถยนต์ไฟฟ้า’ ครอบคลุมใน 3 ส่วนหลักๆ ประกอบด้วย 1. ขายเครื่อง Wall Box ชาร์จไฟฟ้า 2. จัดตั้งสถานีชาร์จฯ และ 3. ให้บริการผ่านแอปพลิเคชันในการเชื่อมโยงโครงข่ายสถานีชาร์จเข้าด้วยกัน (สัดส่วนรายได้ในปัจจุบัน 88% การจำหน่ายเครื่องชาร์จ และ 12% การติดตั้งสถานีชาร์จ)
พีระภัทร ศิริจันทโรภาส ผู้อำนวยการ บริษัท ชาร์จ แมเนจเม้นต์ จำกัด ให้ข้อมูลกับ THE STANDARD ว่า แนวทางการดำเนินงานของ Sharge จะเน้นการเข้าไปเป็นพาร์ตเนอร์จับมือกับโครงการอสังหาฯ ตัวแทนจำหน่ายและค่ายรถยนต์ต่างๆ ตลอดจนศูนย์การค้า ซึ่งปัจจุบันพาร์ตเนอร์รายใหญ่ๆ ของ Sharge ก็ประกอบไปด้วย แสนสิริ, Audi และ Porsche ประเทศไทย รวมถึง Central เป็นต้น
โดยสาเหตุที่พีระภัทรตัดสินใจทำธุรกิจสถานีชาร์จไฟฟ้าของ Sharge นั้นเป็นผลมาจากการที่มองเห็นถึงเทรนด์ความสนใจรถยนต์พลังงานไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นฝั่งแบรนด์ ซัพพลายเชน หรือตัวผู้บริโภค ซึ่งทำให้เขามองเห็นถึง ‘โอกาส’ ในการรุกเข้ามายังตลาดนี้
สำหรับเป้าหมายต่อจากนี้ของ Sharge จะเน้นไปที่การขยายสถานีชาร์จให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น ผ่านโครงการอสังหาฯ ที่อยู่อาศัย ศูนย์การค้า (ในเครือเซ็นทรัล) รวมถึง Lifestyle Destination ต่างๆ ก่อนจะรุกเข้าไปในกลุ่มผู้ประกอบการขนส่งมวลชน เช่น แท็กซี่ และนิคมอุตสาหกรรม โรงงานในอนาคต ส่วนการทำตลาดต่างจังหวัดจะเน้นโมเดลการเปิดให้ผู้ประกอบการที่สนใจลงทุนทำสถานีชาร์จแล้วมาลิงก์ข้อมูลเข้ากับแอปฯ ของพวกเขา
ทั้งนี้ ในเดือนเมษายน 2564 ที่จะถึงนี้ Sharge ตั้งเป้าจะเปิดตัว ‘ปั๊มชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า’ แห่งแรกที่บริเวณสุขุมวิท 51 (BTS สถานีทองหล่อ) ใกล้ๆ กับโชว์รูมรถยนต์ Audi ประเทศไทย แบ่งเป็นช่องชาร์จเร็ว 3 หัวจ่าย และช่องชาร์จปกติอีก 4 หัวจ่าย เพื่อให้บริการกับผู้ใช้งานรถยนต์พลังงานไฟฟ้าที่สนใจหรือสัญจรผ่านไปมาในย่านดังกล่าว
สำหรับเป้าหมายในปีนี้พีระภัทรตั้งเอาไว้ว่า จะต้องเร่งดำเนินการติดตั้งสถานีชาร์จของ Sharge เพิ่มให้ได้อย่างน้อย 500 หัวชาร์จ หรือราว 200 สถานี เน้นหลักไปที่โครงการอสังหาฯ ที่อยู่อาศัย หมู่บ้าน หรือคอนโด เป็นต้น ส่วนเป้าหมายยาวระยะ 3 ปี ตั้งเป้าจะเติบโต 10 เท่า ด้วยรายได้ 100 ล้านบาท กับสถานีชาร์จในโครงข่ายรวม 2,000 สถานี เพื่อขึ้นเป็นผู้นำตลาด EV Charging Station ในประเทศไทย
รวมถึงการเตรียมให้บริการในโมเดล Subscription กับผู้ที่เข้ามาใช้บริการสถานี EV Charging Station ของพวกเขาในอนาคต แบ่งรายได้กับเจ้าของสถานที่ตั้งจุดชาร์จ โดยคาดว่าอีก 5 ปี จะเริ่มได้เห็นโมเดลธุรกิจนี้ ขึ้นอยู่อัตราการ Adoption รถยนต์ไฟฟ้าของผู้บริโภคในไทยด้วย
ที่น่าสนใจคือในแง่ของโครงสร้างองค์กรและการทำธุรกิจในตลาดสถานีชาร์จรถไฟฟ้า Sharge มองว่า พวกเขา ‘ไม่ได้ต้องการจะแข่งขันกับใคร’ และยินดีที่จะผนึกกำลังความร่วมมือกับผู้เล่นรายอื่นๆ ในอนาคต ตัวอย่างเช่น ในช่วงที่ผ่านมาที่พวกเขาได้รับเงินระดมทุน Raise Funds จากทั้งแสนสิริและบางจาก ซึ่งในรายของบางจากนั้น Sharge มีแพลนที่จะทำจุดชาร์จให้กับพวกเขาตาม Lifestyle Destination ต่างๆ ที่น่าสนใจ (หยิบแบรนด์ของบางจากมาใส่กับสถานีชาร์จของ Sharge)
หรือแม้กระทั่ง EA หรือบริษัทพลังงานบริสุทธิ์ ที่ในอนาคตอาจจะมองถึงความเป็นไปได้ในการเชื่อมโยงแพลตฟอร์มสถานีชาร์จในการให้ข้อมูลเน็ตเวิร์กสถานที่ตั้งจุดชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าระหว่างกันและกัน
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล