สุพันธ์ุ มงคลสุธี ประธานกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) กล่าวว่า เศรษฐกิจไทยได้รับแรงกดดันจากโรคโควิด-19 รอบใหม่ที่ยังไม่คลี่คลาย แต่วัคซีนกลายเป็นปัจจัยที่ช่วยให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจมีแนวโน้มดีขึ้น
ดังนั้น กกร. เสนอให้กำหนดเรื่องการจัดการวัคซีนเป็น ‘วาระแห่งชาติ’ เพื่อจัดทำกระบวนการและวิธีการในการฉีด รวมไปถึงการกระจายวัคซีนให้ชัดเจน ทั่วถึงประชากรไทย ว่ากลุ่มใดต้องเข้าถึงวัคซีนก่อนหรือหลัง ซึ่งจะสร้างความมั่นใจกับต่างประเทศ และส่งผลดีต่อภาคเศรษฐกิจและภาคการท่องเที่ยว รวมถึงการทำ Vaccine Passport
อย่างไรก็ตาม หากไทยต้องการฉีดวัคซีนเดือนละ 10 ล้านโดส เพื่อให้ครอบคลุมประชากร 60 ล้านคนใน 6 เดือน จำเป็นจะต้องมีการฉีดวัคซีนเฉลี่ย 26,000 โดสต่อชั่วโมง ซึ่งหากใช้บุคลากรของหน่วยงานสาธารณสุขอาจไม่เพียงพอ จึงควรมีการประสานงานให้เห็นความชัดเจนในการจัดการวัคซีนในระดับประเทศ
ขณะเดียวกันวัคซีนของไทยจะให้สำหรับประชากรไทย ในส่วนของชาวต่างชาติที่ทำงานในไทย ทาง กกร. เสนอให้รัฐช่วยด้านการลดหย่อนภาษีให้ภาคเอกชนที่ออกค่าใช้จ่ายในการฉีดวัคซีนให้แรงงานต่างชาติ ซึ่งจะช่วยควบคุมความเสี่ยงในภาพรวมได้
อย่างไรก็ตาม การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยระยะสั้นยังต้องการ 2 ปัจจัยกระตุ้น ได้แก่
- การควบคุมสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิด-19 ต้องเร่งด่วนในการตรวจเชิงรุกและแยกผู้ติดเชื้อ
- มาตรการเยียวยาผู้ประกอบการ และแรงงานที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมโควิด-19 รวมไปถึงการประคับประคองกำลังซื้อในประเทศ ความท้าทายหลักจะอยู่ที่ตลาดแรงงานซึ่งมีความเปราะบาง เนื่องจากการระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ในหลายจังหวัดได้ซ้ำเติมธุรกิจหลายประเภทที่ยังไม่ทันได้ฟื้นตัวจากการระบาดครั้งก่อน
ทั้งนี้ คาดว่าแรงงานที่มีชั่วโมงการทำงานต่ำกว่าศักยภาพจะมีจำนวนเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลต่อรายได้ และกำลังซื้อโดยรวมลดลง
ขณะที่การรัฐประหารในเมียนมา มองว่าจะไม่กระทบต่อเศรษฐกิจไทย แต่อาจส่งผลต่อการลงทุน ดังนั้นต้องติดตามสถานการณ์ในเมียนมาอย่างใกล้ชิด ทั้งมาตรการรัฐบาลใหม่ที่จะออกในระยะนี้ และรวมถึงผลของการแซงชันจากภาคตะวันตก
ทั้งนี้ ที่ผ่านมา (ปี 2548-2563) ไทยมีการลงทุนในเมียนมา 12,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เฉพาะในปี 2563 มีการลงทุนใหม่ 1,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
อย่างไรก็ตามที่ประชุม กกร. คงประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2564 ที่จะขยายตัวได้ในกรอบ 1.5-3.5% ประมาณการการส่งออกในปี 2564 คาดว่าจะขยายตัว 3-5% ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปจะอยู่ในกรอบ 0.8-1.0%
โดยมองว่ามาตรการ ‘เรารักกัน’ ที่ภาครัฐจะออกเพื่อเยียวยากลุ่มผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ ขณะที่โครงการคนละครึ่งใส่เงิน 3-4 หมื่นล้านบาท แต่สามารถหมุนเวียนเศรษฐกิจได้ 8 หมื่นล้านบาท
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์