×

โจ ไบเดน ผู้เริ่มเปลี่ยนโลกด้วยปลายปากกา

01.02.2021
  • LOADING...
Joe Biden

Paris Agreement หรือ ความตกลงปารีส ภายใต้ United Nations Framework Convention on Climate Change (UNFCCC) เพื่อที่จะจัดการกับปัญหาแก๊สเรือนกระจก ซึ่งมีการลงนามจาก 196 ประเทศ/รัฐ มาตั้งแต่ปี 2559 โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกให้ต่ำกว่า 2 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับยุคก่อนอุตสาหกรรม และมุ่งพยายามควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับยุคก่อนอุตสาหกรรม เพื่อลดความเสี่ยงและผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้อย่างมีนัยสำคัญ

 

แต่อดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ประกาศถอนสหรัฐอเมริกาจากความตกลงนี้เมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2560 แสดงเจตจำนงในการถอนตัวในวันที่ 4 พฤศจิกายน 2562 และมีผลในวันที่ 4 พฤศจิกายน 2563 หลังจากการเลือกตั้งประธานาธิบดีเพียง 1 วัน ท่ามกลางความไม่เห็นด้วยจากประชาชนชาวอเมริกันส่วนใหญ่ รวมทั้งนักเรียกร้องทางด้านสิ่งแวดล้อม นักธุรกิจ และนักวิทยาศาสตร์ส่วนหนึ่ง

 

การถอนตัวนี้ทำให้ความตกลงปารีสเกิดความสั่นคลอน เพราะสหรัฐอเมริกามีส่วนในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายใหญ่อันดับ 2 รองจากจีน อีกทั้งยังเป็นผู้ให้ความสนับสนุนทางการเงินรายใหญ่ให้กับ Green Climate Fund อีกด้วย ซึ่งมีผลทำให้ความตกลงปารีสอาจจะไม่สามารถเกิดขึ้นได้

 

แต่แล้วหลังจากประธานาธิบดีโจ ไบเดน ได้รับตำแหน่งในวันที่ 20 มกราคม 2564 เขาก็ได้ลงนามคำสั่งประธานาธิบดีที่จะกลับไปอยู่ใต้ความตกลงปารีสทันที และยังลงนามในคำสั่งประธานาธิบดีที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมอีกหลายข้อ รวมทั้งการทบทวนโครงการท่อส่งน้ำมัน Keystone XL Pipeline (จากอัลเบอร์ตา แคนาดา ไปยังรัฐเนแบรสกา สหรัฐฯ) และยกเลิกข้อห้ามมิให้กองทุนเพื่อความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมเป็นกองทุนหลักเพื่อการเกษียณอายุ

 

คำสั่งเหล่านี้จากปลายปากกานี้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อมภายใต้การบริหารประเทศของประธานาธิบดีโจ ไบเดน เพราะเขามีแผนในการจัดการสิ่งแวดล้อมที่ชัดเจน รวมถึงการปฏิวัติในเรื่องของพลังงานสะอาด โดยมีรายละเอียดดังนี้

 

  • ให้สหรัฐอเมริกาเข้าสู่เศรษฐกิจที่ใช้พลังงานสะอาด 100% และบรรลุปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2593

 

  • สร้างโครงสร้างพื้นฐานในด้านน้ำ การคมนาคม และพลังงาน ให้สามารถที่จะรับมือกับสภาวะอากาศที่เปลี่ยนแปลงได้

 

  • สนับสนุนให้ประเทศอื่นให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาสภาวะอากาศ

 

  • ไม่ยินยอมให้ผู้มีอิทธิพลใช้อำนาจในการหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบจากสิ่งแวดล้อม และประกาศไม่รับเงินสนับสนุนจากบริษัทน้ำมัน แก๊ส และถ่านหิน

หากเขาทำได้จริง โลกเราก็จะมีโอกาสเห็นแสงที่ปลายทางว่าจะรอดจากปัญหาก๊าซเรือนกระจก และปัญหาสิ่งแวดล้อมอื่นๆ ได้

 

ถ้าเรากลับมามองในด้านตลาดทุน นี่เป็นการส่งสัญญาณเช่นกันว่าธุรกิจเพื่อสิ่งแวดล้อม รวมไปถึงธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมและสังคม ผ่านกระบวนการ ESG (Environmental, Social, and Governance) น่าจะได้รับผลเชิงบวกอย่างมาก เพราะนโยบายของโจ ไบเดน น่าจะทำให้คนทั้งโลกหันมาให้ความสนใจกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น และส่งผลให้บริษัทมีผลประกอบการดีขึ้น ประกอบกับการลงทุนแบบยั่งยืน (Sustainable Investing) ก็จะได้รับความสนใจมากขึ้น

 

ดังนั้นนักลงทุนไทยเองก็ควรให้ความสำคัญกับธุรกิจเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมและพลังงานสะอาด รวมไปถึงบริษัทที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมและสังคมให้มากขึ้นครับ

 

หากต้องการทราบข้อมูลเพิ่มเติมสามารถหาได้จาก https://www.setsustainability.com ครับ

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X