เกิดอะไรขึ้น :
SCBS ได้รวบรวมข้อมูลกำไรสุทธิ 4Q63 ของกลุ่มธนาคาร ซึ่งประกาศออกมาเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยภาพรวมกำไรสุทธิของกลุ่มธนาคารลดลง 25%YoY แต่เพิ่มขึ้น 8%QoQ โดยธนาคารส่วนใหญ่ (ยกเว้น KBANK และ KTB) รายงานกำไรสุทธิต่ำกว่าที่ตลาดคาด ซึ่งหลักๆ เกิดจากการตั้งสำรองที่สูงกว่าคาด นอกจากนี้ สินเชื่อภายใต้มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ปรับตัวลดลงอย่างมาก
ทั้งนี้ กำไรก่อนการตั้งสำรองของกลุ่มธนาคารลดลง 12%YoY และลดลง 2%QoQ ซึ่งสะท้อนถึงสินเชื่อที่เติบโต 8%YoY และเติบโต 2%QoQ ขณะที่ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (NIM) หดตัว 8 bps QoQ ซึ่งเกิดจากผลตอบแทนจากสินทรัพย์ที่ก่อให้เกิดรายได้ลดลง สำหรับรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ย (non-NII) เพิ่มขึ้น 19%QoQ ซึ่งมาจากรายได้ค่าธรรมเนียมฟื้นตัวดีขึ้น 12%QoQ แต่ non-NII ยังลดลง 26%YoY
กลุ่มที่รายงานกำไรสุทธิดีกว่าตลาดคาด :
- KTB รายงานกำไรสุทธิ 4Q63 ที่ 3.8 พันล้านบาท ลดลง 48%YoY และเพิ่มขึ้น 26%QoQ ดีกว่าตลาดคาด 9%
- KBANK รายงานกำไรสุทธิ 4Q63 ที่ 1.3 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 51%YoY และเพิ่มขึ้น 99%QoQ ดีกว่าตลาดคาด 116%
กลุ่มที่รายงานกำไรสุทธิต่ำกว่าตลาดคาด :
- BBL รายงานกำไรสุทธิ 4Q63 ที่ 2.4 พันล้านบาท ลดลง 70%YoY และลดลง 40%QoQ แย่กว่าตลาดคาด 56%
- SCB รายงานกำไรสุทธิ 4Q63 ที่ 4.9 พันล้านบาท ลดลง 13%YoY และเพิ่มขึ้น 4%QoQ แย่กว่าตลาดคาด 11%
- BAY รายงานกำไรสุทธิ 4Q63 ที่ 3.4 พันล้านบาท ลดลง 47%YoY และลดลง 45%QoQ แย่กว่าตลาดคาด 41%
- TMB รายงานกำไรสุทธิ 4Q63 ที่ 1.2 พันล้านบาท ลดลง 24%YoY และลดลง 24%QoQ แย่กว่าตลาดคาด 26%
- KKP รายงานกำไรสุทธิ 4Q63 ที่ 1.1 พันล้านบาท ลดลง 34%YoY และลดลง 18%QoQ แย่กว่าตลาดคาด 5%
- LHFG รายงานกำไรสุทธิ 4Q63 ที่ 204 ล้านบาท ลดลง 77%YoY และลดลง 61%QoQ แย่กว่าตลาดคาด 50%
- ขณะที่ TISCO รายงานกำไรสุทธิ 4Q63 ที่ 1.6 พันล้านบาท ลดลง 12%YoY และเพิ่มขึ้น 1%QoQ ใกล้เคียงกับที่ตลาดคาด
กระทบอย่างไร :
นับตั้งแต่เริ่มประกาศผลประกอบการ (19 มกราคม) จนถึงวันนี้ (26 มกราคม) ราคาหุ้นกลุ่มธนาคารปรับตัวขึ้น 2% โดย KBANK ปรับตัวขึ้นโดดเด่นสุดในกลุ่มถึง 10.9% และมีเพียงแค่ KTB, BAY และ TMB ที่ปรับตัวลง 0.8%, 5.2% และ 1.7% ตามลำดับ
มุมมองระยะสั้น :
SCBS คาดว่า แนวโน้มผลประกอบการของธนาคารส่วนใหญ่ผ่านพ้นจุดต่ำสุดไปแล้วใน 4Q63 หลังจากตั้งสำรองเพิ่มมากกว่าที่คาดเพื่อเพิ่ม LLR Coverage โดย LLR ของกลุ่มธนาคารเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 150% จาก 146% ณ 3Q63 และอัตราส่วน NPL อยู่ในระดับที่ 3.97% นอกจากนี้ SCBS เชื่อว่า Credit Cost ได้ทำจุดสูงสุดแล้วในปี 2563 และจะลดลงเล็กน้อยในปี 2564 แต่ยังอยู่ในระดับสูงกว่าปกติค่อนข้างมาก เนื่องจากธนาคารยังตั้งสำรองเพิ่มขึ้น เพื่อรองรับ NPL ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ ภายหลังจากมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ระยะที่ 1 สิ้นสุดลงใน 4Q63 คุณภาพของสินเชื่อภายใต้มาตรการช่วยเหลือฯ ดีกว่าที่คาด เนื่องจากสินเชื่อดังกล่าวลดลงมากกว่าครึ่งหนึ่งจากจุดสูงสุดใน 2Q63
มุมมองระยะยาว :
สำหรับทิศทางกำไรปี 2564 ของกลุ่มธนาคาร SCBS คาดว่าจะฟื้นตัว 10%YoY โดยการตั้งสำรองยังอยู่ในระดับสูงอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับ NPL ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และการเติบโตของสินเชื่อยังคงชะลอตัว ขณะที่ NIM ยังมีแนวโน้มลดลง เพราะผลตอบแทนจากการให้สินเชื่อลดลง โดยได้รับผลกระทบจากการลดอัตราดอกเบี้ยเต็มปีและการปล่อยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ
สำหรับปี 2565 คาดว่าทิศทางกำไรจะเติบโต 11%YoY โดยได้รับการสนับสนุนจากการตั้งสำรองลดลง เพราะความเสี่ยงด้านคุณภาพสินทรัพย์ลดลง แม้ว่าจะถูกฉุดรั้งจาก NIM ที่ลดลงอย่างมาก เพราะอัตรานำส่งเงินสมทบกองทุนฟื้นฟูฯ จะปรับตัวขึ้น 23 bps สู่ระดับปกติที่ 0.46%
ทั้งนี้ SCBS คาดว่า กำไรของกลุ่มธนาคารจะปรับตัวขึ้นสู่ระดับก่อนโควิด-19 ในปี 2566 โดยกำไรจะเติบโต 19%YoY เมื่อ Credit Cost กลับคืนสู่ระดับปกติ และโครงสร้างต้นทุนปรับลดลง หลังจากลงทุนครั้งใหญ่ในระบบดิจิทัลแบงกิ้งเป็นเวลาหลายปี
พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล