สหภาพยุโรปกำลังพิจารณาเกี่ยวกับภาคบริการทางการเงินกับอังกฤษ และคาดว่าน่าจะคล้ายคลึงกับที่ทำร่วมกับสหรัฐฯ
ข้อตกลงของ Brexit ระหว่างสหราชอาณาจักรและสหภาพยุโรป (EU) เมื่อวันที่ 1 มกราคมที่ผ่านมานั้นไม่ครอบคลุมภาคบริการทางการเงิน ส่งผลให้ศูนย์กลางทางการเงินอย่างกรุงลอนดอนถูกตัดขาดจากสหภาพยุโรป
สำนักข่าว Reuters รายงานว่าทั้งสองฝ่ายมีความมุ่งมั่นที่จะสร้างฟอรัมสำหรับความร่วมมือด้านกฎระเบียบทางการเงินภายในเดือนมีนาคมนี้ อย่างไรก็ตาม การเจรจาเพื่อจัดฟอรัมเฉพาะกิจดังกล่าวยังไม่ได้เริ่มขึ้น
“กรอบการเจรจาครั้งนี้คือความร่วมมือระหว่างเรา (EU) และอังกฤษ จะคล้ายคลึงกับที่เราทำกับสหรัฐฯ ไม่ว่าจะเป็นการดูโครงสร้างของภาคบริการทางการเงินเพื่อเปรียบเทียบจุดตั้งต้นด้านกฎระเบียบ แลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับการพัฒนาระหว่างประเทศ และหารือเกี่ยวกับประเด็นที่เกี่ยวข้องกับความเท่าเทียมกัน” ไมรีด แม็กกินเนส คณะกรรมาธิการยุโรปสําหรับบริการทางการเงินกล่าว
ทั้งนี้ หน่วยงานกำกับดูแลของสหรัฐฯ และสหภาพยุโรปใช้เวลาประมาณ 4 ปีในการยอมรับกฎเกี่ยวกับอนุพันธ์ข้ามพรมแดน
โดยปัจจุบันการซื้อขายในตลาดหุ้นและตลาดอัตราแลกเปลี่ยนในลอนดอนแทบไม่สามารถทำธุรกรรมได้ ซึ่งทำให้เกิดการตั้งคำถามถึงการเข้าถึงตลาดยุโรปในอนาคต และแพลตฟอร์มบริการการซื้อขายหลายแหล่งจากอังกฤษได้มาเปิดสาขาในศูนย์กลางการเงินของสหภาพยุโรปแทน
อย่างไรก็ตาม แม็กกินเนสกล่าวเพิ่มว่าความร่วมมือด้านกฎระเบียบจะไม่เกี่ยวกับการฟื้นฟูความสูญเสียทางการตลาดของอังกฤษ และจะไม่สร้างข้อจำกัดหรือกำหนดความเท่าเทียมกับสหภาพยุโรป
ทั้งนี้ ความเท่าเทียมกันในที่นี้หมายถึงการเข้าถึงของสหภาพยุโรป เมื่อสหภาพยุโรปเห็นว่ากฎของประเทศที่ไม่ได้อยู่ในสหภาพฯ มีความคล้ายคลึงกันมากพอกับกลุ่มสหภาพฯ
“เมื่อเราเห็นได้ข้อตกลงร่วมกันแล้วจะทําการประเมินความเท่าเทียมกันอีกครั้ง… โดยใช้เกณฑ์เดียวกันกับประเทศที่สามทั้งหมด รวมถึงการต่อต้านการฟอกเงินและความร่วมมือด้านภาษี”
ขณะเดียวกันทางสหราชอาณาจักรวางแผนที่จะแก้ไขกฎบางอย่างของสหภาพยุโรปด้วยเช่นกัน
โดยแม็กกินเนสกล่าวว่าทางสหราชอาณาจักรมีเจตนาที่แตกต่างออกไปจากสหภาพยุโรป โดยต้องมีการพิจารณาเป็นรายกรณีในแต่ละพื้นที่
“ส่วนตัวยังมองมุมบวก ด้วยความร่วมมือและความไว้วางใจต่อกัน เราจะสร้างความสัมพันธ์ที่มั่นคงและสมดุลกับเพื่อนในสหราชอาณาจักรของเรา”
ก่อนหน้านี้สำนักข่าว Financial Times เคยรายงานว่าภาคบริการทางการเงินของสหราชอาณาจักรมีมูลค่าราว 1.32 แสนล้านปอนด์ต่อปี และมีการจ้างงานมากกว่า 1 ล้านคน ซึ่งกรณี Brexit เมื่อต้นปีไม่มีกฎเกณฑ์ใดมารองรับภาคบริการทางการเงินนี้
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์
อ้างอิง:
- https://www.reuters.com/article/uk-britain-eu-banks-idUSKBN29U2AF?utm_campaign=trueAnthem%3A+Trending+Content&utm_medium=trueAnthem&utm_source=facebook
- https://www.bloomberg.com/news/videos/2021-01-22/eu-s-mairead-mcguinness-warns-city-of-london-change-is-coming-video?sref=CVqPBMVg
- https://www.ft.com/content/96070a44-192a-4607-a6d1-ea5053b53aa2