ปรากฏการณ์แห่จองซื้อหุ้น บมจ.ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก หรือ OR วันแรก (24 มกราคม) จนเป็นเหตุให้ช่องทางออนไลน์ของ 3 ธนาคารที่เป็นตัวแทนจำหน่าย อันได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงไทย และธนาคารกสิกรไทย ไม่สามารถรองรับธุรกรรมที่เข้ามาอย่างหนาแน่นในชั่วขณะหนึ่ง สะท้อนให้เห็นถึงจำนวนผู้ต้องการร่วมเป็นเจ้าของกิจการ OR ได้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะผู้ลงทุนรายย่อย
ไม่เพียงอยู่ในความสนใจของนักลงทุนรายย่อยเท่านั้น หุ้น OR ก็ได้รับความสนใจจากนักลงทุนสถาบันอย่างล้นหลามเช่นเดียวกัน
โดยจำนวนหุ้น IPO ที่เสนอขาย 2,610 ล้านหุ้นนั้น แบ่งการจัดสรรดังนี้
- ผู้ถือหุ้นเดิมของ บมจ.ปตท. หรือ PTT จำนวน 300 ล้านหุ้น
- นักลงทุนทั่วไป 595.70 ล้านหุ้น (จองผ่านธนาคาร)
- สถาบันในประเทศ 1,264.30 ล้านหุ้น (ผ่านโบรกเกอร์)
- สถาบันต่างประเทศ 450 ล้านหุ้น (ผ่านโบรกเกอร์)
วิน พรหมแพทย์ ประธานเจ้าหน้าที่การลงทุน บลจ.พรินซิเพิล จำกัด กล่าวว่าปรากฏการณ์จองหุ้น IPO ของ OR ในวันแรกสะท้อนถึงความต้องการถือครองหุ้น OR ได้เป็นอย่างดีจนเกิดกระแสความสนใจในวงกว้าง และทำให้เกิดนักลงทุนหน้าใหม่ค่อนข้างเยอะ ทั้งนี้ แนะนำนักลงทุนให้ศึกษาข้อมูลของหุ้น OR และการลงทุนในตลาดหุ้นให้เข้าใจอย่างดีก่อน เพื่อให้สามารถลงทุนได้อย่างมีคุณภาพ
“การกระจายหุ้นนั้นเน้นกระจายให้ถึงมือผู้ลงทุนจำนวนมาก สิ่งที่ไม่อยากให้เกิดขึ้นคือการลงทุนตามกระแส เพราะทุกการลงทุนล้วนมีโอกาสขาดทุน จึงอยากให้นักลงทุนศึกษาข้อมูลเชิงปัจจัยพื้นฐานด้วย อย่าง OR จุดเด่นก็คือการมีจำนวนสาขาปั๊มน้ำมันจำนวนมาก มีร้านกาแฟจำนวนมาก ซึ่งขยายด้วยแฟรนไชส์ ทำให้ OR มีรายได้ที่มั่นคง อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงที่มีคือการปรับตัวรับมือกับการเปลี่ยนทางการใช้พลังงานเชื้อเพลิงจากน้ำมันสู่ไฟฟ้า แม้จะมีแผนงานรองรับ แต่ก็มีปัจจัยเสี่ยงที่ยังต้องเกาะติดอยู่”
เมอร์ชั่น พาร์ทเนอร์ ชี้เหมาะถือ 3 ปี
ประกิต สิริวัฒนเกตุ ผู้อำนวยการอาวุโส บลจ.เมอร์ชั่น พาร์ทเนอร์ กล่าวว่าจากจำนวนหุ้น IPO ที่จัดสรรนั้นถือว่าไม่เยอะ โดยเฉพาะที่จัดสรรให้กับนักลงทุนรายย่อย จึงไม่แปลกใจที่ได้เห็นปรากฏการณ์จองซื้อหุ้นกันตั้งแต่วันแรก แม้ว่าข้อเท็จจริงแล้วยังสามารถจองซื้อหุ้นได้ถึงวันที่ 2 กุมภาพันธ์ เวลา 12.00 น.
ขณะเดียวกันว่ามองว่าในวันเข้าซื้อขายวันแรกก็น่าจะมีนักลงทุนที่ไม่ได้รับการจัดสรรหุ้นหรือได้ไม่ถึงจำนวนที่ต้องการมาซื้อในกระดาน เราน่าจะได้เห็นแรงซื้อในวันแรกเข้ามาอย่างมาก ซึ่งก็เป็นโอกาสสำหรับนักลงทุนระยะสั้น
แต่หากประเมินความน่าสนใจหุ้น OR ระยะยาวแล้ว มองว่าเหมาะกับการถือราว 3 ปี เนื่องจากความเสี่ยงหลักๆ ของ OR คือจะสร้างกำไรจาก Asset ที่มีในระยะยาวได้อย่างไร เมื่อต้องเผชิญกับการดิสรัปต์ของการใช้พลังงานเชื้อเพลิง
ทั้งนี้ ประเมินว่าแม้ OR จะมีสถานีบริการน้ำมันจำนวนมาก และสามารถต่อยอดไปสู่ EV Charging ได้ แต่ในระยะยาว (5 ปี) พัฒนาการของเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้าน EV และ EV Charging ก็จะพัฒนาอย่างรวดเร็วเช่นกัน รวมถึงต้องมีผู้เล่นรายอื่นเข้าสู่ตลาดนี้เช่นกัน
ถ้าเฉพาะประเด็น EV Charging ในระยะ 5 ปีจากนี้ เชื่อว่าคู่แข่งไม่ได้มีเพียงแค่ปั๊มน้ำมันเท่านั้น แต่เซกเตอร์อื่นๆ ก็มีความสามารถในการเข้าถึงนวัตกรรมและผันตัวเองเป็นผู้ให้บริการ EV Charging เช่นกัน ได้แก่ เจ้าของที่ดินเปล่าที่อยู่ติดถนนที่เป็นเส้นทางสัญจรหลัก ร้านสะดวกซื้อท้องถิ่นที่มีพื้นที่เพียงพอสำหรับการติดตั้งแท่นชาร์จ ผู้ให้บริการสินเชื่อเช่าซื้อรถแท็กซี่ที่นำ EV Charging มาให้บริการคนขับแท็กซี่ ฯลฯ
ในส่วนของการสร้าง Lifestyle Community ก็เช่นเดียวกัน ในระยะ 1-3 ปีจากนี้เชื่อว่า OR จะมียอดสัญจรเข้าออกปั๊มจำนวนมากและมียอดใช้จ่ายในปั๊มที่หนาแน่น แต่หากมองระยะยาวถึง 5 ปี เชื่อว่าโมเดลธุรกิจที่ใกล้เคียงกันก็เกิดขึ้นได้โดยง่าย และเกิดขึ้นในจำนวนที่มาก
พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์