×

ส่องอนาคตหุ้น ‘กลุ่มการแพทย์’ เมื่อ รพ.เอกชน พร้อมนำเข้าวัคซีนต้านโควิด-19 รอแค่ไฟเขียวจาก อย.

26.01.2021
  • LOADING...
กลุ่มการแพทย์

เมื่อไม่นานมานี้ คณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ให้สัมภาษณ์ว่าได้รับเอกสารการขอขึ้นทะเบียนสำหรับวัคซีนต้านโควิด-19 ของบริษัท AstraZeneca เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2563 และอนุมัติให้ขึ้นทะเบียนวัคซีนโควิด-19 ของบริษัท AstraZeneca เมื่อวันที่ 20 มกราคม 2564 รวมเวลาการพิจารณาประมาณ 1 เดือน ซึ่งวัคซีนที่ทาง อย. รับขึ้นทะเบียนเป็นวัคซีนที่ได้รับอนุญาตให้ใช้ในภาวะฉุกเฉินที่จะต้องมีระบบการกำกับติดตามและเฝ้าระวังความปลอดภัยจากการใช้อย่างต่อเนื่อง 

 

นอกจากนี้ยังให้ข้อมูลเพิ่มด้วยว่าขณะนี้มีผู้มายื่นขออนุมัติวัคซีนโควิด-19 จาก อย. จำนวน 2 บริษัท ได้แก่ บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า (ประเทศไทย) จำกัด และบริษัท ซิโนแวค ไบโอเทค จำกัด โดยมีองค์การเภสัชกรรมเป็นผู้มายื่นขอ ซึ่งทาง อย. รอเอกสารเพิ่มเติมให้ครบถ้วน ยืนยันว่าไม่ปิดกั้นบริษัทใดที่มายื่นขออนุญาต และพร้อมให้คำปรึกษาหรือตอบข้อสงสัยเพื่ออำนวยความสะดวกในการขออนุญาตอย่างเต็มที่ 

 

ด้านกลุ่มธุรกิจการแพทย์ โดยเฉพาะโรงพยาบาลเอกชน ได้ประกาศความพร้อมนำเข้าวัคซีนต้านโควิด-19 หลายรายแล้ว วัตถุประสงค์หลักเพื่อดูแลบุคลากรทางการแพทย์ที่อยู่ในความดูแลของแต่ละโรงพยาบาล รวมทั้งเพื่อจำหน่ายเป็นบริการแก่ภาคประชาชนผู้มีความพร้อมจ่ายค่าบริการ

 

โรงพยาบาลเอกชนพร้อมนำวัคซีนเข้า หาก อย. ขึ้นทะเบียนรับรอง 

บุญ วนาสิน ประธานกรรมการ บมจ.ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป (THG) กล่าวว่าบริษัทได้สั่งจองวัคซีนโควิด-19 ของบริษัท ซิโนแวค ไบโอเทค ไปแล้วจำนวน 1 ล้านโดส คาดว่าจะมีการส่งมอบในช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์นี้ โดยทางบริษัทจะนำมาฉีดให้กับบุคลากรภายในบริษัทจำนวน 2 แสนโดส เพื่อเป็นการลดความเสี่ยงต่อการติดเชื้อโควิด-19 และเพื่อป้องกันผลกระทบที่เกิดขึ้นกับธุรกิจของบริษัท โดยเฉพาะในส่วนของพนักงานที่ทำงานในโรงงานผลิตถุงมือยาง ส่วนวัคซีนที่บริษัทสั่งจองมาอีก 8 แสนโดสจะนำไปให้บริการฉีดให้กับประชาชนทั่วไปที่สนใจ 

 

นอกจากนี้ยังได้เปิด PO หรือใบจองซื้อวัคซีนอีก 9 ล้านโดสในอนาคต เพื่อจัดสรรเป็นบริการแก่ลูกค้าที่เป็นองค์กรธุรกิจ พันธมิตรทางการค้า และประชาชนทั่วไป โดยรวมแล้ว THG จัดสรรงบสำหรับการนำเข้าวัคซีนต้านโควิด-19 ไว้ราว 300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ 

 

อย่างไรก็ตาม สถานะปัจจุบันด้านการนำเข้าวัคซีนล่าสุดคือการรอให้ อย. ขึ้นทะเบียนวัคซีนจาก Sinovac แต่เท่าที่บริษัทติดตามข้อมูลคือทางองค์การเภสัชกรรมก็ยื่นเอกสารขอขึ้นทะเบียนวัคซีนที่นำเข้าจาก Sinovac เช่นกัน ซึ่งหาก อย. รับรองเอกสารกับทางองค์การเภสัชกรรม THG ก็จะขอยื่นแบบ Fast Track ไปด้วย เนื่องจากเอกสารต่างๆ และตัววัคซีนก็เป็นตัวเดียวกัน

 

“การที่โรงพยาบาลเอกชนต้องการนำวัคซีนเข้ามาให้เร็วที่สุดภายใต้ความปลอดภัยของวัคซีนและความสามารถด้านการจัดเก็บและการขนส่งที่มีประสิทธิภาพ ก็เพราะว่าเราต้องการให้เกิด Herd Immunityโดยเร็วด้วย เท่าที่ติดตามข้อมูลจากหน่วยงานรัฐ การนำเข้าวัคซีนของรัฐเองเพื่อจัดสรรแก่บุคลากรทางการแพทย์ก่อน เราก็ไม่รู้หลักในการกระจายว่าจะเป็นรูปแบบไหน ปัจจุบันนี้บุคลากรทางการแพทย์ทั้งหมดในประเทศไทยแบ่งเป็นโรงพยาบาลรัฐ 70% และเอกชน 30% การที่โรงพยาบาลเอกชนเสนอทางเลือกให้เกิดการจัดสรรการได้รับวัคซีนในวงกว้างที่สุดเป็นเรื่องที่ดีแก่ทุกฝ่าย” 

 

ธานี มณีนุตร์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการด้านงานพัฒนาธุรกิจ บมจ.พริ้นซ์เพิล แคปิตอล หรือ PRINC กล่าวว่าบริษัทได้รับการติดต่อจากตัวแทนจำหน่ายวัคซีนเข้ามา 5-6 ราย แต่ยังไม่ตัดสินใจเลือก เพราะต้องรอดูประสิทธิภาพของวัคซีนจากผู้ผลิตแต่ละเจ้า โดยบริษัทจะพิจารณาเลือกจากปฏิกิริยาต่อร่างกาย เพราะหากเป็นการเพาะจากเชื้อเป็นคือ Moderna และ Pfizer อาจจะมีผลต่อร่างกายและภูมิคุ้มกันตามที่เป็นข่าว ขณะที่วัคซีนของรัสเซีย Sputnik V เป็นอีกทางเลือกเพิ่มเติม เพราะมีต้นทุนไม่แพง คืออยู่ที่ 10 ดอลลาร์ต่อโดส และฉีดแค่ 1 เข็ม

 

เบื้องต้นหากมีการนำเข้าจะเตรียมให้กับบุคลากรทางการแพทย์ 3,000 คนก่อนที่ประมาณ 6,000-7,000 โดส และอาจจะต้องเผื่อทางเลือกไว้สองแห่งเพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการขนส่งสะดุดหรือการผลิตไม่เพียงพอ

 

นักวิเคราะห์ระบุ ถึงเวลาซื้อหุ้นโรงพยาบาล 

ณัฐพล คำถาเครือ ผู้อำนวยการ ฝ่ายวิเคราะห์การลงทุน บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) กล่าวว่าหากประเมินปัจจัยเรื่องการนำเข้าวัคซีนต้านโควิด-19 ในระยะสั้น แน่นอนว่าต้องส่งผลเชิงบวกต่อหุ้นกลุ่มการแพทย์ในสองมุม ทั้งมุมของเซนทิเมนต์เชิงบวกที่จะมาสู่กลุ่มนี้ และมุมเรื่องแนวโน้มผลประกอบการ 

 

ในเชิงเซนทิเมนต์ ข่าวดีเรื่องการนำเข้าวัคซีนได้จะหนุนราคาหุ้นกลุ่มนี้ให้ปรับเพิ่มขึ้น ตอบรับปัจจัยในระยะสั้น โดยที่ผ่านมาราคาหุ้นกลุ่มโรงพยาบาลค่อนข้าง Laggard เมื่อเทียบกับกลุ่มอื่น ซึ่งส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะการล็อกดาวน์ประเทศตั้งแต่ปีที่แล้ว ทำให้กิจกรรมด้านสุขอนามัยของผู้คนลดลงไปเช่นกัน 

 

ในเชิงของผลประกอบการ ในระยะสั้นการนำเข้าวัคซีนอาจจะไม่ได้ช่วยเพิ่มรายได้ในฝั่งของค่าบริการหรือค่ายาแก่กลุ่มโรงพยาบาลมากนัก เนื่องจากวัคซีนต้านโควิด-19 น่าจะถูกควบคุมจาก อย. เพื่อประโยชน์แก่ประชาชนหมู่มาก 

 

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าเราสามารถคาดหวังผลประกอบการทั้งปี เริ่มตั้งแต่ครึ่งหลังปีนี้และปีหน้าเต็มปี บนสมมติฐานที่ว่าประชาชนไทยได้รับวัคซีนในสัดส่วนที่ทำให้เกิด Herd Immunity ได้  ซึ่งจะทำให้เปิดประเทศได้อีกครั้ง ภาคการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพก็จะกลับมา

 

“หากเกิดภาพนั้น หุ้นกลุ่มโรงพยาบาลที่โดดเด่นคือ BDMS จากปัจจัยเรื่องสาขาที่มีจำนวนมาก BCH จากปัจจัยเรื่องมีลูกค้าประกันสังคมจำนวนมาก และ BH จากปัจจัยเรื่องการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ ส่วนระยะสั้นๆ หากวัคซีนเข้ามาแล้วโรงพยาบาลที่ได้รับประโยชน์คือโรงพยาบาลที่มีสาขาจำนวนมาก” 

 

ฝ่ายวิจัย บล.เอเซีย พลัส ระบุว่าจากความคืบหน้าวัคซีนล่าสุด ประเมินเป็นบวกกับกลุ่มการแพทย์ต่อความเชื่อมั่นในการกลับเข้ามาใช้บริการของผู้ป่วยไทยให้คาดหวังการฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง และมีโอกาสสูงกว่าประเมินในปี 2564 ที่ให้น้ำหนักการฟื้นตัวในช่วงครึ่งหลังปี 2564 เป็นหลัก ประกอบกับสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 รอบใหม่ในไทยที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อใหม่เริ่มทรงตัวและลดลงแล้ว จึงคาดว่าผลกระทบยังจำกัดกว่าช่วงไตรมาส 2 ปีที่แล้ว 

 

ขณะที่ในประเด็นกลุ่มผู้ป่วยต่างชาติที่บินมารักษา (Fly-in) แม้ปัจจุบันผู้ป่วยต่างชาติที่ฉีดวัคซีนแล้วจะยังต้องมีการกักตัว 14 วัน แต่เชื่อว่าหากวัคซีนได้รับการยอมรับอย่างแพร่หลายมากขึ้นก็ยังมีโอกาสที่จะเริ่มเห็นการผ่อนปรนมาตรการดังกล่าว ซึ่งอาจเป็น Upside ต่อประมาณการปี 2564 ได้ อย่างไรก็ตาม ยังต้องติดตามความชัดเจนในระยะต่อไป

 

ขณะที่ดัชนีกลุ่มฯ ปัจจุบันยัง Laggard ตลาดฯ ค่อนข้างมาก โดยหากนับจากปี 2563 ยังปรับตัวลดลง 13.7% เทียบตลาดฯ ที่ลดลง 5.2% สวนทางกับแนวโน้มระยะถัดไปที่ยังคาดหวังการฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง แนะนำลงทุนเท่าตลาด เลือก บมจ.กรุงเทพดุสิตเวชการ (BDMS) และโรงพยาบาลพระรามเก้า (PR9) เป็น Top Pick รองมาเป็น บมจ.บางกอก เชน ฮอสปิทอล (BCH) จากจุดเด่นการปรับตัวรวดเร็ว รับประโยชน์ทั้งการตรวจโควิด-19 และโอกาสการให้บริการวัคซีนโควิด-19

 

ฝ่ายวิจัย บล.บัวหลวง ให้น้ำหนักการลงทุนกลุ่มเฮลท์แคร์มากกว่าตลาด (Overweight) เนื่องจาก

 

1. กลุ่มการแพทย์เป็นตัวเลือกที่ดีที่สุดสำหรับการลงทุนธีมวัคซีนโควิด-19 โดยได้ประโยชน์ตั้งแต่การฉีดวัคซีนไปจนถึงการผ่อนคลายมาตรการการเดินทางและการเปิดรับการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ

 

2. แนวโน้มกำไรปี 2564-2565 เติบโตน่าตื่นเต้น (37% และ 22%) โดยคาดว่าจะฟื้นตัวกลับมาปกติในปี 2565 

 

3. สถานะการเงินแข็งแกร่ง อัตรากำไรสุทธิเฉลี่ยของกลุ่มอยู่ในระดับต่ำสุดตั้งแต่เคยมีมาเพียง 0.05 เท่า 

 

ทั้งนี้ หุ้น Top Pick คือหุ้น BDMS เนื่องจากเป็นกลุ่มโรงพยาบาลเอกชนที่ใหญ่ที่สุดในไทย ได้ประโยชน์เต็มๆ เมื่อมีการฉีดวัคซีน และ BH ที่ฟื้นตัวดีที่สุดจากการกลับมาของผู้ป่วยต่างประเทศ และแนะนำซื้อเก็งกำไรหุ้น BCH เนื่องจากมูลค่าที่ยังไม่แพง และได้ประโยชน์จากรายได้เพิ่มเติมจากบริษัทที่เกี่ยวกับโควิด-19 

 

 

 

กลุ่มการแพทย์

 

ภาพประกอบ: ธิดามาศ เขียวเหลือ

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X