สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยตัวเลขการส่งออกไทยเดือนธันวาคม 2563 พบว่า กลับมาขยายตัวที่ 4.71% ซึ่งถือเป็นการขยายตัวครั้งแรกในรอบ 8 เดือน และยังเป็นอัตราการเติบโตที่สูงสุดในรอบ 22 เดือน แม้ว่าจะมีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกสอง แต่หลายประเทศมีการบริหารจัดการที่ดี พร้อมทั้งประกาศใช้มาตรการล็อกดาวน์เป็นบางพื้นที่ ทำให้ภาคการผลิตและการขนส่งยังดำเนินต่อไปได้
นอกจากนี้ ผลจากการระดมมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าอย่างต่อเนื่อง และการกระจายวัคซีนในหลายภูมิภาค ช่วยกระตุ้นอุปสงค์และสร้างความเชื่อมั่น ส่งผลให้เศรษฐกิจโลกสามารถรักษาทิศทางการฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ ภาพรวมการส่งออกไทยเดือนธันวาคม 2563 มีมูลค่า 20,082.74 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัว 4.71% ขณะที่ภาพรวมการส่งออกทั้งปี 2563 (มกราคม-ธันวาคม) มีมูลค่า 231,468.44 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัว 6.01%
สินค้าที่ขยายตัวได้ดี ยังเป็นสินค้ากลุ่มที่เติบโตต่อเนื่อง 3 กลุ่มหลัก ได้แก่
1. สินค้าอาหาร เช่น ผักและผลไม้ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง น้ำมันปาล์ม อาหารสัตว์เลี้ยง สุกรสดแช่เย็นแช่แข็ง และสิ่งปรุงรสอาหาร
2. สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่บ้าน (Work from Home) และเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน ยังคงได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง เช่น เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน เตาอบไมโครเวฟและเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ให้ความร้อน ตู้เย็นและตู้แช่แข็ง เครื่องซักผ้า เครื่องปรับอากาศ และโทรศัพท์และอุปกรณ์
3. สินค้าเกี่ยวกับการป้องกันการติดเชื้อและลดการแพร่ระบาด เช่น เครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์ และถุงมือยาง เป็นสินค้าที่ไทยมีศักยภาพในการส่งออกอย่างมากในช่วงนี้
นอกจากสินค้า 3 กลุ่มหลักที่มีการเติบโตต่อเนื่องแล้ว ยังมีกลุ่มสินค้าที่มีการกลับมาขยายตัวตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก อาทิ สินค้าที่เกี่ยวข้องกับภาคการผลิต เช่น เม็ดพลาสติก เคมีภัณฑ์ แผงวงจรไฟฟ้า เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ รวมไปถึงสินค้าคงทนที่มีราคาสูงอย่างรถยนต์ ซึ่งคาดว่าจะเป็นเครื่องบ่งชี้ถึงสัญญาณการฟื้นตัวของภาคการผลิตโลก และซัพพลายเชนของสินค้าส่งออกไทย
ด้านตลาดส่งออกสำคัญ อาทิ ตลาดสหรัฐฯ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และออสเตรเลีย ขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า ขณะที่หลายตลาดในเอเชียตะวันออกกลับมาฟื้นตัวเป็นบวกอีกครั้ง โดยเฉพาะตลาดจีน ฮ่องกง ไต้หวัน และตลาดเอเชียใต้อย่างอินเดีย รวมถึงตลาดอื่นๆ ที่มีสัดส่วนสำคัญกับการส่งออกไทย ต่างมีอัตราการหดตัวที่ลดลงอย่างมากในเดือนนี้ เช่น ตลาดสหภาพยุโรป และ CLMV ที่แม้จะยังได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 แต่ยังรักษาการเติบโตทางเศรษฐกิจได้ดี
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์