×

นโยบายการเงินเพื่อช่วยเหลือ SMEs ควรเป็นอย่างไร : บทเรียนจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกแรก

14.01.2021
  • LOADING...
นโยบายการเงินเพื่อช่วยเหลือ SMEs ควรเป็นอย่างไร : บทเรียนจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ระลอกแรก

เป็นเรื่องที่ปฏิเสธไม่ได้ว่า การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ในระลอกใหม่ที่เกิดขึ้น ถือเป็นปัจจัยลบที่สำคัญต่อการฟื้นตัวของภาคเศรษฐกิจไทยในปีนี้ โดยก่อนหน้านี้เราต่างคาดหวังกันว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2564 จะมีแนวโน้มการฟื้นตัวต่อเนื่องจากช่วงครึ่งปีหลังของปี 2563 ที่มีสัญญาณการฟื้นตัวที่ดีของเศรษฐกิจไทยในหลายๆ ด้าน และถึงแม้เราจะทราบกันดีว่า ภายในช่วงสิ้นปีนี้ ประเทศไทยจะมีวัคซีนต้านโควิด-19 ที่สามารถช่วยควบคุมการระบาดของเชื้อ แต่ก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่าอย่างน้อยในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี เศรษฐกิจไทยจะได้ผลกระทบจากการระบาดในระลอกนี้อย่างแน่นอน

 

และภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบหนักที่สุดคงหนีไม่พ้นภาคธุรกิจ SMEs โดยเฉพาะ กลุ่มธุรกิจภาคบริการที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักอยู่แล้วจากกำลังซื้อต่างชาติที่หดหายไปตั้งแต่มีการปิดประเทศ ในครั้งนี้กลุ่มธุรกิจ SMEs กลับต้องเผชิญกับการล็อกดาวน์รอบใหม่ที่มีการจำกัดการเดินทางและพื้นที่บางส่วน ยิ่งไปกว่านั้น ความกังวลของการระบาดระลอกใหม่ที่ทวีความรุนแรงขึ้น มีผลต่อพฤติกรรมการบริโภคการใช้จ่ายที่เปลี่ยนแปลงไปเป็นอันมาก ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจ SMEs โดยตรง

 

ปัญหาที่เกิดขึ้นจึงน่าจะส่งผลให้ธุรกิจ SMEs ประสบกับปัญหารายได้ที่มีแนวโน้มลดลงอีกในช่วงต้นปีนี้ ซึ่งประเด็นนี้ถือเป็นเรื่องที่ส่งผลกระทบไปในวงกว้าง เนื่องจากภาคครัวเรือนจะได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการที่ธุรกิจ SMEs มีการจ้างงานในระบบจำนวนมากกว่า 12 ล้านคน ซึ่งตั้งแต่ช่วงปีที่แล้ว ภาคธุรกิจ SMEs โดยทั่วไปแล้วมีสภาพการเงินที่ไม่แข็งแกร่งนัก เมื่อพบกับปัญหารายได้ที่หดตัวลงธุรกิจ SMEs จำนวนมาก จึงเผชิญกับปัญหาด้านการเงินในช่วงวิกฤตสถานการณ์โควิด-19 

 

ดังนั้น จากผลกระทบของการระบาดของโรคโควิด-19 ในระลอกใหม่นี้ จำเป็นต้องมีการออกมาตรการทางเศรษฐกิจเพื่อให้ความช่วยเหลืออย่างแน่นอน คำถามที่น่าสนใจคือ นโยบาย โดยเฉพาะมาตรการทางการเงินที่ออกมาจากธนาคารแห่งประเทศไทยผ่านธนาคารพาณิชย์ควรมีรูปแบบใด ถึงจะเหมาะสมและก่อให้เกิดประสิทธิภาพมากที่สุด 

 

หากเราย้อนมองดูเหตุการณ์เมื่อปีที่แล้ว เราจะพบว่ามาตรการทางการเงินเป็นมาตรการส่วนแรกที่เข้ามาให้การช่วยเหลือภาคเศรษฐกิจอย่างทันท่วงที นำโดยการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่ได้ดำเนินการปรับลดดอกเบี้ยนโยบายตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ 2563 ที่ผ่านมา เมื่อเห็นสัญญาณความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจ ซึ่งได้ทำการปรับลดทั้งสิ้น 3 ครั้ง ส่งผลให้ดอกเบี้ยเงินกู้มีการปรับลดลงเช่นเดียวกัน และภายหลังจากการปรับลดดอกเบี้ยนโยบาย ก็มีการปรับลดอัตราเงินนำส่งกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) ลงไป 0.23% ส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์สามารถลดอัตราดอกเบื้ยเงินกู้ได้เพิ่มเติมอีก ยิ่งไปกว่านั้น ธนาคารแห่งประเทศไทยก็ได้มีมาตรการทางการเงินด้านอื่นๆ เพื่อช่วยเสริมสภาพคล่องให้ภาคธุรกิจ ทั้งการพักชำระหนี้ของลูกหนี้ SMEs และการปล่อยสินเชื่อให้แก่ภาคธุรกิจหรือ Soft Loan ผ่านทางธนาคารพาณิชย์ ซึ่งมีวงเงินรวมกว่า 5 แสนล้านบาท

 

จะเห็นได้ว่าแนวทางการดำเนินงานในระยะแรกเป็นการดำเนินงานในภาพรวมที่ให้ความช่วยเหลือในวงกว้าง เช่น การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย หรือการให้ลูกหนี้ยืดระยะเวลาการผ่อนชำระ และเข้าถึงสินเชื่อ Soft Loan ซึ่งส่งผลดีต่อลูกหนี้ทุกกลุ่มทุกประเภท 

 

อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาความแตกต่างของสถานการณ์ รูปแบบการดำเนินนโยบายเพื่อให้ความช่วยเหลือในครั้งนี้ ควรมีการปรับปรุงเพื่อแก้ปัญหาอย่างตรงจุดและเหมาะสมกับความต้องการของลูกหนี้แต่ละราย (Targeted Policy) เพิ่มมากขึ้น เพื่อให้การช่วยเหลือเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถช่วยเหลือผู้ที่ประสบปัญหาอย่างตรงจุด โดยเราสามารถใช้ข้อมูลเชิงเศรษฐกิจของแต่ละจังหวัดเพื่อพิจารณาการช่วยเหลือได้ เช่น มุ่งเน้นช่วยเหลือประชาชนและภาคธุรกิจที่อาศัยอยู่ในบริเวณที่มีการล็อกดาวน์ขั้นสูงก่อน รวมถึงพิจารณาช่วยเหลือกลุ่มธุรกิจในด้านการค้าและการท่องเที่ยวที่ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการระบาดครั้งนี้ 

 

ทั้งนี้ การให้ความช่วยเหลือควรมีมาตรการทางการเงินอื่นๆ นอกเหนือจากการเสริมสภาพคล่องผ่าน Soft Loan ตามสภาพความเหมาะสมของแต่ละธุรกิจ เช่น ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากรายได้ที่หดหายไป เช่น ธุรกิจโรงแรม อาจต้องการระดมทุนในช่วง 1-3 ปี กว่าที่ธุรกิจจะสามารถกลับมาดำเนินงานได้ตามปกติ ก็สามารถสนับสนุนให้ธุรกิจ SMEs ร่วมกันออกสินเชื่อหรือหุ้นกู้แปลงสภาพ (Convertible Loan/Bond) ที่ธุรกิจ SMEs สามารถแปลงขายสินทรัพย์ที่มีอยู่ เพื่อนำมาหมุนเป็นเงินทุนในช่วงที่รายได้หดหายให้แก่นักลงทุน ธนาคารพาณิชย์ สถาบันการเงิน หรือรัฐบาล โดยเมื่อเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยวกลับมาเติบโตเป็นปกติ ธุรกิจเหล่านี้ก็สามารถนำเงินที่มีมาซื้อสินทรัพย์คืนได้ ในขณะเดียวกันย่อมมีบางธุรกิจที่ต้องการพักหรือหยุดกิจการไปก่อน เราก็ควรมีนโยบายการจัดการหนี้สินและสินทรัพย์อย่างมีระบบ (Warehousing) ของบริษัทบริหารสินทรัพย์และธนาคารพาณิชย์ เพื่อให้ไม่เกิดผลกระทบต่อเนื่องต่อตลาดสินทรัพย์

 

การเกิดวิกฤตการระบาดของโรคโควิด-19 อีกครั้ง ถือเป็นวิกฤตที่ส่งผลกระทบอย่างหนัก โดยเฉพาะต่อกลุ่มธุรกิจ SMEs ที่โดยทั่วไปมีสภาพคล่องที่ต่ำ และมีแนวโน้มเสี่ยงที่จะต้องปิดกิจการมากกว่ากลุ่มอื่นๆ ดังนั้น การพิจารณามาตรการทางการเงินที่เหมาะสม จะสามารถช่วยพยุงและสนับสนุนธุรกิจให้สามารถดำเนินกิจการได้ต่อไป ซึ่งเป็นหน้าที่หลักที่ธนาคารแห่งประเทศไทยและสถาบันการเงินควรวางแผนช่วยเหลือธุรกิจอย่างเป็นระบบ เพื่อให้การช่วยเหลือเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด และสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยต่อไป

 

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X