กู้เหมือนไม่กู้ กู้กันด้วยต้นทุนแสนถูก นี่คงเป็นนิยามของภาวะดอกเบี้ยต่ำติด 0
นโยบายแสนดีสนับสนุนเศรษฐกิจ แต่กลับทำให้การฝากเงินดูไร้ค่าเสียนี่กระไร ดังนั้นสิ่งที่มนุษย์คนหนึ่งที่มีความเป็นเหตุเป็นผลนั้นควรทำ ก็คือการหาอะไรที่ให้ผลตอบแทนได้มากกว่า
เราจึงเห็นนักลงทุนหลายๆ คน และหลายๆ ท่าน รวมถึงสถาบันใหญ่ๆ ตัดสินใจลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยง เช่น หุ้น จนหุ้นสามารถสร้างผลตอบแทนได้เป็นกอบเป็นกำอย่างเหลือเชื่อแบบไม่มีใครคาดคิดมาก่อนในปีนี้
รวมไปถึงการอัดเงินของธนาคารกลางชุดใหญ่หรือที่เราเรียกกันว่า QE ที่ทาง Fed เองทำมาแทบจะเรียกได้ว่าแทบจะครบทุกจุด อย่างการเข้าอุ้มบริษัทโดยตรงแบบที่ไม่เคยทำมาก่อน รวมถึงการกดอัตราดอกเบี้ยพันธบัตรให้มีความสมเหตุสมผลอย่างที่ควรจะเป็นต่อไป
เมื่อในตอนนี้เราอยู่ในภาวะที่เงินท่วมโลกจากการทำ QE และดอกเบี้ยติด 0 จนทำให้ตลาดหุ้นเดินหน้าต่อไป ผมจึงขอหยิบยกตัวอย่างรอยแยกเล็กๆ ก่อนเกิดวิกฤตปี 2008 ที่ไม่มีใครสังเกตเห็น มาให้ทุกคนดูกันเป็นกรณีศึกษา
การก่อหนี้ไม่ใช่ปัญหา?
เกริ่นกันก่อนสักนิด… หลายๆ คนแล้วพอพูดถึงหนี้ คงคิดว่ามันเป็นเรื่องแย่ๆ ที่ไม่ควรให้มันเกิดขึ้นกับชีวิตเรา
แต่เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าเราอยู่ในโลกระบอบทุนนิยมที่ทั้งระบบถูกผลักดันด้วยหนี้ จนทำให้เกิดวัฏจักรขาขึ้นและฟองสบู่ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ไม่รู้จบ ‘มีขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป’
แต่หากเราหันมามองในภาพใหญ่เชิง Macro แล้ว หนี้จริงๆ อาจจะไม่ใช่ปัญหา แต่หนี้ที่ก่อขึ้นมานั้นควรสร้างผลผลิตก่อให้เกิดรายได้ ไม่ใช่ถูกใช้ไปเก็งกำไรถ่ายทอดไปเรื่อยๆ
เพราะในระบบทุนนิยมนั้น หนี้ของคนหนึ่งเป็นรายได้ของอีกคนเสมอๆ ตราบใดคนที่ก่อหนี้ยังมีรายได้ความสัมพันธ์ที่ว่าก็จะคงอยู่ได้ต่อไปเรื่อยๆ ไม่เกิดปัญหาอะไร
แต่หากวันใดวันหนึ่งที่คนเล่นอะไรแผลงๆ อย่างการเห็นคนอื่นรวย เช่น หุ้นราคาขึ้น บ้านราคาขึ้น ซื้ออย่างไรก็กำไร เลยไปกู้มาซื้อบ้าน หนี้ที่ว่าก็อาจจะก่อให้เกิดรายได้อยู่พักหนึ่ง หากสินทรัพย์นั้นราคายังขึ้นต่อไปและเกิดอาการเฟ้อขึ้นไปเรื่อยๆ
แต่วันใดที่ดอกเบี้ยปรับตัวขึ้นจนเงินที่กู้มาแพงกว่าผลตอบแทนของการเก็งกำไรแล้ว วัฏจักรที่ว่าก็คงต้องจบลงไป จากการเทขายของผู้คน
สิ่งเหล่านี้ล้วนเกิดขึ้นซ้ำๆ เป็นวงจร และก็ดูเหมือนว่าในตอนนี้เราอาจจะต้องเผชิญกับสิ่งที่ว่าเข้าสักวันหนึ่ง และอาจจะมาไวกว่าที่คาดเสียด้วยซ้ำ จากปรากฏการณ์ดอกเบี้ยและการฉีดเงินมหาศาลที่ไม่เคยมีใครได้เห็นมาก่อน
เงินเฟ้อมา เศรษฐกิจดี ไร้กังวลได้จริงหรือ?
นักวิเคราะห์หลายสำนักในตอนนี้เริ่มให้ความเห็นเกี่ยวกับมุมมองของเงินเฟ้อในอนาคตกันบ้างแล้ว หลังทาง Fed ขนเงินมาชุดใหญ่ บ้างก็ว่าไม่น่ามา เพราะ เศรษฐกิจดูแล้วยังซบเซา เช่น จากอัตราการว่างงานที่ยังสูงอยู่ ดังนั้นเงินที่ขนมาน่าจะบาลานซ์กันพอดี
บ้างก็ว่าน่าจะมาไวกว่าที่คิด และเศรษฐกิจดูๆ แล้วจะฟื้นตัวได้แบบสุดโต่งจากการอัดเงิน
และหากเรามาดูตัวอย่างตัวเลขเศรษฐกิจในตอนนี้แล้วก็ถือได้ว่าเริ่มมีการฟื้นตัวที่ดี ไม่ว่าจะเป็นดัชนี PMI การผลิตของสหรัฐฯ ที่มายืนเหนือระดับ 50 ได้อย่างสง่างาม สะท้อนให้เห็นถึงการฟื้นตัว (หาก PMI ต่ำกว่า 50 จะชี้ให้เห็นถึงภาวะถดถอย)
หรือจะเป็นประเทศที่หลายคนเริ่มจับตามองอย่างจีนเองที่มายืนอยู่ระดับเหนือ 50 เช่นเดียวกัน
สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่ทุกๆ คนล้วนจับตามองรวมถึงธนาคารกลางเอง และธนาคารจะมีการปรับดอกเบี้ยตามเงินเฟ้อที่เกิดขึ้น เพื่อสร้างสมดุลให้อัตราการเติบโตของเศรษฐกิจและเงินเฟ้ออยู่ในระดับที่เหมาะสม รวมถึงเป้าหมายเพิ่มเติมของธนาคารกลางในยุคนี้อย่างการทำให้ตลาดหุ้นเดินหน้าต่อไปในระดับที่เหมาะสม
ซึ่งในช่วงก่อนเกิดวิกฤตปี 2008 เอง สิ่งเหล่านี้ถูกควบคุมไว้อย่างยอดเยี่ยมไม่มีที่ติ ไม่ว่าอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจเฉลี่ยที่ 3.00%-4.00% อัตราเงินเฟ้อที่เหมาะสมแม้จะเกินเป้ามานิดหน่อยที่ 2.00%-3.50% และตลาดหุ้นในช่วงปี 2004-2006 หลังขึ้นดอกเบี้ยที่ให้ผลตอบแทนเฉลี่ยปีละ 10% จนผู้คนขนามนามว่ามันคือช่วงเวลา ‘Goldilocks’ หรือยุคทองสุดเพอร์เฟกต์ที่ทุกอย่างดูเติบโตไปอย่างสมดุล
แต่สิ่งหนึ่งที่ผู้คนในยุคนั้นต่างมองข้ามกันไปคือการกู้มาลงทุน ซึ่งอาจก่อปัญหาฟองสบู่ได้ในอนาคต อย่างการปล่อยกู้บ้านง่ายๆ แบบสนไม่สนว่าคนกู้จะจ่ายหนี้คืนไหวไหม ที่เหมือนปัญหาซุกใต้พรมภายใต้ตัวเลขเศรษฐกิจแสนดี โดยในช่วงนั้นไม่มีใครมองไปยังการจ้างงานในส่วนของภาคการผลิต (Manufacturing Employment) ที่หดตัวลงต่อเนื่อง สวนทางการจ้างงานในภาคการก่อสร้าง (Construction Employment) ที่ถูกสนับสนุนโดยฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ภาพรวมการจ้างงานในช่วงนั้นออกมาดูดี
ดังนั้นสิ่งที่เราต้องจับตามองกันในตอนนี้อาจไม่ใช่เรื่องของเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ ที่ดูๆ แล้วเริ่มมีทรงอยู่บ้างในตอนนี้ แต่เราอาจจะต้องควานหารอยแยกเล็กๆ ที่ซ่อนอยู่ภายใต้ความดีงามในยุคถัดไป เพื่อที่เราจะได้รู้เท่าทันและเตรียมตัวกับวิกฤตที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต
พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล