สำนักข่าว Reuters รายงานอ้างแหล่งข่าวระบุว่า ผลการทดลองทางคลินิกในบราซิลของวัคซีน CoronaVac ที่พัฒนาโดย Sinovac Biotech ของจีนนั้น มีประสิทธิภาพในการป้องกันเชื้อโควิด-19 ไม่ถึง 60% ส่วนรายละเอียดเพิ่มเติมนั้นยังต้องรอการประกาศจากทางการต่อไป
ศูนย์ชีวการแพทย์ Butantan ของเซาเปาโล ซึ่งจับมือกับ Sinovac เพื่อผลิตวัคซีนต้านโควิด-19 ในบราซิล มีกำหนดจะเปิดเผยผลการทดสอบประสิทธิภาพของวัคซีนในวันนี้ ในขณะที่ทางศูนย์ฯ กำลังยื่นขอการอนุมัติจากหน่วยงานสาธารณสุขบราซิลให้ใช้วัคซีนเป็นกรณีฉุกเฉินในประเทศ
นอกจากบราซิลแล้ว ไทยก็เป็นอีกหนึ่งประเทศที่เตรียมนำเข้าวัคซีนจาก Sinovac รวม 2 ล้านโดส แม้ข้อมูลด้านประสิทธิภาพยังคงคลุมเครือก็ตาม โดยคาดว่าวัคซีนดังกล่าวจะจัดส่งถึงไทย 200,000 โดสในช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ ต่อด้วยอีก 800,000 โดสในช่วงปลายมีนาคม และ 1 ล้านโดสในช่วงปลายเมษายน
นอกจากนี้อินโดนีเซียและสิงคโปร์ก็ได้ลงนามในข้อตกลงจัดซื้อวัคซีนของ Sinovac แล้วเช่นกัน
สำหรับวัคซีนของ Sinovac นั้น ใช้วิธีการพัฒนาโดยนำเอาอนุภาคไวรัสที่ตายแล้ว (Inactivated Vaccine) มากระตุ้นภูมิคุ้มกันไวรัสในร่างกายมนุษย์ โดยมีข้อดีคือไม่ต้องเสี่ยงต่อการตอบสนองของโรคขั้นรุนแรง ซึ่งหากเปรียบเทียบกับเทคโนโลยีพัฒนาวัคซีนแบบ mRNA หรือการใช้รหัสพันธุกรรมบางส่วนของไวรัส ที่กลุ่มวิจัยหัวแถวของสหรัฐฯ อย่าง Pfizer และ Moderna ใช้นั้น วิธีของ Sinovac ดูจะเป็นวิธีพัฒนาวัคซีนตามแบบแผนที่ประสบความสำเร็จ และเคยใช้มาแล้วในการพัฒนาวัคซีนที่เป็นที่รู้จัก เช่น วัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้า
ก่อนหน้านี้วัคซีน CoronaVac ได้รับการอนุมัติใช้งานฉุกเฉินกับกลุ่มผู้มีความเสี่ยงสูงในจีนตั้งแต่เดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา โดยข้อดีอีกอย่างที่เห็นได้ชัดของวัคซีนตัวนี้คือสามารถเก็บในตู้เย็นปกติที่อุณหภูมิ 2-8 องศาเซลเซียส ซึ่งสะดวกต่อการเก็บรักษาและขนส่ง อย่างไรก็ตาม การขาดข้อมูลด้านประสิทธิภาพที่น่าเชื่อถือและการรับรองจากหน่วยงานกำกับดูแลที่เกี่ยวข้องทำให้คนจำนวนมากเกิดความวิตกกับวัคซีนดังกล่าว
ภาพ: STR / AFP
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์
อ้างอิง: