×

บทบาทของสตรีผู้อยู่เคียงข้างผู้นำ: 109 ปีชาตกาล ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์

โดย THE STANDARD TEAM
11.01.2021
  • LOADING...
บทบาทของสตรีผู้อยู่เคียงข้างผู้นำ: 109 ปีชาตกาล ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์

HIGHLIGHTS

6 mins. read
  • 2 มกราคม 2564 คือวันครบรอบชาตกาลปีที่ 109 ของท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ ภริยา ปรีดี พนมยงค์ อดีตผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ นายกรัฐมนตรี และรัฐบุรุษอาวุโส 
  • ชานันท์ ยอดหงษ์ นักเขียนและนักประวัติศาสตร์ กล่าวว่า ชีวิตคู่ของปรีดีและท่านผู้หญิงพูนศุขสะท้อนเรื่องความเท่าเทียมเป็นหลักผ่านสรรพนามที่ทั้งคู่เรียกแทนกันว่าฉันกับเธอ ซึ่งปราศจากนัยเชิงอำนาจในการเรียก

เมื่อวันที่ 9 มกราคมที่ผ่านมา สถาบันปรีดี พนมยงค์ จัดงานเสวนา ‘บทบาทของสตรีผู้อยู่เคียงข้างผู้นำ’ ในวาระครบรอบ 109 ปีชาตกาล ท่านผู้หญิงพูนศุข พนมยงค์ โดยมี ศิโรตม์ คล้ามไพบูลย์ นักวิชาการเป็นผู้ดำเนินรายการ และร่วมเสวนาโดยธิดาทั้งสองของ ปรีดี พนงยงค์ คือ สุดา พนมยงค์ ประธานที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ มูลนิธิปรีดี พนมยงค์, ดุษฎี พนมยงค์ บุญทัศนกุล รองประธานที่ปรึกษากิตติมศักดิ์ มูลนิธิปรีดี พนมยงค์, ม.ร.ว.สายสวัสดี สวัสดิวัตน ธิดา ม.จ.ศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน และชานันท์ ยอดหงษ์ นักเขียนและนักประวัติศาสตร์

 

สำหรับบรรยากาศของงานเริ่มต้นด้วยการเปิดเพลง Songs My Mother Taught Me โดยคีตกวีชาวเช็ก Antonin Dvorák สุดากล่าวว่า เพลงนี้เป็นเพลงที่ท่านผู้หญิงพูนศุขเคยสอน และเป็นความผูกพันที่มารดาสอนดนตรีมาตั้งแต่ตนและน้องสาวทั้งสองยังเป็นเด็ก โดยเพลงนี้มีความหมายดีเนื่องจากพูดถึงแม่ 

 

“ในฐานะที่เป็นลูกก็ภูมิใจที่คุณแม่อยู่เคียงข้างคุณพ่อในเรื่องการงานมาโดยตลอด และเป็นที่ปรึกษาที่ดี เป็นเพื่อนคู่ทุกข์คู่ยากที่ไม่หวั่นไหว เนื่องจากยึดหลักว่าธรรมย่อมรักษาผู้ประพฤติธรรม” สุดากล่าว

 

 

ดุษฎีเสริมว่า คุณแม่ของตนนั้นอยู่เคียงข้างคุณพ่อตลอดเวลานับตั้งแต่แต่งงานกันมาจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต เมื่อสร้างครอบครัวแล้วก็เป็นเหมือนคนเดียวกัน คุณแม่ของตนช่วยดูแล อบรมเลี้ยงดูลูกๆ ซึ่งเป็นแนวทางที่ทำให้พวกตนเป็นเช่นนี้จนถึงทุกวันนี้ และท่านผู้หญิงยังเป็นคู่คิดให้ปรีดีด้วย 

 

“เพราะคุณแม่ได้ผ่านเหตุการณ์ผันผวนของสังคมไทยแม้กระทั่งถูกจับ ต้องติดคุกสันติบาล 84 วันก็ผ่านมาแล้ว ก็เป็นคู่คิดการทำงานไม่ว่าจะงานเสรีไทยหรืออีกหลายๆ งาน และแม่ยังเป็นเพื่อนผู้ปฏิบัติธรรมร่วมกับคุณพ่อ เนื่องจากพ่อมุ่งมั่นกับการปฏิบัติธรรมมาก และมีเรื่องอื่นที่เราได้อยู่ใกล้ชิดคุณพ่อ ได้รับสิ่งที่ดีๆ มาจากคุณพ่อและคุณแม่” ดุษฎีเล่า

 

เมื่อแม่และพี่ชายถูกจับ ตั้งข้อหาเป็นกบฏเพราะต้องการสันติภาพ

ดุษฎียังเล่าถึงเหตุการณ์เมื่อท่านผู้หญิงพูนศุขโดนจับว่า “วันนั้นเป็นวันที่คุณแม่ไปเป็นเฒ่าแก่ คือไปเป็นผู้ใหญ่สู่ขอคุณเครือพันธ์ ลูกคุณเฉลียว ปทุมรส ให้คุณเสนีย์ เสาวพงศ์ ที่บ้านญาติผู้ใหญ่ของคุณเครือพันธ์เขา ซึ่งวันนั้นตำรวจไปจับคุณเฉลียว และหันมาบอกคุณแม่ว่า ท่านผู้หญิงก็มีหมายจับ และนำคุณแม่ขึ้นรถไปสันติบาล นอกจากนั้น พี่ชายของเราคือ ปาล พนมยงค์ ในเวลานั้นอายุ 18 ปี ก็โดนจับด้วยข้อหากบฏสันติภาพ ซึ่งเป็นข้อหาที่ตลกมาก เพราะต้องการสันติภาพแล้วถูกจับ คนที่ต้องการสงครามกลับลอยนวล” แล้วว่า อาคารสันติบาลนั้นเป็นครึ่งตึกครึ่งไม้สองชั้น เป็นห้องขังชั้นบน ล้อมไปด้วยลูกกรง ท่านผู้หญิงต้องนอนกับพื้นปูเสื่อเท่านั้น 

 

“นึกแล้วสงสารคุณแม่ หน้าต่างของห้องขัง มองไปไกลประมาณสัก 400-500 เมตรก็เห็นเรือนไม้เอาไว้ขังผู้รักสันติภาพทั้งหลาย เช่น กุหลาบ สายประดิษฐ์ รวมทั้งพี่ชายคือพี่ปาลด้วย คุณแม่จึงพยายามมองหาลูกชายแต่ก็มองไม่เห็น เห็นเพียงคนตัวเล็กๆ เท่านั้น” ดุษฎีเสริม และเล่าอีกว่า 

 

ตัวเองตอนนั้นก็ต้องไปอยู่โรงเรียนประจำกับพี่น้องโดยมีน้าคอยดูแล เมื่อวันศุกร์ก็เอามาฝากไว้ที่สันติบาล จึงได้ไปอยู่ด้วยกับท่านผู้หญิงพูนศุขในห้องขัง และยังว่า ท่านผู้หญิงไม่เคยพูดอะไรให้ฟังเพราะตนยังเด็ก อายุเพียง 8-9 ขวบเท่านั้น “คุณแม่กล่าวว่าจับผัวไม่ได้ก็จับเมียจับลูกแทน คุณแม่จึงบอกอยู่เมืองไทยไม่ได้แล้ว ต้องไปต่างประเทศ อยากไปอยู่กับลูกคนโตและอยากไปตามหาคุณพ่อ คุณแม่ยังเล่าว่าวันหนึ่งมีคนเอาจดหมายมาให้ เขียนสั้นๆ และเขียนว่า Felix แปลว่า ปรีดี และคุณแม่จึงรู้ว่าเป็นคุณพ่อและติดต่อกัน เมื่อนั้นคือคุณแม่ได้ออกจากคุกและก็พยายามติดต่อกับคุณพ่อให้ได้

 

สุดาเล่าว่า สำหรับสาเหตุที่รัฐออกหมายจับมารดาของตนนั้น ตนเข้าใจว่าเพื่อเป็นการกดดันครอบครัวของตนมากกว่า โดยเฉพาะปรีดีที่หนีออกไปจากประเทศไทยแล้ว “แต่ก่อนหน้านั้น สืบเนื่องมาจากการรัฐประหารโดยคณะรัฐประหาร ตอนนั้นเขาอ้างเหตุที่ไปยิงที่ทำเนียบท่าช้าง มีรถถัง ปืนกล และเจตนาตอนนั้นคงจะเอาชีวิตจริงๆ เพราะกราดยิงที่กำแพงห้องนอนพอดี เมื่อคุณแม่ลงมาพบผู้ที่บุกรุกเข้าไป ก็ถามว่ามาทำไม เขาก็บอกว่า มาเปลี่ยนรัฐบาล แม่จึงถามว่าทำไมไม่ไปเปลี่ยนที่สภา ซึ่งเป็นเหตุผลที่ฟังไม่ขึ้นเสียเลย”

 

ทั้งยังเล่าว่า ภายหลังจากนั้น เหตุการณ์ที่ท่านผู้หญิงพูนศุขโดนจับขังที่สันติบาลนั้นได้ส่งผลต่อครอบครัวของท่านผู้หญิงเป็นการส่วนตัว 

 

สุดาเล่าว่า “คุณแม่จิตใจจากเข้มแข็งมาก และยิ่งถ้าไม่มีหัวหน้าครอบครัวท่านจึงสวมบทบาทเป็นทั้งพ่อทั้งแม่ ดูแลว่าลูกๆ กินนอนอย่างไร และดูแลให้เราได้รับการศึกษาอย่างต่อเนื่อง”

 

 

สังเกตการณ์พูนศุข ผ่านสายตาลูกสาว-นักวิชาการประวัติศาสตร์

ชานันท์กล่าวเสริมว่า ก่อนหน้าจะแต่งงานกันนั้น เมื่อปรีดีกลับมาจากฝรั่งเศสก็ถือเป็นคนรุ่นใหม่มีความสามารถ และด้วยความที่ก่อนหน้ามีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ส่วนตัวเชื่อว่าท่านผู้หญิงพูนศุขมีหัวสมัยใหม่ด้วย ทั้งยังได้รับการขัดเกลาเรื่องภาษาจากการเรียนที่โรงเรียน และน่าจะได้อ่านหนังสือกับนิตยสารมากระดับหนึ่ง และนิตยสารเหล่านี้มักให้ความรู้เรื่องสิทธิสตรี การต่อสู้เรื่องสิทธิเสรีภาพทางเพศ เลือกคู่ครองให้ตัวเอง และการต่อสู้เรื่องผัวเดียวเมียเดียว เนื่องจากเวลานั้นผัวเดียวหลายเมียเป็นวัฒนธรรมของชนชั้นสูงที่ค่อนข้างกดขี่สตรี 

 

ดุษฎีกล่าวว่า “ความเข้มแข็งของคุณแม่อาจไม่ได้มาจากการเรียนในโรงเรียน แต่ได้มาจากคุณตาที่สอนว่าต้องเป็นตัวของตัวเอง และสอนลูกๆ ว่าต้องไม่เชื่อในสิ่งที่พิสูจน์ไม่ได้ โดยมีอยู่ครั้งหนึ่งคุณตาบอกว่าผีไม่มีในโลกนี้ พิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ไม่ได้ และให้ลูกๆ เดินจากถนนสีลมผ่านตรอกป่าช้าไปออกสาทรในเวลากลางคืน แล้วสองข้างทางของตรอกเป็นป่าช้า มืดสนิท ไฟถนนยังไม่สว่างเท่าไร คุณตาก็เดินนำหน้าโดยมีคุณแม่ที่สมัครใจเดินรั้งท้าย นับเป็นสิ่งละอันพันละน้อยที่ปลูกฝังให้คุณแม่เข้มแข็งและเด็ดเดี่ยว”

 

และขยายความเสริมว่า ซอยละลายทรัพย์มีคนไปผูกคอตาย คุณตาก็ให้ไปตัดกิ่งไม้นั้นมาไว้ในบ้านเพื่อสอนลูกๆ ว่า อย่าเชื่อสิ่งที่พิสูจน์ไม่ได้ ซึ่งท่านผู้หญิงพูนศุขยึดมาตลอดชีวิต

 

สุดากล่าวเสริมว่า มารดาของตนนั้นจบเพียงชั้นมัธยมปลายและออกมาแต่งงาน แต่มีนิสัยใฝ่รู้ใฝ่เรียน ชอบนั่งฟังผู้ใหญ่คุยกันและมีความรู้รอบตัว และส่วนตัวคิดว่าเป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้นายปรีดีเห็นว่าลูกสาวบ้านนี้น่าสนใจ 

 

“แม่พูดเสมอว่าความรู้ในโรงเรียนอาจเรียนมาถึงขั้นหนึ่ง แต่ความรู้การเมืองการปกครองนั้นได้จากคุณพ่อ คือเข้าใจว่าน่าจะคุยกันแล้วคุณพ่อคงแสดงความเห็นและเล่าเรื่องอะไรให้ฟัง ทั้งคุณแม่ยังเป็นคนที่เข้าใจเรื่องเหล่านี้ง่าย รับฟัง กล้าออกความเห็น เป็นชีวิตที่ไม่ใช่ว่าอยู่เป็นช้างเท้าหลัง” สุดากล่าว

 

ดุษฎีเสริมอีกว่า นอกจากนี้คุณแม่ยังได้ช่วยคุณพ่อทำงานโรงพิมพ์ ซึ่งเวลานั้นพิมพ์หนังสือกฎหมาย ท่านผู้หญิงพูนศุขจึงได้มีโอกาสได้ไปตรวจคำผิดหรือได้อ่านหนังสือกฎหมายด้วย ทำให้ท่านผู้หญิงมีความรู้ทางกฎหมายพอสมควร

 

 

ยึดมั่นในความซื่อสัตย์และความยุติธรรมเสมอ

เวลาต่อมา ม.ร.ว.สายสวัสดี สวัสดิวัตน เสริมว่า ท่านผู้หญิงพูนศุขนั้นยึดมั่นในความซื่อสัตย์และความยุติธรรมเสมอ เห็นได้จากการเชื่อมั่นในความบริสุทธิ์และปกป้องจำเลยทั้งสามในคดีประทุษร้ายต่อพระองค์สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลอย่าง ชิต สิงหเสนี, บุศย์ ปัทมศริน และ เฉลียว ปทุมรส อย่างมาก 

 

“นี่ป็นเรื่องที่อยู่ในจิตใจท่านผู้หญิงตลอดเวลา ท่านผู้หญิงคุยเรื่องนี้กับดิฉันบ่อยมากเพราะตัวเองเป็นญาติกับ ชิต สิงหเสนี และตัวท่านเองก็สนิทสนมกับครอบครัวของคุณเฉลียว เราจึงคุยเรื่องนี้ด้วยกันเสมอว่า ถึงอย่างไรก็จะให้ความบริสุทธิ์แก่เรื่องนี้ให้ได้ “โดย ม.ร.ว.สายสวัสดี เสริมว่า ในงานเผาศพของชิต ท่านผู้หญิงพูนศุขได้พิมพ์หนังสือคำตัดสินเสียใหม่เพื่อให้ความเป็นธรรมแก่ผู้ตาย และยังติดต่อ พูดคุยกับลูกสาวของเฉลียวและครอบครัวศักดิ์ชัยอยู่เป็นนิจ

 

ทั้งนี้ ม.ร.ว.สายสวัสดี ยังเล่าถึงความสัมพันธ์ส่วนตัวที่ทำให้สนิทกับท่านผู้หญิงว่า ตนได้พบกับท่านผู้หญิงพูนสุขก่อน 14 ตุลาพบกันในรถไฟจากลอนดอนเพื่อจะไปร่วมประชุมกัน และแนะนำครอบครัวตัวเองแล้วท่านผู้หญิงจึงก้มลงกอดด้วยความดีใจ เพราะท่านผู้หญิงรักและเคารพบิดาของตนซึ่งคือ ม.จ.ศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท สวัสดิวัตน อย่างมาก เนื่องจากบิดาเคยร่วมงานเสรีไทยด้วยกันกับปรีดี ทั้งยังพยายามนำการปกครองระบอบประชาธิปไตยมาใช้ในประเทศไทยด้วยกันด้วย ทั้งนี้ บิดาของตนยังเป็นเจ้าคนเดียวที่ยึดมั่นและประกาศความบริสุทธิ์ของอาจารย์ปรีดีในกรณีสวรรคต ท่านจึงสนับสนุนอาจารย์ปรีดีจนพรากจากกัน 

 

“ดิฉันจำได้ว่า มีการนัดประชุมเพื่อเจอหน้ากันหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาทั้งที่รัฐบาลประกาศห้ามชุมนุม ดิฉันได้เชิญทั้งอาจารย์ปรีดีและท่านผู้หญิงมาร่วมประชุมด้วยกัน และได้ไปเยี่ยมครอบครัวอาจารย์ปรีดีที่ปารีสหลายต่อหลายครั้ง” ม.ร.ว.สายสวัสดีกล่าว 

 

“ครั้งสุดท้ายที่ได้ไปกราบท่านผู้หญิงที่ปารีสคือเมื่ออาจารย์ปรีดีถึงแก่กรรมกระทันหัน ดิฉันเป็นผู้ที่ช่วยขอวีซ่า จัดการให้เจ้าคุณปัญญานันทมุนี (หลวงพ่อปัญญานันทภิกขุ) เดินทางไปปารีสเพื่อไปเป็นประธานในงานของอาจารย์ปรีดี”

 

 

ฉันไม่กลัวคุก พ่อฉันเป็นคนสร้างคุกเอง 

 

ม.ร.ว.สายสวัสดี เสริมว่า ท่านผู้หญิงพูนศุขเคยกล่าวกับตนว่า “ท่านบอกว่าฉันไม่กลัวคุก พ่อฉันเป็นคนสร้างคุกเอง ภายหลังถูกขัง 84 วันจึงได้รับอิสรภาพ และ 84 วันในห้องขังนั้นแม้จะสูญเสียอิสรภาพ ถูกดูหมิ่นเหยียดหยาม แต่ท่านผู้หญิงไม่เคยหลั่งน้ำตาแสดงความอ่อนแอให้ฝ่ายอธรรมเห็น และเมื่อได้รับอิสรภาพก็ต้องจากกับลูกชายคนโตที่ถูกจับจากข้อหากบฏสันติภาพเช่นกัน ภาพที่ท่านลาปาล พนมยงค์เป็นภาพที่ปาลกราบท่านตรงแทบเท้า ท่านสวมกอดลาปาลอย่างสุดรักและสุดอาลัย นึกถึงทีไรน้ำตาซึม แต่ท่านก็จำเป็นต้องจากไปเพื่อพาลูกสาวไปหาอาจารย์ปรีดี”

 

ทั้งนี้ ม.ร.ว.สายสวัสดี ขยายความว่า บิดาของตนนั้นศึกษากรณีสวรรคตมากมาย มีอยู่สี่ประการว่าทำไมจึงสวรรคตด้วยพระแสงปืน หนึ่งคือถูกปลงพระชนม์ สองคือฆ่าตัวเอง สามคืออุบัติเหตุโดยเล่นปืนกับผู้อื่น และสี่ อุบัติเหตุขณะที่อยู่ตามลำพังบนเตียงในห้องนอนของท่านเพียงพระองค์เดียว 

 

บิดาของตนไตร่ตรองและสืบสวนทุกอย่าง และสรุปว่าเป็นอุบัติเหตุขณะอยู่บนแท่นบรรทม เมื่อปรีดีถูกกล่าวหาว่าวางแผน บิดาของตนจึงต้องออกมาปกป้องอาจารย์ปรีดีอย่างสุดความสามารถ และประกาศความบริสุทธิ์ของปรีดีไปจนวันตายของท่าน และท่านยังเป็นเจ้าเพียงคนเดียวที่เห็นว่าอาจารย์ปรีดีบริสุทธิ์ 

 

“ขณะที่เจ้านายคนอื่นๆ เห็นว่าสมน้ำหน้า เพราะอยากมาเปลี่ยนแปลงการปกครอง ทำร้ายเจ้า ก็สมน้ำหน้าแล้วที่ถูกกล่าวหาเช่นนี้ บิดาของดิฉันกลายเป็นหมาหัวเน่าในหมู่เจ้านายด้วยกันว่ารักอาจารย์ปรีดีมากกว่าพระราชวงศ์ แล้วบิดาก็ยังถูกกริ้ว ฉันไม่อยากเล่าเรื่องมากนักเกี่ยวกับกรณีสวรรคต” 

 

โดยในประเด็นนี้ ดุษฎีเสริมว่า มีคนรังเกียจปรีดีเพราะก่อกำเริบเหตุการณ์การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 แต่ม.จ.ศุภสวัสดิ์วงศ์สนิท บิดาของม.ร.ว.สายสวัสดีเห็นว่าความตั้งใจและอุดมการณ์ของตนตรงกับปรีดี คือการสร้างประชาธิปไตยด้วยกัน 

 

ทั้งนี้  ม.ร.ว.สายสวัสดี กล่าวว่า ปัจจุบันตนได้เห็นการเคลื่อนไหวของเยาวชนแล้วมีความหวังมากขึ้น คิดว่าหากท่านผู้หญิงพูนศุขยังอยู่ก็จะสนับสนุนนิสิตนักศึกษาในการเรียกร้องประชาธิปไตยและให้เผด็จการจบสิ้น ให้มีความยุติธรรม สัตย์จริงเกิดขึ้นในสังคม 

 

 

สามัญชนขยับสถานะทางสังคม ชีวิตคู่คู่ปรีดี-พูนศุขสะท้อน เรื่องความเท่าเทียมเป็นหลัก

 

ในประเด็นต่อมา ชานันท์เล่าถึงบทบาทของผู้หญิงกับการเมืองและสังคมไทยในอดีตว่า ภายหลังประเทศไทยมีชนชั้นกลางกระฎุมพี สามัญชนจึงสามารถขยับสถานะทางสังคมได้ และในช่วงเวลานั้นก็มีการเปิดโรงเรียนสำหรับผู้หญิงขึ้นมา โดยโรงเรียนเหล่านี้ผลิตแนวคิดความเป็นแม่บ้านแม่เรือนพร้อมกันนั้นก็ได้ไปสลายความรู้สมัยเก่าด้วย ทำให้เกิดสำนึกเรื่องความเท่าเทียมขึ้นมา ผู้หญิงสมัยใหม่ที่เรียนจบมาจึงมักเป็นนางพยาบาลหรือครูและมีอำนาจในการจับจ่ายด้วยตัวเอง เนื่องจากทำงานนอกบ้านได้ ซื้อหนังสืออ่านด้วยตัวเอง โดยชีวิตคู่ของปรีดีและท่านผู้หญิงพูนศุขสะท้อนเรื่องความเท่าเทียมเป็นหลักผ่านสรรพนามที่ทั้งคู่เรียกแทนกันว่าฉันกับเธอ ซึ่งปราศจากนัยยะเชิงอำนาจในการเรียก

 

“หลังจากเปลี่ยนแปลงการปกครองไม่กี่ปี ก็มีการถ่ายรูปกลุ่มคณะราษฎร และมีการถ่ายรูปคู่ถ่ายรูปหมู่กับคณะราษฎรและครอบครัว ก็มีการปรากฏตัวคู่กัน และอาจเป็นภาระของท่านผู้หญิงพูนศุขด้วยเนื่องจากในตอนนั้นโดนงูฉก แต่อาจารย์ปรีดีก็ยังต้องหยุดรถเพื่อไปหยิบหมวกมาสวม เนื่องจากต้องปฏิบัติตามนโยบายของรัฐ” ชานันท์กล่าว 

 

“ขณะเดียวกัน งานรัฐธรรมนูญ ท่านผู้หญิงก็เป็นกรรมการในการพิจารณาให้รางวัลเคหะสถานดีเด่น เนื่องจากเวลานั้นเริ่มให้ความสำคัญเรื่องสุขอนามัย ความเป็นอยู่ของประชาชนจึงสำคัญในอันจะมีส่วนในการสร้างชาติเป็นมหาอำนาจ รัฐจึงออกนโยบายให้พื้นที่หลับนอนของประชาชนต้องสะอาด” ชานันท์กล่าว ทั้งยังขยายความถึงประเด็นโรงพิมพ์ของปรีดีที่มอบหมายเรื่องการตรวจคำผิดและดูแลบัญชีให้ท่านผู้หญิงพูนศุข ซึ่งท่านผู้หญิงก็ทำได้อย่างดี และท่านผู้หญิงยังเคียงคู่อาจารย์ปรีดีในยามยาก สมัยเมื่ออาจารย์ถูกกล่าวหาว่ามีส่วนในการสวรรคตจนถูกยกเลิกบำนาญ ท่านผู้หญิงจึงต้องทำขนมขาย ปล่อยบ้านให้เช่าเพื่อหารายได้เพิ่มเติม ทำให้เห็นว่าท่านผู้หญิงช่วยเหลือสามีในหลายๆ อย่าง และจะเห็นว่าการช่วยเหลือของท่านผู้หญิงพูนศุขรวมถึงภรรยาของสมาชิกในคณะราษฎรนั้นมักปรากฏในรูปแบบของการให้คำแนะนำ 

 

ส่วนตัวเห็นว่าเสียดายที่ไม่ได้รับการจดจำ และในขณะเดียวกัน ท่านผู้หญิงก็ยังช่วยขบวนการเสรีไทยด้วยแต่กลับถูกจดจำว่าช่วยเหลือสามีมากกว่าขบวนการ ซึ่งเป็นการแบ่งความเป็นชายในพื้นที่สาธารณะและแบ่งเพศหญิงในพื้นที่ส่วนตัวที่ตัดขาดการเมืองออกไป 

 

“อย่างไรก็ตาม คนมักจะมองว่าบทบาทของภรรยาเป็นภัยต่อประชาธิปไตย ทั้งที่จริงๆ ควรตระหนักว่าการที่ผู้ชายออกมาทำงานนอกบ้านและงานการเมืองได้ขนาดนี้เพราะภรรยามีบทบาทในการให้ความช่วยเหลืออย่างมาก แต่ไม่ถูกมอง ไม่ถูกให้ความสำคัญ ทั้งที่จริงแล้วเป็นส่วนหนึ่งของการเคลื่อนไหวทางการเมืองภาครัฐด้วย” ชานันท์ปิดท้าย

 

ทั้งนี้ งานเสวนาปิดท้ายด้วยวิดีโอจาก ลาวัณย์ อุปอินทร์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) ประจำปี 2559 โดยได้ฝากคำอวยพรมายังครอบครัวพนมยงค์ ทั้งยังเล่าถึงเหตุการณ์ที่ตนได้เขียนรูปให้ท่านผู้หญิงพูนศุขด้วย

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X