เทศกาลวันเด็กแบบนี้ หากย้อนกลับไปในช่วงก่อนโควิด-19 จะระบาด เชื่อเหลือเกินว่าภาพที่เรามักจะได้เห็นปรากฏตามหน้าสื่อต่างๆ ย่อมหนีไม่พ้นการที่หน่วยงานต่างๆ จัดงานเฉลิมฉลองเปิดให้เด็กๆ ร่วมทำกิจกรรม แจกของเล่น ของขวัญ ถ่ายรูปกันอย่างสนุกสนานเพลิดเพลิน เพื่อส่งเสริมให้พวกเขามีความสุข แจ่มใส ขณะเดียวกันก็ยังสร้างแรงบันดาลใจต่อยอดไปถึงความชื่นชอบ และอาชีพในฝันที่พวกเขามุ่งหวังว่าอยากจะเติบโตขึ้นมาเป็นหรือทำอีกด้วย
ในเวลาเดียวกัน ก็ยังมีเด็กๆ จำนวนไม่น้อยที่อาศัยหรือใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่ห่างไกล ที่ไม่ใช่แค่ ‘ไม่ได้รับโอกาส’ ในการทำกิจกรรมเนื่องในวันเด็กเท่านั้น แต่พวกเขายังไม่สามารถเข้าถึงการศึกษาที่ดี และมีคุณภาพอย่างที่ควรจะเป็นและทัดเทียมกับเด็กๆ ในรุ่นราวคราวเดียวกันอีกต่างหาก
ด้วยเหตุนี้ กสศ. หรือ ‘กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา’ จึงได้ร่วมกับกองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน และสถาบันอุดมศึกษาในพื้นที่ ได้แก่ มหาวิทยาลัยทักษิณ, มหาวิทยาลัยราชภัฏพิบูลสงคราม, มหาวิทยาลัยราชภัฏกำแพงเพชร, มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี, มหาวิทยาลัยราชภัฏเลย และมหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี สนับสนุนการพัฒนาสมรรถนะครูสู่การพัฒนาศักยภาพของเด็ก ที่เหมาะสมตามช่วงวัยในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนนำร่อง 50 โรงเรียนในพื้นที่ 15 จังหวัด
โดยโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนในพื้นที่ 15 จังหวัดได้แก่ ราชบุรี, กาญจนบุรี, เพชรบุรี, ประจวบคีรีขันธ์, เลย, อุดรธานี, บึงกาฬ, พิษณุโลก, เพชรบูรณ์, อุตรดิตถ์, ตาก, สงขลา, ตรัง, สตูล และพัทลุง
ภายใต้ความร่วมมือที่เกิดขึ้น กสศ. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะช่วยให้คุณครูได้รับการพัฒนารวม 485 คน (บุคลากรครูในกลุ่มโรงเรียน ตชด. นำร่องหลายคนไม่ได้จบหลักสูตรการศึกษาสำหรับการเป็นครูโดยตรง) และมีนักเรียนได้รับประโยชน์ระยะต้น 5,335 คน
ดร.อุดม วงษ์สิงห์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนาคุณภาพครู นักศึกษาครู และสถานศึกษา กสศ. กล่าวว่า “ที่ผ่านมาหน่วยงานภายใต้ความร่วมมือได้เข้าไปสำรวจความต้องการที่จำเป็นของครูใหญ่, ครูผู้สอน, นักเรียน, ผู้ปกครองและชุมชน ในโรงเรียน ตชด. นำร่อง ทั้ง 50 โรงเรียน ว่ามีความต้องการพัฒนาสมรรถนะการเรียนรู้ของผู้เรียนในเรื่องใด
“จากนั้นจึงนำโจทย์การพัฒนาผู้เรียนที่เกิดขึ้นจากความต้องการของทุกฝ่าย ไปสู่การออกแบบกิจกรรมเพื่อพัฒนาสมรรถนะในการจัดการเรียนรู้ของครูในโรงเรียน ตชด. โดยเน้นการพัฒนาสมรรถนะในการจัดการเรียนรู้เชิงบูรณาการจากภาระงานที่ปฏิบัติโดยใช้โรงเรียนเป็นฐาน”
นี่เป็นเพียงตัวอย่างบางส่วนที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือของ กสศ., กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน และสถาบันอุดมศึกษาในพื้นที่เท่านั้น โดยโครงการที่กล่าวมานี้ได้เริ่มดำเนินงานไปแล้วตั้งแต่ช่วงปีการศึกษา 2563 และในอนาคตยังจะขยายผลไปยังนักเรียนรุ่นอื่นๆ ต่อไปอีกด้วย
พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์