แม้ปี 2563 จะม้วนม่านปิดฉากลงไปเป็นที่เรียบร้อย แต่ดูเหมือนว่าสิ่งที่ยังคงกวนใจการใช้ชีวิตของเราข้ามปีมาจนถึงปี 2564 จนเหมือนเป็น ‘หนังภาคต่อ’ ก็คือ ‘โควิด-19’ โดยเฉพาะในช่วงปลายเดือนธันวาคมที่ผ่านมาจนถึงมกราคมนี้ที่การระบาดในประเทศไทยเริ่มทวีคูณความรุนแรงขึ้นต่อเนื่อง
New Normal ของไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตประจำวันจึงกลายเป็น Normal ที่ไม่อาจหลีกหนีหรือหลบเลี่ยงได้อีกต่อไป
ขณะเดียวกัน ฟากผู้ประกอบการก็พยายามจะปรับเปลี่ยนรูปแบบวิธีการให้บริการของตัวเองเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 และสร้างความอุ่นใจสบายใจให้กับลูกค้าผู้ใช้บริการ ด้วยการผสมผสานนวัตกรรมและเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามาประยุกต์ใช้
หนึ่งในตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดของการผนวกรวมเอาเทคโนโลยีมาผสานใช้งานกับการให้บริการเชิงพาณิชย์ เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับลูกค้าผู้ใช้บริการในช่วงโควิด-19 คือ กรณีของ KBTG หรือ บริษัท กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป ที่เพิ่งประกาศความร่วมมือกับฝั่ง เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป ไปเมื่อช่วงปลายเดือนธันวาคมที่ผ่านมา
โดยทาง KBTG ได้นำเอานวัตกรรมไร้การสัมผัส Contactless ที่พวกเขาได้พัฒนาขึ้นในช่วงล็อกดาวน์และเปิดตัวอย่างเป็นทางการเมื่อกลางปีที่แล้ว มาผสานการใช้งานผ่านตู้ Kiosk จำหน่ายตั๋วชมภาพยนต์ของทางเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป เพื่อเป้าหมายของการเพิ่มความสะดวกให้คนรักหนัง ลดความเสี่ยงในการสัมผัสกับไวรัสโควิด-19
เบื้องหลังแนวคิดคือ ทำให้คนที่ชื่นชอบการดูหนังอุ่นใจเวลาเดินทางมาใช้บริการ
สำหรับนวัตกรรมที่ทาง KBTG นำมาใช้กับการซื้อตั๋วหนังของเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป คือ Airbar ซึ่งเป็นเทคโนโลยีลดการสัมผัสในกลุ่ม Contactless เพื่อให้คนที่เดินทางมาชมภาพยนตร์สามารถซื้อตั๋วหนังได้โดยที่ไม่ต้องเอามือไปกดแตะสัมผัสกับหน้าจออีกต่อไป
วิธีการคือ เราสามารถซื้อตั๋วหนังที่ตู้ Kiosk ของโรงภาพยนตร์ในเครือเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ โดยที่ไม่ต้องสัมผัสกับหน้าจอ แต่ใช้วิธีการวาดมือในอากาศแทน เพื่อควบคุมหรือกดปุ่มต่างๆ เริ่มต้นที่สาขาพารากอน ซีนีเพล็กซ์ และเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ รัชโยธิน ก่อนจะขยายพื้นที่การให้บริการไปทั่วประเทศภายในอีก 2 เดือน
เรืองโรจน์ พูนผล ประธานบริษัท กสิกร บิซิเนส-เทคโนโลยี กรุ๊ป บอกกับสื่อมวลชนว่า ความตั้งใจของ KBTG ภายใต้ความร่วมมือที่เกิดขึ้นกับเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป นอกจากจะตอบโจทย์ความเป็นอยู่ของผู้คน และสร้างความมั่นใจในช่วงที่โควิด-19 ระบาดแล้ว ยังเป็นความใส่ใจของทั้งสองฝ่ายที่อยากให้ผู้ใช้บริการเกิดความสบายใจ และยังช่วยแก้ปัญหาการลดการใช้กระดาษเพื่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
เนื่องจากเรืองโรจน์ทราบดีว่า ประสบการณ์การรับชมภาพยนตร์ในโรงหนังไม่สามารถถูกทดแทนได้ด้วยการรับชมคอนเทนต์หนังจากแพลตฟอร์มสตรีมมิง
“ผมเชื่อว่าโรงหนังจะไม่มีวันหายไปแน่นอน ประสบการณ์การดูหนังหรือซีรีส์ระหว่างแพลตฟอร์มดิจิทัลและในโรงภาพยนตร์มันต่างกันมากๆ ไม่ว่าจะอย่างไรมันไม่สามารถทดแทนกันได้
กับความร่วมมือกับทางเมเจอร์ฯ เราได้พัฒนาและพูดคุยร่วมกันมานานหลายเดือนแล้ว แต่ต้องเจอกับความท้าทายจากการระบาดของโควิด-19 ซึ่งต้องยอมรับว่าปี 2563 เป็นปีที่พิสูจน์การร่วมงานกับพาร์ตเนอร์ท่ามกลางความท้าทาย และในปี 2564 นี้ เราก็จะได้เห็นการทำงานร่วมกันกับพาร์ตเนอร์ในระดับความเร็วที่เพิ่มขึ้นกว่านี้ ตลดอจนโปรเจกต์เทคโนโลยีอื่นๆ อีกมากมายที่จะทยอยเปิดตัวออกมา เช่น Facial Recognition (ระบบจดจำใบหน้า)
ต้องขอบคุณทางเมเจอร์ฯ ที่ให้โอกาสเรา การพัฒนานวัตกรรมร่วมกัน (Co-Innovation) ในครั้งนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากพาร์ตเนอร์ทั้งสองฝ่ายไม่เห็นเป้าหมายและมีวิสัยทัศน์ร่วมกัน จริงๆ แล้วตัวเทคโนโลยีอาจจะทำได้ไม่ยาก แต่สำคัญที่สุดคือการมีมุมมองหรือวิสัยทัศน์ที่เห็นตรงกัน”
ลดการใช้กระดาษ แก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม และต่อยอดสู่บริการที่ Personalized โดนใจผู้ใช้บริการมากกว่าเดิม
ด้าน นรุตม์ เจียรสนอง รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการตลาด บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จำกัด เปิดเผยว่า ทางเมเจอร์ฯ และกสิกรไทย ได้เอาลูกค้าของทั้งคู่เป็น ‘ตัวตั้ง’ แล้วหาคำตอบร่วมกันว่าพวกเขาจะส่งมอบความสะดวกสบายไปจนถึงการร่วมแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมร่วมกันได้อย่างไร
“เราอยากช่วยให้คนที่เดินทางมาชมภาพยนตร์ที่โรงหนังของเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ พบกับประสบการณ์ที่สะดวกสบาย สบายใจ และไร้รอยต่อมากที่สุด (Seamless) โดยสามารถซื้อตั๋วภายยนตร์ผ่านแอปฯ หรือผ่านตู้ Kiosk โดยที่ไม่ต้องสัมผัสกับหน้าจอ เพื่อลดการระบาดของโควิด-19 และเมื่อถึงโรงภาพยนตร์แล้วก็สามารถสแกน QR Code เดินเข้าโรงฯ ดูหนังได้ทันที
นอกจากนี้ อีกประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากเทคโนโลยี Contactless และ ReKeep (เทคโนโลยีในกลุ่ม Paperless สแกน QR Code ออกตั๋วหนังดิจิทัลแทนตั๋วกระดาษโดย KBTG) คือการช่วยให้โรงภาพยนตร์สามารถลดปริมาณการใช้กระดาษได้เป็นอย่างดี เพราะอย่างในปี 2562 เราก็พรินต์ตั๋วหนังออกมามากถึงกว่า 40 ล้านใบ การมี ReKeep เข้ามาก็จะช่วยให้เราสามารถร่วมดูแล แก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมได้ด้วย”
และในปลายทางของการพัฒนาเทคโนโลยี Contactless และ ReKeep นี้ ยังช่วยให้ทางเมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ มีฐานข้อมูลลูกค้าคนดูหนังอยู่ในมือของตัวเองอีกด้วย
ทั้งยังจะนำไปสู่การพัฒนาโปรโมชัน ข้อเสนอ และบริการต่างๆ ที่ Personalized ทำการตลาดได้ตรงกับความต้องการของผู้บริโภคมากขึ้นได้อย่างไม่รู้จบ ซึ่งถือเป็นความพิเศษที่แพลตฟอร์มดิจิทัลและนวัตกรรมของ KBTG สามารถมอบให้กับพาร์ตเนอร์ทางธุรกิจได้นั่นเอง (การออกแบบข้อเสนอที่ Personalized กับผู้บริโภคแต่ละคนนั้น เมเจอร์ฯ จะให้ความสำคัญกับนโยบายความเป็นส่วนตัวของผู้บริโภค และการยินยอมให้ข้อมูล)
พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล