×

กนง. หวั่น ‘โควิด-19’ รอบใหม่ระบาดรุนแรงกระทบ GDP หนัก หวังการคลังช่วยพยุงเศรษฐกิจ มั่นใจระดับหนี้สาธารณะไม่น่าห่วง

โดย THE STANDARD TEAM
06.01.2021
  • LOADING...
กนง. หวั่น ‘โควิด-19’ รอบใหม่ระบาดรุนแรงกระทบ GDP หนัก หวังการคลังช่วยพยุงเศรษฐกิจ มั่นใจระดับหนี้สาธารณะไม่น่าห่วง

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)​ เปิดเผยผลการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ที่ประชุมไปเมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2563 ซึ่งการประชุมในครั้งนั้น ที่ประชุมมีมติเอกฉันท์ให้คงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0.5% แต่แสดงความเป็นห่วงถึงสถานการณ์การแพร่ระบาดรอบใหม่ของโควิด-19 ที่อาจกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้า

 

โดยคณะกรรมการได้อภิปรายถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ยังมีความไม่แน่นอนสูงจากหลายปัจจัย รวมถึงมาตรการที่เหมาะสมในระยะต่อไป ดังนี้

 

การระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ยังมีความไม่แน่นอนสูง หากสถานการณ์รุนแรงจะกระทบต่อประมาณการเศรษฐกิจไทยได้มาก ดังนั้นคณะกรรมการเห็นควรให้ติดตามพัฒนาการอย่างใกล้ชิด และประเมินความเพียงพอของมาตรการภาครัฐ

 

ทั้งนี้คณะกรรมการเห็นว่าการลงทุนด้านสาธารณสุขเชิงรุก ทั้งการตรวจ ติดตาม และคัดกรอง รวมถึงการลงทุนด้านวัคซีนป้องกันโควิด-19 ที่เพียงพอ เพื่อลดโอกาสและความรุนแรงของการระบาดซ้ำและสามารถเปิดประเทศได้เร็วขึ้น เป็นการใช้จ่ายทางเศรษฐกิจที่คุ้มค่าและสำคัญที่สุดต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย

 

การฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังคงแตกต่างกันในแต่ละภาคเศรษฐกิจและกลุ่มพื้นที่ จึงควรติดตามเครื่องชี้เศรษฐกิจเชิงลึกเพิ่มเติม เช่น รายได้ของแรงงานอาชีพอิสระนอกภาคเกษตร โดยการฟื้นตัวที่แตกต่างกันส่งผลให้ธุรกิจบางกลุ่มมีข้อจำกัดในการเข้าถึงสินเชื่อจากความเสี่ยงด้านเครดิตที่สูงขึ้น

 

กรณีดังกล่าวคณะกรรมการเห็นว่า ควรผลักดันให้สถาบันการเงินเร่งปรับโครงสร้างหนี้ทั้งของลูกหนี้รายย่อยและธุรกิจให้เกิดผลในวงกว้าง และเร่งรัดการให้สินเชื่อผ่านโครงการต่างๆ เช่น การใช้กลไกการค้ำประกันสินเชื่อของบรรษัทประกันสินเชื่อ (บสย.) เพื่อแก้ปัญหาสภาพคล่องที่ตรงจุดและทันการณ์

 

นอกจากนี้แม้มาตรการช่วยเหลือทางการเงินจะเพิ่มต้นทุนทางการคลังในระยะสั้น แต่จะช่วยพยุงการจ้างงาน เพิ่มสภาพคล่องให้ธุรกิจ SMEs ลดผลกระทบต่อเศรษฐกิจในระยะยาว ซึ่งช่วยลดต้นทุนของระบบเศรษฐกิจในระยะยาวได้

 

ด้าน ‘ค่าเงินบาท’ คณะกรรมการเห็นว่ายังเผชิญความท้าทายในระยะข้างหน้า โดยประเมินว่าระยะสั้นตลาดการเงินโลกยังอยู่ในภาวะ Risk-on และเงินดอลลาร์สหรัฐ​มีแนวโน้มอ่อนค่าลง ส่งผลให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นเร็ว และกระทบการฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่ยังเปราะบาง ภาคธุรกิจจึงควรป้องกันความเสี่ยงจากความผันผวนของค่าเงิน เร่งปรับเพิ่มความสามารถการแข่งขันเชิงมูลค่า ซึ่งจะลดการพึ่งพาการแข่งขันด้านราคา

 

คณะกรรมการเห็นควรให้เร่งผลักดันการสร้างระบบนิเวศใหม่ของอัตราแลกเปลี่ยน เพื่อแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างของอัตราแลกเปลี่ยนให้เงินทุนเคลื่อนย้ายสมดุลมากขึ้น

 

นอกจากนี้คณะกรรมการมีความเห็นว่ามาตรการการคลังมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการช่วยพยุงเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่องในช่วงที่การฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังมีความไม่แน่นอนสูง 

 

ทั้งนี้การที่ระดับหนี้สาธารณะปรับตัวสูงขึ้นในระยะปานกลางไม่ได้สร้างความเสี่ยงอย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจาก

 

  1. หนี้สาธารณะของไทยในช่วงก่อนการระบาดอยู่ระดับต่ำ
  2. อายุหนี้เฉลี่ยยาวประมาณ 10 ปี
  3. หนี้เกือบทั้งหมดเป็นหนี้สกุลเงินบาท 
  4. แนวโน้มอัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย ณ ราคาประจำปี (Nominal GDP Growth)​ สูงกว่าแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยกู้ยืมของรัฐบาล

 

นอกจากนี้ไทยยังมีระดับความน่าเชื่อถือที่ BBB+ และมีมุมมองความน่าเชื่อถือในระดับมีเสถียรภาพ คณะกรรมการเห็นว่า หากการก่อหนี้ของภาครัฐเป็นไปเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานสำคัญ จะช่วยสนับสนุนให้เศรษฐกิจเติบโตและเอื้อให้แนวโน้มหนี้สาธารณะต่อ GDP ของไทยมีความยั่งยืนได้ 

 

ทั้งนี้เมื่อเศรษฐกิจฟื้นตัวกลับมาปกติ รัฐบาลควรเพิ่มประสิทธิภาพทางการคลังผ่านการปฏิรูปการจัดเก็บรายได้และรายจ่ายเพื่อสนับสนุนความยั่งยืนทางการคลังในระยะยาวต่อไป

 

รายงานดังกล่าวยังระบุด้วยว่า ภายใต้กรอบการดำเนินนโยบายการเงินที่มีเป้าหมายเพื่อรักษาเสถียรภาพราคา ควบคู่กับดูแลเศรษฐกิจให้เติบโตยั่งยืนและเต็มศักยภาพ และรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน คณะกรรมการยังคงให้น้ำหนักกับการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นสำคัญ

 

รวมทั้งติดตามความเพียงพอของมาตรการรัฐ ความเปราะบางในตลาดแรงงาน และปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ทั้งสถานการณ์การแพร่ระบาดระลอกใหม่ในประเทศ ความคืบหน้าของการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ และฐานะการเงินของภาคธุรกิจและครัวเรือนในการดำเนินนโยบายการเงินในระยะข้างหน้า โดยพร้อมใช้เครื่องมือนโยบายการเงินที่เหมาะสมเพิ่มเติมหากจำเป็น

 

พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X